ก้าวสู่โกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของ 15 องค์กรชั้นนำของไทย ที่เป็นสมาชิก UN Global Compact  ผนึกกำลังกันเพื่อร่วมกันผลักดันหลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact โดยมีพันธกิจหลักในการส่งเสริมการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน และการร่วมผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ประการ  จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ก้าวสู่โกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย…เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ขึ้นในวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2559 เวลา 08.30–17.00 น. ณ ห้องประชุมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ชั้น 31 อาคาร AIA Capital Center ถ.รัชดาภิเษก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมพลังขับเคลื่อนภาคธุรกิจของไทยเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ผ่านการระดมสมองกับผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมเชิญชวนให้ภาคธุรกิจเอกชนของไทยมาร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทยเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

“บทบาทของภาคเอกชนไทยในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย”

นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (TRUE)  ในฐานะ ประธานคณะกรรมการฯ เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย กล่าวว่า “เดิมทีการวางแผนการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน จะมุ่งการทำให้ประสบความสำเร็จ อยู่ได้อย่างยั่งยืน แข่งขันได้ดี เติบโต สร้างตลาดได้ เพิ่มศักยภาพ นวัตกรรมที่จะแข่งขัน ครองใจตลาดให้มากที่สุด และมีผลประกอบการที่ดี แต่อาจไม่ได้นำเป้าหมาย หรือปัญหาของสัมคมมาพิจารณามากนัก เพราะไม่รู้สึกว่าองค์กรมีบทบาทเกี่ยวข้องชัดเจน หรือไม่มีอำนาจเช่นภาครัฐที่จะแก้ไขปัญหาได้ แม้ต่อมาอาจมีการดำเนินการด้าน CSR หรือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็จะต้องมีการดำเนินการด้านธรรมาภิบาล แต่ก็ยังเป็นการคำนึงถึงผู้ถือหุ้นเป็นหลัก โดยยังไม่ได้ครอบคลุมถึงผู้มีส่วนกลุ่มอื่นๆ แต่ในวันนี้และในอนาคตคำที่พูดถึงมากขึ้นก็คือความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งเป็นการท้าทายของภาคธุรกิจที่จะต้องกำหนดทิศทางขององค์กร และแนวโน้มที่กว้างขึ้นไปสู่ระดับโลกมากกว่าสิ่ที่เราเคยทำแล้วได้ผลลัพธ์ดีในแบบเดิมๆ

การรวมตัวของผู้แทนเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทยจึงมีความหมายในฐานะเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์ความยั่งยืนที่จะเติบโตในประเทศไทยให้เกิดขึ้น และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นสู่ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคการศึกษา และขยายความสัมพันธ์ไปสู่ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะเชื่อมโยงกับหลักการพื้นฐาน 10 ข้อของ UN Global Compact อันเป็นที่มาของ SDGs 17 ข้อ โดยเฉพาะข้อมี่ 17 คือ Partner for the Goals

ทั้งนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายต่อความยั่งยืนใน 7 ประการได้แก่

1 ความเข้าใจ และการปรับตัวของภาครัฐให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง และการผลักดันให้หน่วยงานรัฐตระหนักรู้ด้วย

2 การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และร่างกฎหมาย กฎระเบียบที่จำเป็น โดยนำเอา SDGs ทั้ง 17 ข้อมาเป็นเกณฑ์

3 การสร้างความตระหนักในภาคเอกชน และดำเนินการอย่างต่อเนื่องจริงจัง

4 การมีส่วนร่วมกับชุมชน และสร้างความเข้าใจ เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน เข้มแข็ง ปลอดภัยและมีส่วนร่วม

5 การตรวจสอบย้อนกลับ และมีส่วนร่วมตลอดห่วงโซ่แห่งคุณค่า เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

6 ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค ที่จะเป็นการแบ่งปัน ถ่ายเทองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน

7 การสร้างผู้นำในองค์กรที่ตระหนักด้านความยั่งยืน เพื่อความเข้าใจปัญหา นำไปสู่การแก้ไข การกำหนดเป้าหมายขับเคลื่อนทุกส่วนในองค์กรให้เปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนในอนาคต

ทุกองค์กรสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ โดยใช้โมเดลแห่งความยั่งยืนภายใต้คอนเซ็ปท์ Deliver to Bottom Line เป็นมิติใหม่การดำเนินธุรกิจที่ไม่ได่คำนึงแค่ผลกำไร แต่คำนึงถึง 3 องค์ประกอบสำคัญคือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรดำเนินการใน 3 ด้านหลักได้แก่ 1.) การสร้างคุณค่า วัฒนธรรมองค์กร และหลักการดำเนินธุรกิจที่ดี  2.) การทำให้องค์กรปรับตัวอยู่ตลอดเวลาด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบสนองความยั่งยืนและประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งย่อมกลับคืนมาสู่องค์กรด้วย และ 3.) การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่ตระหนักรู้การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน คำนึงถึงปัญหาทั้งระดับประเทศและระดับโลก

“การสร้างความร่วมมือเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างสหประชาชาติกับภาคเอกชนในไทยและบทบาทของ UN Global Compact”

Mr. Luc Stevens, UN Resident Coordinator and United Nations Development Program Thailand Ressident Representativeกล่าวสรุปได้ว่า “ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญมากต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่เพียงความท้าทาย แต่หมายถึงโอกาส ภายใต้ความร่วมมือของภาคเอกชนกับสหประชาชาติ โดยปกติภาคเอกชนจะมีการวางแผนยุทธศาสตร์อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดผลกระทบทางลบ และเกิดผลทางบวกอย่างสูงสุดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พร้อมทั้งสร้างค่านิยมร่วมกันด้านความมยั่งยืนมองอนาคตไปสู่คนรุ่นหลัง

กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs 17 ข้อ ถือว่าเป็นพิมพ์เขียวในการจัดการกับความท้าทายของโลกอนาคต ด้วยความร่วมมือของรัฐบาล เอกชน UN และองค์กรอื่นๆ มีวาระดำเนินการใน 15 ปีข้างหน้า ระหว่างปีค.ศ. 2016-2030 ซึ่งได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศ มุ่งดำเนินการในทุกประเทศ ทั้งประเทศที่ยากจน ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมความเจริญเติบโตครอบคลุมด้านต่างๆ เช่น ยุติความยากจน ความเท่าเทียม ความอยุติธรรม ปกป้องทรัพยากรโลก การศึกษา สังคม สุขภาพ โอกาสด้านการมีงานทำ สภาพแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ พร้อมๆ กับยุทธศาสตร์การสร้างการเติบโตทางธุรกิจ โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อคนทุกสถานะ รายได้ เพศ และอายุ

การกำหนดนโยบายการดำเนินธุรกิจที่คำนึงส่วนรวมไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทั้งในประเทศ และต่างชาติ จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ช่วยให้องค์กรบรรลุตามเป้าหมาย SDGs ได้ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒน ที่ยังขาดแคลนการลงทุนด้านพื้นฐานต่างๆ เช่น การขนส่ง ด้านสารสนเทศ การสื่อสาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ SDGs จึงเป็นโอกาสของภาคเอกชนในการแสดงบทบาทการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของมนุษยชาติ แม้เดิมที่จะมุ่นเน้นการลงทุนที่การสร้างผลกำไร แต่หากภาคธุรกิจต้องการที่จะยุติความยากจน ต่อสู้กับความไม่เสมอภาค การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ก็ต้องมีการรับผิดชอบเพื่อให้การบรรลุ SDGs  ด้วยดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรม เทคโนโลยี มีความร่วมมือกันในการรับผิดชอบต่อสังคม และรายงานการประกอบการต่อสาธารณะ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามวัตถุประสงค์

“ก้าวต่อไปของบริษัทไทย ในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวโดยสรุปได้ว่า UN Global Compact ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามหลักการสากลใน 4 ประเด็นหลักได้แก่ 1.สิทธิมนุษยชน 2.สิทธิแรงงาน 3.สิ่งแวดล้อม 4.การต่อต้านคอร์รัปชั่น  ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีแนวทางปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดเป็แนวปฏิบัติ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2553 ประกอบด้วย 1. การกำกับดูแลกิจการที่ดี 2. การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม 3. การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น 4. การเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม 5. ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค 6. การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม 7. การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม 8. นวัตกรรมและการเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม 9. การจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ในการนี้ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ มีความเห็นว่าการก้าวเดินไปสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน ต้องเริ่มวางแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดี การบริหารความเสี่ยง เพื่อให้องค์กรมีความยั่งยืน โดยเฉพาะความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น หากไม่ทำดีอาจถูกเลิกร่วมค้าและลงทุนด้วย จึงต้องติดตามดูแลคู่ค้า การช่วยเหลือ SMEs ที่เป็นเครือข่ายธุรกิจ นับเป็นการช่วยเหลือสังคมอีกด้านหนึ่ง

“การปรับตัวของธุรกิจเอกชนสู่ความยั่งยืน”

ดร.ธีระพล  ถนอมศักดิ์ยุทธ  ผู้บริหาร ด้านยุทธศาสตร์ความยั่งยืนและธรรมาภิบาล การสื่อสาร และนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึง ปัจจุบันธุรกิจต้องพร้อมที่จะปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายของUNGC 17 ข้อ  สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศไทยได้ให้ความสำคัญการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีความตั้งใจจริงที่จะปรับตัวให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลง และเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นที่คาดหวังอย่างมากจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลูกค้า และสังคม เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้สร้างความตระหนักรู้อย่างยั่งยืนและขับเคลื่อนองค์กรไปในอุดมการณ์เดียวกัน  ในการนี้ท่านประธานธนินท์ เจียรวานนท์ ได้ยึดมั่นหลักการ 3 ประโยชน์ สู่ความยั่งยืน คือ ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประโยชน์ต่อประชาชน และสุดท้ายจึงเป็นประโยชน์ต่อพนักงานและบริษัท และเมื่อไม่นานมานี้ได้ประกาศนโยบายด้านความยั่งยืนเพื่อให้บริษัทในเครือฯก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกัน

“UN Global Compact กับการคุ้มครองผู้บริโภค การแข่งขันอย่างเป็นธรรมและการคุ้มครองผู้บริโภคของภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศ”

Mr.William Robinson  Partner ,Freshfields Bruckhaus Deringer  บริษัทกฎหมายชื่อดังระดับโลกกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ธุรกิจต้องปรับตัวสู่ความยั่งยืนเพื่อให้สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนต้องคำนึงถึงกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงการต่อต้านธุรกิจที่ทุจริตคอรัปชั่น และเน้นในเรื่องกฎหมายห่วงโซ่อุปทาน  เนื่องจากคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานอาจทำให้บริษัทเกิดความเสียหายได้หากเกิดการละเมิดในเรื่องสิทธิมนุษยชน  นอกจากนี้ได้แนะนำให้ภาคธุรกิจร่วมมือกับภาครัฐ  NGO หรือ องค์กรการค้าต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชน แม้จะเป็นเรื่องยากต่อการเปลี่ยนแปลงแต่เชื่อมั่นจะเป็นวิธีการที่ทำให้ธุรกิจสามารถก้าวเดินไปสู่เป้าหมายของ Global Compact  เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

“1 ปีของการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและความคาดหวังต่อภาคเอกชน”

นางชุลีพร บุณยมาลิก ผู้อำนวยการสำนักวางแผนการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าสภาพัฒน์ฯให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาโดยตลอดซึ่งในกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี พ.ศ.2560 – 2579  และในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในระยะ พ.ศ.2559-2573 นั้น ทางภาครัฐจะมีการขับเคลื่อนควบคู่ไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) โดยมีกลไกการขับเคลื่อน SDGs ของไทย จะประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี, คณะกรรมการเพื่อการยั่งยืน (กพย.) ซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และอนุกรรมการทั้ง 3 ด้าน รวมถึงคณะทำงานร่วม

ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ฯได้ดำเนินการสำรวจความพร้อมในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ของภาคเอกชน พบว่า มี 43 บริษัท เข้าร่วมการประชุมระดมความคิดเห็น มี 21 บริษัท ตอบแบบสำรวจ และ 10 บริษัท สนใจจะเข้าร่วมในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs เช่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร  (CPF), บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ. น้ำตาลมิตรผล เป็นต้น โดยภาคเอกชนให้ข้อเสนอแนะว่า ภาครัฐควรมีการเชิญหน่วยที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ประชุมร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางหรือข้นตอนการนำ SDGs มาเป็นแนวทางปฎิบัติขององค์กร ควรมีหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ SDGs ให้เป็นที่รู้จักแก่หน่วยงานต่างๆ, การพัฒนาที่ยั่งยืนความมีบริษัทในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก SMEs เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาบริษัทในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กให้เป็นบริษัทที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

การดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนระยะต่อไป คือ การจัดอันดับความสำคัญของเป้าหมาย และเป้าประสงค์การพัฒนาที่ยั่งยืนใน 30 อันดับแรก และจัดทำ Roadmap การขับเคลื่อนโดยการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนที่จะ ทำในระยะเวลา 1 ปี 5 ปี และหลัง 5 ปี เช่น กำหนดมาตรการกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ งบประมาณตัวชี้วัดตาม SDGs และเพิ่มเติม SEP แนวทางดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม, จัดประชุมหารือกับภาครัฐและเครื่อข่ายประชาสังคมในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเตรียมความพร้อมด้านระบบข้อมูลและสารสนเทศ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จะทบทวนสถานะและความพร้อมของข้อมูลและกำหนดแนวทางการติดตามประเมินผลการขับเคลื่อน SDGs โดยใช้ระบบแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูล

“หุ้นส่วนของการพัฒนาที่ยั่งยืน ความคาดหวังของภาคประชาสังคมต่อภาคเอกชน”

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์  ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  กล่าวสรุปได้ว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนนั้นมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน  สามารถร่วมมือกันภายใต้รูปแบบ Collaborative Model กำหนดเป้าหมายร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม อาทิ  การขจัดความยากจน การให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้บริโภค ตลาดสีเขียว  และ Climate Change ปัญหาหมอกควัน และการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน เป็นต้น

ที่มา : cp-enews.com

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

One thought on “ก้าวสู่โกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น