โครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้จัดให้มีการประชุมองค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของภาคประชาสังคมต่อเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกครั้ง โดยการประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2559 เวลา 14.00 – 17.00 น. ณ ห้องกมลพร โรงแรมสุโกศล โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถานเอกอัครราชฑูตอังกฤษ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย Center for Humanitarian Dialogue GIZ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ มูลนิธิมั่นพัฒนา มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และอื่นๆ ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากการประชุมองค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคมนั้น อาจแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นที่สำคัญ คือ (1) ข้อมูลการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของสภาพัฒน์ฯ และความก้าวหน้าของดำเนินงานของคณะอนุกรรมการในด้านต่างๆ (2) ความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมต่อการจัดทำ Roadmap การพัฒนาที่ยั่งยืน และ (3) โจทย์และการดำเนินงานของภาคประชาสังคมต่อการดำเนินงานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
สรุปการประชุมระดมความคิดเห็นบทบาทภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
จัดโดย สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
วันที่ 28 ตุลาคม 2559 เวลา 14.00 – 17.00 น. ณ ห้องกมลพร โรงแรมสุโกศล
ดาวน์โหลดสรุปประชุม CSO สถาบันธรรมรัฐ
ข้อมูลการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของสภาพัฒน์ฯ
- เป็นการต่อยอดการดำเนินงานจากเป้าหมาย 8 เป้าของ MDG เป็น SDG ที่มีเป้าหมาย 17 เป้า 169 เป้าประสงค์
- สถานการณ์และความสนใจในประเด็นพัฒนาที่ยั่งยืนของต่างประเทศแตกต่างกันไป เช่น อินเดียสนใจด้านความเท่าเทียมทางเพศ อินโดนีเซียสนใจเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยประเทศไทยมุ่งเน้นสร้างเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ผนวกเข้ากับเศรษฐกิจพอเพียง
- สำหรับโครงสร้างและกลไกระดับชาติ ได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) มีนายกเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำยุทธศาสตร์ กำกับการดำเนินงานให้เป็นไปตามทิศทางและประมวลผล คณะกรรมการประกอบด้วย 3 คณะอนุกรรมการ คือ
- คณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
- คณะอนุกรรมการส่งเสริมความเข้าใจและประเมินผลการดำเนินงานตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
- คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน
การก้าวหน้าของดำเนินงานของคณะอนุกรรมการในด้านต่างๆ ได้แก่
- คณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้จัดหารือการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เช่น การทำงานระหว่างหน่วยงานรัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจและการทำงานที่หนุนเสริมจากภารกิจหลัก การหารือกับภาคเอกชนเพื่อสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานของภาครัฐ โดยกำลังจะจัดความร่วมมือกับภาคประชาสังคมอีกครั้ง
- คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ การจัดลำดับความสำคัญ และหาหน่วยงานรับผิดชอบ การจัดทำแผนการดำเนินงานระยะสั้น (1 ปี) กลาง (5ปี) ยาว (15 ปีเป็นต้นไป)
- การดำเนินงานระยะต่อไป ได้แก่ การมอบหมายหน่วยงาน(เจ้าภาพหลัก) สำหรับการเก็บข้อมูลตัวชี้วัด โดยมีข้อเสนอจากเวทีต่างๆ ให้สภาพัฒน์ฯ จัดประชุมหารือการทำงานร่วมกับกับ SME , สถาบันการศึกษา และองค์กรระหว่างประเทศ
ความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมต่อการจัดทำ Roadmap การพัฒนาที่ยั่งยืน
ฐานคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน
- เนื่องด้วยนิยามของความยั่งยืน ยังมีความแตกต่างกันระหว่างภาครัฐ/หน่วยงาน/ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงควรต้องทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจและกำหนดโจทย์ต่อการพัฒนาต่อไป
- เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่สามารถมองแยกส่วนกันได้ เพราะในความเป็นจริงเป็นเป้าหมายที่ cross-cutting เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ การศึกษา ความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายเรื่องความยุติธรรม ซึ่งหากสร้างให้มีประสิทธิภาพจะบรรเทาหรือคลี่คลายปัญหาที่อยู่ในเป้าหมายอื่นๆได้
- ข้อห่วงกังวลจากผู้เข้าร่วมถึงประเด็น/สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่
- นโยบายภาครัฐ/โครงการประชารัฐ เช่น เศรษฐกิจดิจิตอล ที่อาจมีความไม่สอดคล้องกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมได้อย่างไร
- มิติเรื่องที่ดิน (การเข้าถึงที่ดิน, ที่ดินหลุดมือ) และการแก้ปัญหาความยากจน ที่ยังไม่ได้รับการไฮไลท์ ทั้งนี้ เวทีเห็นว่าอาจเข้าไปอยู่ในเรื่องมาตรการกลไก ซึ่งอยู่ในขอบเขตของคณะทำงาน ในอนุกรรมการที่ 3
- มิติเรื่องการเมืองที่ขาดหาย ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการกำหนด/ดำเนินการของประเทศ
- การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งกลุ่ม/คนไว้ข้างหลัง (leave no one behind) ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนากลุ่มคนชายขอบ/คนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยไปด้วย
ด้านโครงสร้าง/รูปแบบการทำงาน
- ควรสร้างให้เกิดความร่วมมือในการทำงานรูปแบบต่างๆ ทั้งในลักษณะการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ความร่วมมือของภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม มีการยกตัวอย่างกรณีการพัฒนาในรูปแบบของเอกชน (บริษัทโคคาโคล่า)ที่อาจมาประยุกต์ใช้กับความร่วมมือของภาครัฐและภาคส่วนอื่น โดยการคิดรูปแบบการทำงานในลักษณะหน่วยการผลิต (Supply unit) ซึ่งเปรียบกับการดำเนินงานในพื้นที่ต่างๆ ที่มาเชื่อมร้อยกันในระบบรวม
- สร้างความเป็นเจ้าของร่วมของทุกภาคส่วนในการดำเนินงานไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางที่ชัดเจนต่อการทำงาน ทั้งนี้ การออกแบบการทำงานร่วมกันต้องให้น้ำหนักของภาคส่วนที่เข้ามาทำงานร่วมกันอย่างเท่าเทียม เช่น การยอมรับบทบาทและให้น้ำหนักการทำงานของภาคประชาสังคมเช่นเดียวกับหน่วยงานภาครัฐ
- เพิ่มเติมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมในการกำหนด/จัดทำแผน ตัดสินใจในโครงการการพัฒนาต่างๆให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่างๆ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร/น้ำ/พลังงาน การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งจากการพัฒนาโครงการดังเช่นในอดีต
กลไก/วิธีการไปสู่เป้าหมาย
- วางเป้าหมายและภาพฉายอนาคตประเทศที่ชัดเจนเพื่อให้การดำเนินงานตอบโจทย์การพัฒนาภายในประเทศ ร่วมกับการรายงานความสำเร็จของตัวชี้วัดไปในระดับโลก
- พิจารณาถึงภัยคุกคาม (Threat) ที่เป็นอุปสรรคให้ไปไม่ถึงเป้าหมาย เช่น กรณีอุตสาหกรรมภาคตะวันออกแบบปิโตรเคมี/อุตสาหกรรมหนัก
- ขอบเขตของงานพัฒนาที่ยั่งยืนควรคำนึงถึงมิติข้ามประเทศ เช่น ภัยคุกคามจากการลงทุนระหว่างประเทศ แรงงานต่างด้าวในประเทศไทย
- จัดทำ Development option หรือ Enabling scenario เพื่อสร้างทางเลือกที่มาจากฐานการมีส่วนร่วม เช่น ทางเลือกเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของยุทธศาสตร์ภาคตะวันออกในการส่งเสริมภาคเกษตรแทนอุตสากรรมหนัก แผนกระบี่โกกรีนในการทำพลังงานหมุนเวียน 100% ได้ทำภายใน 3 ปี แทนการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน
- หน่วยงานภาครัฐยังมีความสำคัญต่อการสำรวจและจัดทำข้อมูลพื้นฐาน (Baseline) เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความเป็นไปได้ในการบรรลุถึงเป้าหมาย ในขณะที่ภาคประชาสังคมสามารถทำหน้าที่สนับสนุน กระตุ้น ตรวจสอบและตรวจเช็คการดำเนินงานในส่วนนี้
ตัวชี้วัดของประเทศ (Thailand Indicator)
- จัดทำตัวชี้วัดของประเทศไทยบนฐานความรู้/งานวิจัย เช่น ฐานงานวิจัยจากสกว., ดัชนีตัวชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขของสังคมไทยของสภาพัฒน์ฯ, งานวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ
- บทบาทของภาคประชาสังคมในการนำตัวชี้วัดไปปฏิบัติการในพื้นที่
พื้นที่การทำงาน
- ข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้แทนกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศว่าได้มีคำสั่งของระเบียบสำนักนายกในการสร้างหรือเอื้อให้เกิดการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมแล้ว
- ควรสร้างพื้นที่ให้เกิดการรับรู้/สร้างความเข้าใจในสังคมสู่อนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งอาจเป็นพื้นที่สาธารณะคู่ขนานกับพื้นที่เกิดจากกระบวนการภาครัฐ เพื่อลดปัญหาจากความเข้าใจไม่ตรงกันหรือความไม่เข้าใจต่างๆ อันเกิดขึ้นการเร่งรีบดำเนินการภายใต้เวลาจำกัดอย่างในสภาวะปัจจุบัน
โจทย์และการดำเนินงานของภาคประชาสังคมต่อการดำเนินงานสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
- เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมและเสริมหนุนการทำงานของภาครัฐ
- กลไกการทำงานของภาคประชาสังคมเองสามารถดำเนินงานในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น รูปแบบ watchdog, รูปแบบ monitoring และ collaboration, SDG move
- สร้างกลไกเชื่อมต่อบทเรียน/ผลการทำงานจากภาคประชาสังคมไปสู่กลไกกลาง เช่น คณะทำงานจากภาคประชาสังคม (กลุ่มคนทำงานในพื้นที่/เชิงประเด็น, กลุ่มติดตามตรวจสอบ) เข้าไปร่วมในกลไกทางการของภาครัฐ
———————————————————————-
Last Updated on ธันวาคม 20, 2021