Palliative Care สู่มิติใหม่แห่งการเยียวยาที่ยั่งยืน

งานประชุมวิชาการเพื่อประกาศผลความสำเร็จจากการดำเนินงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมาของโครงการ “สร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายและการตายดี” โดยสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายและภาคี ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส เมื่อวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2559 ณ ห้องประชุมวายุภักดิ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ

ภายในงานประชุมประกอบด้วยผู้เข้าร่วมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคองจากทุกภาคส่วน ได้แก่ สสส. สปสช. สำนักบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายพุทธิกา เครือข่ายชีวิตสิกขา บริษัทชูใจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แพทย์และพยาบาลจาก ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา หาดใหญ่ ลำพูน น่าน สุรินทร์ ยโสธร ยะลา สกลนคร กว่า 800 คน และผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งคือ อาสาสมัครผู้มีจิตปรารถนาเยียวยาผู้ป่วยอย่างแท้จริง

รศ.พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย และผู้บริหารชุดโครงการฯ ได้กล่าวนำเสนอผลความสำเร็จของชุดโครงการฯ ซึ่งประกอบด้วย 4 โครงการย่อยที่สร้างคุณประโยชน์มหาศาลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังได้กล่าวแสดงความขอบคุณและยินดีในการผนึกกำลังที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่องด้วยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการริเริ่มโดยกลุ่มจิตอาสา และพัฒนาเครือข่ายจนได้รับความเห็นชอบการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ดังนั้นบรรยากาศภายในงานจึงเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจและกำลังใจอันอบอุ่นด้วยปณิธานเดียวกัน

 

img_2193นอกจากการแสดงความก้าวหน้าของระบบงานบริบาลในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว  เวทีแห่งนี้ยังเป็นพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในประเด็นที่น่าสนใจมากมาย อาทิ นโยบายด้านการดูแลแบบประคับประคองของผู้ซื้อและผู้จัดบริการ วิถีการตายอย่างสงบ คุณค่าของอาสาสมัคร ความรู้ที่งอกงาม ระบบบริการแบบประคับประคอง การเปลี่ยนทัศนคติการดูแลผู้ป่วย และมิติใหม่ของการพยาบาลเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยระยะท้าย 

โดยสาระสำคัญทั้งหมดของงานเป็นไปเพื่อการสร้างสรรค์หนทางการจัดการองค์ความรู้ระบบงานบริการดูแลแบบประคับประคองแบบองค์รวม (Holistic Palliative Care) เพื่อการต่อยอดโดยทุกหน่วยภาคีที่มีความแข็งแกร่งและยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายแห่งการพัฒนาในขั้นต่อไปทั้งในระดับการจัดการบริหารโครงสร้างของประเทศเพื่อการเข้าถึงที่ดียิ่งขึ้น การสร้างหลักสูตรการศึกษาที่ชัดเจน ตลอดจนการสร้างทางเลือกให้กับประชาชนได้รับรู้ถึงสิทธิในการวางแผนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตให้จบลงอย่างมีศักดิ์ศรีและมีความสุขสบายใจทั้งครอบครัวเช่นเดียวกับความยินดีในวันที่เกิดมา

ด้วยเหตุนี้เอง การพยายามร่วมผลักดันงาน Palliative care ด้วยการนำของพลังใจ จึงสร้างแรงสนับสนุนการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นความยั่งยืนดังเป้าประสงค์ของ SDGs ในข้อที่ 3.b 3.c 3.d (สุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพทุกคน) และ 17.1  17.6  17.8  17.14  17.15  17.17  17.18  17.19 (เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงาน) 

ติดตามข้อมูลข่าวสารและดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่: http://www.thaps.or.th/

ขอขอบพระคุณ คุณวรรณา จารุสมบูรณ์ เป็นอย่างสูง ที่กรุณาให้ผู้บันทึกได้เข้าร่วมงานวิชาการในครั้งนี้

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น