การดำเนินงานด้าน SDGs ในประเทศไทย

1. ภาครัฐ

ประเทศไทยเป็นหนึงในประเทศสมาชิกที่ให้การรับรองวาระการพัฒนา2030โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้เดินทางไปลงนามด้วยตนเอง เมื่อเดินทางกลับมาถึงประเทศไทย ท่านนายกฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน(กพย.) ชุดใหม่ขึ้น แทนชุดเดิมที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (พ.ศ. ๒๕๕๖)เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๙

คณะกรรมการชุดใหม่นี้ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน และวิชาการ โดยภาครัฐประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงต่าง ๆ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อัยการสูงสุดภาควิชาการประกอบด้วย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยภาคเอกชนประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 4 คน และมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรองเลขา สศช. ที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ภายใต้ กพย. ยังมีคณะอนุกรรมการอีก 4 คณะ ประกอบด้วย

  • คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • คณะอนุกรรมการส่งเสริมความเข้าใจและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  • คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • (เพิ่มเติมภายหลัง ต้น พ.ศ. 2561) คณะอนุกรรมการว่าด้วยการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA)

โดยในแต่ละคณะจะมี สศช. และสำนักงานสถิติแห่งชาติ(สสช.) ช่วยเป็นเลขานุการในแต่ละคณะ

นอกจากนี้กพย. ได้มอบหมายให้แต่ละเป้าหมายมีหน่วยงานหลักและหน่วยงานรองในการดูแลดำเนินการ และจัดทำ Roadmap เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย สศช. ยังร่วมมือกับทีม SDG Move ของ สกว.ในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย

การขับเคลื่อนSDGsโดยตรงของภาครัฐยังค่อนข้างติดขัดด้วยเหตุผลในเรื่องของวิธีการและเงื่อนไขการทำงานที่ขาดการบูรณาการ และนโยบายการพัฒนาจำนวนมากของรัฐบาล เช่น ไทยแลนด์ 4.0 ไทยนิยมยั่งยืน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่12 เป็นต้น ทำให้ยังขาดการขับเคลื่อน SDGs ที่เป็นรูปธรรมในภาครัฐ อย่างไรก็ดี เนื่องจากนโยบายการพัฒนาข้างต้นในหลายส่วนก็มีความสอดคล้องกับSDGs ทำให้แม้ว่าภาครัฐยังไม่ได้ขับเคลื่อน SDGs อย่างชัดเจน แต่สถานการณ์ในบางประเด็น SDGs ก็อาจมีการพัฒนาขึ้นได้

ในเชิงของการขับเคลื่อนในภาพรวมของภาครัฐในทางปฏิบัตินั้น มีหน่วยงานหลักที่สำคัญอย่างน้อย 3 หน่วยงาน หนึ่งคือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช. – สภาพัฒน์) สองคือ สำนักงานสถิติแห่งชาติ(สสช.) และสามคือ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีกรมองค์การระหว่างประเทศเป็นเจ้าภาพหลัก.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) นั้นทำหน้าที่เป็นเลขานุการของ กพย. และคณะอนุกรรมการทุกคณะ รับผิดชอบในส่วนของการขับเคลื่อน ประสานงาน และติดตามการทำงานของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการขับเคลื่อนงานด้านการนำSDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่อีกด้วย โดยในปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำฐานข้อมูลระดับตำบลโดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(GISTDA) ในการทำข้อมูลดังกล่าว

สำนักงานสถิติแห่งชาติทำหน้าที่สำคัญในการเป็นเจ้าภาพในการประสานงานและจัดทำการเก็บข้อมูลตัวชี้วัดในประเทศไทย รวมถึงร่วมมือกับองค์กรทั้งภายในและภายนอกประเทศในทำให้การเก็บข้อมูลตัวชี้วัด SDGs เป็นไปได้อย่างครบถ้วน แม่นยำ และทันการณ์ที่สุด เช่น ร่วมมือกับ UN Habitat ในการดูแลตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับ SDG 11 และ New Urban Agenda และร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(MTEC) ในการคำนวณตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับรอยเท้าวัสดุ (Material Footprint)

กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานงานการจัดทำรายงานการทบทวนระดับชาติโดยสมัครใจ(Voluntary National Review: VNR) และ รับผิดชอบงานด้านหุ้นส่วนการพัฒนาทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศ ในด้านระหว่างประเทศนั้นทางกระทรวงได้จัดโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา(South-South Cooperation) โดยประเทศไทยแบ่งปันแนวปฏิบัติเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชการที่9 ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ภายใต้แนวคิด SEP for SDGs นอกจากนี้ทางกรมยังเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ ของ UN เช่น UNDP ในการผลักดัน Innovation Hub เป็นต้น ภายในประเทศ กรมองค์การระหว่างประเทศได้ริเริ่มพื้นที่ในการปรึกษาหารือระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคมในรูปของคณะทำงานปลายเปิด(Open-ended Working Group: OEWG) เป็นผู้สนับสนุนและเป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ให้ทำงานร่วมกันเพื่อ SDGs และจัดกิจกรรมเพื่อดึงการมีส่วนร่วมจากเยาวชนอย่างต่อเนื่อง

 

2. ภาคเอกชน

ภาคเอกชนในประเทศไทยมีความตื่นตัวมากยิ่งขึ้นเช่นกัน โดยผู้เล่นที่สำคัญในภาคเอกชนที่มีต่อการขับเคลื่อน SDGs คือ UN Global Compact Network Thailand ซึ่งเป็นเครือข่ายของบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนเป็นหุ้นส่วนการพัฒนากับองค์การสหประชาชาติ ในประเทศไทย ปัจจุบันมีบริษัทในเมืองไทยเป็นสมาชิกของ UN Global Compact ระดับโลกทั้งหมด 41 บริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นสมาชิกของGlobal Compact Network Thailand (GCNT) เช่นกัน GCNTให้ความสำคัญกับประเด็น Business and Human Rights ซึ่งก็มีความเชื่อมโยงกับ SDGs อยู่อย่างแนบแน่น

ในระดับบริษัทนั้น บริษัทที่แสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการขับเคลื่อน SDGs มีอยู่หลายบริษัท ได้แก่ เครือเจริญโภคภัณฑ์(CP) ที่พยายามปรับเปลี่ยนให้ห่วงโซ่อุปทานของการผลิตอาหารมีความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นพร้อมกับการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมในด้านต่าง ๆ จำนวนมาก บริษัทด้านพลังงานเช่น ปตท. และบางจาก ก็ให้ความสำคัญกับSDGs โดยเน้นไปที่กิจกรรมสาธารณะประโยชน์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในความดูแลของบริษัทให้ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนมากขึ้น(เช่น นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก จากบริษัทPTT Global Chemicals เป็นต้น) บริษัทค้าปลีกอย่างเทสโก้ ก็มีความโดดเด่นในการมุ่งแก้ไขปัญหาของเสียและขยะอาหารรวมถึงเป็นผู้นำที่สำคัญในการเก็บข้อมูลด้านขยะอาหาร และเครือสยามซีเมนต์​(SCG) ที่นำเสนอกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่อยู่บนฐานของแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular Economy)บริษัทต่าง ๆ ข้างต้นยังมีโครงการร่วมกันในชื่อของทีมดี (Team D) ซึ่งเป็นอีกความร่วมมือที่สำคัญเพื่อการขับเคลื่อน SDGsในระดับท้องถิ่นอีกด้วย ทีมดี ริเริ่มโดย รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมกับบริษัทเอกชนอีก 13 บริษัท อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เทสโก้ SCGปตท. และบริษัทประชารัฐรักสามัคคี เป็นต้น

นอกจากนี้ในประเทศไทยยังมีอีกหลายองค์กรที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิมั่นพัฒนา สถาบันไทยพัฒน์ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA)สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า (Thai Publica) โดยองค์กรเหล่านี้มักมีบทบาทในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนพูดคุย ให้ความรู้และสร้างศักยภาพให้กับภาคเอกชน และเป็นสื่อกลางในการนำเสนอผลงานของภาคเอกชนด้านความยั่งยืนสู่สาธารณะ

 

3. ภาคประชาสังคม

ภาคประชาสังคมในประเทศไทยก็มีความตื่นตัวเรื่อง SDGs ไม่แพ้กัน และใช้ประโยชน์จาก SDGs ทั้งในแง่ของการใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติการ (Action Framework) และใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามการทำงานของภาครัฐและเอกชน และใช้ในการต่อรองเชิงนโยบาย นอกจากนี้เครือข่ายภาคประชาสังคมยังมีบทบาทสำคัญในการสะท้อนสภาพปัญหาและความท้าทายของประเทศไทยในเวทีการประชุมต่าง ๆ เพิ่มเติมจากรายงานภาครัฐ

หน่วยงานภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับ SDGs มีจำนวนค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดีองค์กรเหล่านี้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย หากแบ่งเครือข่ายตามองค์กรที่เป็นแกนกลางอาจแบ่งได้หลัก ๆ 3 เครือข่ายเครือข่ายที่ 1 คือ เครือข่ายภาคประชาสังคมและเครือข่ายองค์กรชุมชนที่เชื่อมโยงโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเครือข่ายที่สองคือ เครือข่ายคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เครือข่ายที่สาม คือ เครือข่ายองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเครือข่ายที่สี่คือ เครือข่ายที่เชื่อมโยงกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ในเชิงประเด็น เครือข่ายที่เข้มแข็งและมีบทบาทในการติดตามและผลักดัน SDGs ในประเด็นของตนนั้นมีความหลากหลายมาก เช่น เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เครือข่ายองค์กรด้านทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพสิ่งแวดล้อม เครือข่ายด้านพลังงานทางเลือก เครือข่ายจิตอาสา เป็นต้น

 

4. ภาควิชาการ

ในภาควิชาการมีสถาบันและศูนย์วิจัยจำนวนมากที่ทำงานในประเด็นที่สอดคล้องกับบางเป้าหมายหรือเป้าประสงค์ของSDGsอย่างไรก็ดี สถาบันและศูนย์วิจัยที่ทำงานใกล้ชิดกับกระบวนการเชิงนโยบายที่ขับเคลื่อนSDGs ในประเทศไทยมีดังนี้

  • มูลนิธิมั่นพัฒนา (Thailand Sustainable Development Foundation: TSDF)มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและเผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิยังผลิตงานพิมพ์ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในภาษาไทยและในภาษาอังกฤษอีกด้วย นอกจากนี้มูลนิธิยังร่วมกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าในการจัดThailand SDG Forum ซึ่งปัจจุบันเป็นเวทีแลกเปลี่ยนด้าน SDGsที่สำคัญ
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)โดย โครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move)ทำหน้าที่สนับสนุนองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อน SDGsและกำหนดทิศทางการให้ทุนวิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อน SDGs
  • สถาบันไทยพัฒน์ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความเชี่ยวชาญเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR: Corporate Social Responsibility)ในบริษัทเอกชน นอกจากนี้ทางสถาบันยังติดตามการพัฒนาเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการประยุกต์ SDGsในภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
  • สถาบันวิจัยสังคมและศูนย์โรตารีเพื่อสันติภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะระหว่างภาคประชาสังคม ภาควิชาการและภาครัฐ​ นอกจากนี้บ่อยครั้งยังเชิญนักวิชาการต่างประเทศที่ทำงานด้าน SDGs เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิชาการและภาคประชาสังคมไทยอีกด้วย
  • สถาบันคลังสมองของชาติทำงานกับสถาบันอุดมศึกษาในการขับเคลื่อน SDGs โดยเป็นตัวกลางจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งภายในและระหว่างประเทศ

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)