แปล ​Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development (2)

แปล Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development (1)

คำประกาศ

บทนำ

1. พวกเรา ประมุขแห่งรัฐและตัวแทนระดับสูงและตัวแทนรัฐบาล ประชุมกันที่สำนักงานใหญ่แห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์คระหว่าง 25-27 กันยายน 2015 ในวาระที่องค์กรนี้เฉลิมฉลองการครบรอบ 70 ปีขององค์กร ได้ตัดสินใจร่วมกันในวันนี้ว่าด้วยเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลกชุดใหม่

2. ในนามของประชาชนที่พวกเรารับใช้ พวกเราได้ยอมรับการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเป้าหมายและเป้าประสงค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสากล มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง เราให้คำมั่นต่อตนเองว่าจะทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อการนำวาระการพัฒนาดังกล่าวไปปฏิบัติจริงอย่างเต็มที่ให้บรรลุภายในปี 2030 พวกเราตระหนักว่าการกำจัดความยากจนทุกรูปแบบและทุกมิติ รวมถึงความยากจนแร้นแค้น (extreme poverty) เป็นความท้าทายระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและเป็นข้อที่ขาดไม่ได้สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน พวกเราให้คำมั่นว่าจะบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในทั้ง 3 มิติ – เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม – อย่างบูรณาการและสมดุล พวกเราจะสานต่อจากความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) และมุ่งที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นที่ยังไม่สำเร็จ

3. เราตกลงใจอย่างแน่วแน่ว่า ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2030 เราจะกำจัดความยากจนและความหิวโหยทุกแห่ง; ต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำภายในประเทศต่าง ๆ; สร้างสังคมที่สันติ ยุติธรรมและครอบคลุม; ปกป้องสิทธิมนุษยชนและสนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพและการเสริมพลังให้ผู้หญิงและเด็กหญิง; และทำให้มั่นใจว่าผืนพิภพและทรัพยากรธรรมชาติจะได้รับการปกป้องตราบนานเท่านาน พวกเรายังตั้งใจที่จะสร้างเงื่อนไขสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมและยั่งยืน แบ่งปันความมั่งคั่งและงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน โดยคำนึงถึงระดับที่แตกต่างกันของภาวะการพัฒนาและศักยภาพของแต่ละประเทศอีกด้วย

4. ดังที่เราได้ลงเรือลำเดียวกันในการเดินทางร่วมกันครั้งใหญ่นี้ เราปฏิญาณว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง จากการที่เราตระหนักว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญ เราหวังที่จะเห็นเป้าหมายและเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนบรรลุในทุกชาติ ในคนทุกกลุ่ม และทุกภาคส่วนของสังคม และเราจะพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะให้ประโยชน์นี้ส่งไปให้ถึงคนที่รั้งท้ายสุดก่อน

5. นี่คือวาระการพัฒนาที่มีขอบเขตและนัยยะสำคัญอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มันได้รับการยอมรับจากทุกประเทศและสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้ในทุกประเทศโดยคำนึงถึงความแตกต่างของสภาวะความเป็นจริง ศักยภาพ และระดับการพัฒนาในระดับประเทศ และเคารพนโยบายและการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละประเทศ นี่เป็นเป้าหมายและเป้าประสงค์ที่ครอบคลุมทุกเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับโลกทั้งโลก ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา เป้าหมายและเป้าประสงค์เหล่านี้ได้บูรณาการมิติทั้งสามของการพัฒนาที่ยั่งยืนเอาไว้แล้วอย่างสมดุลและแยกส่วนมิได้

6. เป้าหมายและเป้าประสงค์เหล่านี้เป็นผลจากกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ (Public consultation) อย่างเข้มข้นโดยภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคต่าง ๆ ทั่วโลกมีส่วนร่วม มาเป็นเวลายาวนานกว่าสองปี โดยให้ความสำคัญกับเสียงของกลุ่มคนที่จนที่สุดและเปราะบางที่สุด กระบวนการปรึกษาหารือนี้ครอบคลุมงานที่มีคุณค่าที่ดำเนินการโดยคณะทำงานแบบเปิดของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (the General Assembly Open Working Group on Sustainable Development Goals) และองค์การสหประชาชาติ องค์กรซึ่งท่านเลขาธิการได้ช่วยจัดทำรายงานการสังเคราะห์ให้ในเดือนธันวาคม 2014

วิสัยทัศน์ของเรา

7. ในเป้าหมายและเป้าประสงค์เหล่านี้ พวกเราได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่ทะเยอทะยานอย่างยิ่งยวดและมุ่งการเปลี่ยนแปลง พวกเราจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีความยากจน ความหิวโหย โรคภัยไข้เจ็บและความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง โลกที่ชีวิตทุกชีวิตเจริญงอกงามได้ เราจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีความกลัวและวามรุนแรง โลกที่ทุกคนอ่านออกเขียนได้ โลกที่คนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเข้าถึงระบบสาธารณสุขและมาตรการคุ้มครองทางสังคมในทุกระดับ อย่างเท่าเทียม ที่จะทำให้มั่นใจว่าสุขภาวะทางกาย ใจ และสังคม จะเกิดขึ้นได้ โลกที่เรายืนยันคำมั่นของพวกเราอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงน้ำดื่มและระบบสุขาภิบาลที่ปลอดภัย และมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น โลกที่มีอาหารเพียงพอ ปลอดภัย จ่ายได้ และมีโภชนาการ โลกที่ที่อยู่อาศัยของทุกคนปลอดภัย ตั้งรับปรับตัวกับภัยพิบัติได้ และยั่งยืน และโลกที่ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่จ่ายได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน

8. เราจินตนาการถึงโลกที่ทุกคนได้รับการคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นิติธรรม ความยุติธรรม ความเท่าเทียมกันและไม่มีการเลือกปฏิบัติ; เคารพเผ่าพันธุ์ ชาติพันธุ์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม; ทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงการบรรลุศักยภาพของมนุษย์และมีส่วนร่วมในการแบ่งปันความมั่งคั่งรุ่งเรือง; โลกที่ลงทุนในเด็ก ๆ และเด็กทุกคนโตขึ้นโดยปราศจากความรุนแรงและการถูกขูดรีด; โลกที่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนมีความสุขกับคุณภาพในเชิงเพศสภาพและสิ่งกีดขวางการเสริมพลังพวกเธอทั้งหมดทั้งด้านกฎหมาย สังคม และเศรษฐกิจถูกกำจัดไปทั้งหมด; โลกที่ยุติธรรม เท่าเทียม อดทน เปิดกว้างและครอบคลุม ที่ที่ความต้องการของกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดได้รับการตอบสนอง

9. เราจินตนาการถึงโลกที่ทุกประเทศได้ประโยชน์จากการเจริญเติบโตที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน และงานที่เหมาะสมกับทุกคน โลกที่รูปแบบการบริโภคและการผลิตและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดมีความยั่งยืน – ตั้งแต่อากาศจนถึงพื้นดิน จากแม่น้ำ ทะเลสาบ และน้ำใต้ดิน ไปจนถึงมหาสมุทรและทะเล;โลกที่ประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และนิติธรรม เช่นเดียวกับสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมสิ่งดังกล่าวทั้งในระดับชาติและนานาชาติมีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการเจริญเติบโตที่ต่อเนื่องและครอบคลุม การพัฒนาสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อมและการทำให้ความยากจนและหิวโหยหมดสิ้นไป; โลกที่การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เคารพความหลากหลายทางชีวภาพ และมีความสามารถในการตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ดี (resilient) โลกที่มนุษยชาติอาศัยอยู่อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติ และสรรพสัตว์และสิ่งมีชีวิตทั้งปวงได้รับการปกป้องคุ้มครอง

หลักการและคำมั่นที่เรามีร่วมกัน

10. วาระการพัฒนาชุดใหม่นี้ถูกชี้นำโดยหลักการและวัตถุประสงค์ของกฎบัตรสหประชาชาติ (the Charter of the United Nations) ซึ่งรวมถึงการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ วาระการพัฒนานี้อยู่บนพื้นฐานของปฏิญญาสกลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (the Universal Declaration of Human Rights) สนธิสัญญาด้านมนุษยชนต่าง ๆ คำประกาศสหัสวรรษ (the Millennium Declaration) และเอกสารรายงานผลกระประชุม World Summit ปี 2005 (the 2005 World Summit Outcome Document) วาระการพัฒนานี้ยังอยู่บนพื้นฐานของเครื่องมือ (instruments) อื่น ๆ เช่น ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนา (the Declaration on the Right to Development)

11. พวกเรายืนยันอีกครั้งถึงผลการประชุมและการประชุมสุดยอดต่าง ๆ ที่สำคัญของสหประชาชาติที่ช่วยวางแนวทางที่เป็นรูปธรรมสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและช่วยก่อรูปวาระการพัฒนาใหม่นี้ ผลการประชุมต่าง ๆ เหล่านี้หมายรวมถึง ปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (the Rio Declaration on Environment and Development); การประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (the World Summit on Sustainable Development); การประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาสังคม (the World Summit for Social Development); โครงการปฏิบัติการของการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยประชากรและการพัฒนา (the Programme of Action of the International Conference on Population and Development); แผนงานปักกิ่ง (the Beijing Platform for Action); และการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Rio+20 (the United Nations Conference on Sustainable Development (“Rio+20”) นอกจากนี้เรายังยืนยันอีกครั้งที่จะติดตามและดำเนินการต่อจากการประชุมต่อไปนี้ รวมถึง ผลการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยประเทศพัฒนาน้อยที่สุดครั้งที่ 4 (the Fourth United Nations Conference on the Least Developed Countries), การประชุมนานาชาติว่าด้วยรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะครั้งที่ 3 (the Third International Conference on Small Island Developing States), การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลครั้งที่ 2 (the Second United Nations Conference on Landlocked Developing Countries), และการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติครั้งที่ 3 (the Third UN World Conference on Disaster Risk Reduction)

12. พวกเรายืนยันอีกครั้งเกี่ยวกับหลักการของปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (the Rio Declaration on Environment and Development) รวมไปถึง หลักการของความรับผิดชอบร่วมกันแต่แตกต่าง ดังที่ระบุไว้ในหลักการที่ 7 (principle 7) ของปฏิญญาดังกล่าว

13. ความท้าทายและคำมั่นสัญญาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการประชุมและการประชุมสุดยอดเหล่านี้มีความเกี่ยวพันกันและต้องการการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เราต้องการแนวทางใหม่ ๆในการจัดการความท้าทายเหล่านี้อย่างมีประสิทธิผล การพัฒนาที่ยั่งยืนตระหนักว่า การกำจัดความยากจนในทุกรูปแบบและทุกมิติ ต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ การอนุรักษผืนพิภพ สร้างการเจริญติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน และการบ่มเพาะความครอบคลุมทางสังคม มีความเชื่อมโยงกันและต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน

(โปรดติดตามตอนต่อไป…)

แปล Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development (3)

*การแปลเอกสาร Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development ฉบับนี้ แปลโดยทีมงาน SDG Move หาใช่การแปลอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการต่างประเทศไม่

** การแปลแบ่งเป็นตอน ๆ ตามหัวข้อในเอกสารตามลิงค์นี้ https://sustainabledevelopment.un.org/post2015/transformingourworld

Last Updated on พฤษภาคม 21, 2017

Author

3 thoughts on “แปล ​Transforming our world: the 2030 Agenda for Sustainable Development (2)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น