ประมงไทยตื่นจากฝันร้าย รัฐไทยเร่งยาแรง

เมื่อวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2559 เวลา 13.00 – 17.00 น  TCIJ School มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich-Ebert-Stiftung FES Thailand และ Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมจับมือเปิดเวทีเสวนา “ทะเลไทย…ใบเหลือง EU-TIER กับการค้ามนุษย์” ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อประกาศสถานการณ์ที่พลิกผันของวงการประมงไทย หลังจากการพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการปัญหาเรื้อรังอย่างเข้มงวดตามกรอบมาตรฐาน EU-TIER มาตลอดสองปีที่ผ่านมา และประกาศจุดยืนแห่งเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งในปัจจุบันเพื่อสานต่อการขับเคลื่อนแผนการบริหารงานประมงที่ยั่งยืนต่อไป

ในงานเสวนานี้ได้รับเชิญการให้ข้อมูลภาพรวมของสถานการณ์ประมงไทยที่ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างสัญชาติจาก รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกล่าวถึงสาเหตุของปัญหาของแรงงานข้ามชาติที่มาจากสองส่วนหลักคือความเหลื่อมล้ำทางรายได้และปัญหาการเมืองภายในของประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผลักดันให้แรงงานทะลักเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมากในอดีต แต่เมื่อแรงงานกลุ่มนี้ได้รับความรุนแรงจากการทำงานจึงพยายามหาทางออกโดยการลักลอบเข้าสู่ตลาดแรงงานบนบกอย่างผิดกฏหมาย ซึ่งแม้ว่าตามบทกฎหมายแล้วแรงงานข้ามชาติจะมีสิทธิทางการศึกษาและสาธารณสุขเช่นเดียวกับแรงงานไทย (พรบ.2541) แต่กระนั้นในอดีตก็ไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง โดยในปัจจุบันกว่า 24 ปีที่พยายามร่วมกันปรับโครงสร้างการบริการงาน มีความชัดเจนเข้มงวดมากขึ้นในกระบวนการควบคุม กำหนด และตรวจสอบ และยังคงต้องมีการดำเนินการพัฒนาระบบต่อไปเพื่อไปสู่เป้าหมายการเติบโตบนความยั่งยืนในด้านการทำประมงอย่างแท้จริง โดยไม่รบกวนทรัพยากรธรรมชาติเกินไปและไม่ทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ราคาของสินค้าทางทะเลจะเป็นตัวสะท้อนมาตรฐานชีวิตของแรงงานและการรักษาสมดุลของทรัพยากรทางทะเลในตัวเอง

ทางด้านพลเรือตรี วรรณพล กล่อมแก้ว จากศูนย์บัญชาการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย (ศปมผ.) แจ้งวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างหนักแน่นว่าต้องการปรับโครงสร้างการบริหารงานประมงไทยให้มีมาตรฐานและมีธรรมาภิบาลเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยในงานนี้นอกจากการกล่าวถึงโครงสร้างการปฏิบัติการที่มาจากคณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมายซึ่งจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี 52/2558 (ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558) โดยมีวัตถุประสงค์ในการทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติในระดับรัฐบาล และกองทัพเรือและศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) นอกจากนั้น ศปมผ. ยังทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักของ ศปมผ. ในการปฏิบัติการทางทะเลและชายฝั่ง และปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ในส่วนสำคัญที่สุดที่จะเป็นจุดเปลี่ยน คือ คำสั่งกำหนดให้มีศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (Port In – Port Out Controlling Center) และศูนย์ให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่เรือประมงแบบเบ็ดเสร็จ (Fishing One Stop Service) ประจำในแต่ละจังหวัดชายทะเลตามที่ ศปมผ. ประกาศกำหนด

15241815_10154862083773120_7270574191333466855_n

นอกจากนั้น คุณสมพงษ์ สระแก้ว แห่ง LPN ผู้ทำงานเคียงข้างแรงงานต่าวด้าว ยังได้ช่วยอธิบายให้เห็นภาพสถานการณ์จากอดีตสู่ปัจจุบันจากประสบการณ์ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาสังคมที่เป็นที่พึ่งในกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ในอดีตที่ผ่านมา นอกจากนั้นคุณณวัสพล หาชิต ผู้สังเกตการณ์บนเรือประมงจากกรมประมง สังกัดกรมประมง ยังได้ร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์ในปัจจุบันจากกที่ลงเรือออกทะเลเป็นที่พึ่งให้แรงงานประมง 30 กว่าวันในทะเล การทำงานในฐานะบุคลากรอิสระร่วมกับกลุ่มแรงงานกว่าร้อยคนซึ่งมีความหลากหลายทางสัญชาติ อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบความเป็นธรรมทั้งต่อแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติและรายงานทุก 5 วันตามนโยบายที่เข้มแข็งของทางหน่วยงาน

จากสถานการณ์ประมงไทยในอดีตที่ผ่านมา ภาพติดตาของผู้คนมักมองว่าเป็นอาชีพที่โหดร้ายจากการเผยแพร่ข้อเท็จจริงจากสื่อมวลชล ในเวทีเสวนาครั้งนี้ จึงได้รับฟังประสบการณ์ตรงจากแรงงานไทย 2 คน แรงงานพม่า 2 คน ผู้เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มเหยื่อการค้ามนุษย์ที่เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ โดยหนึ่งในนั้นคือคุณสามารถ ได้เล่าให้ฟังว่า “ตอนนั้นไปกินเหล้ากับเพื่อนๆที่เกาะสีชัง แล้วถูกมอมยากันทั้งกลุ่ม ตื่นมาอีกทีอยู่บนเกาะอัมบน อินโดนีเซีย ทำงานเยี่ยงทาส ถูกทุบตี ถูกกรอกกาแฟ จะได้ไม่ง่วง 7 ปีกว่าบนเรือประมง” …ส่วนในกรณีของแรงงานพม่าถูกกักขังตัว เอาขึ้นเรือไป 10 กว่าปี ผลสะท้อนที่ได้รับฟังคือ บางคนเกิดความหวาดกลัว เสียสติ เสียความทรงจำ อีกทั้งยังมีเพื่อนบางส่วนที่ตายไป 3 คน สูญหายอีก 2 คน

จากงานเสวนาในครั้งนี้ จุดประสงค์หลักในการปฏิรูปโครงสร้างการบริการจัดการประมงของไทยอาจไม่ได้เป็นไปเพีนงเพื่อการแก้ปัญหาใบเหลือง IUU fishing เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับโลกแต่เพียงเท่านั้น แต่อาจเป็นจุดเปลี่ยนที่เป็นการรื้อรากฐานใหม่ที่สำคัญในการพัฒนาไปสู่จุดที่สร้างความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ทั้งในเรื่องความเป็นธรรมต่อแรงงานต่างชาติ และการใช้ทรัพยากรเพื่อคงความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลตามเป้าประสงค์แห่งการพัฒนา SDG ในข้อที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน และ14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง สหภาพยุโรปแจกใบเหลืองเตือนไทยแก้ปม IUU Fishing

 

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น