Documentary Club ร่วมกับ Airpay วอลเล็ท แอปฯ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภูมิใจเสนอกิจกรรมดูหนังสารคดีและฟังบรรยายต่อยอดเข้มข้น “DOC+TALK ครั้งที่ 5 : Poverty, Inc.”
ในวันเสาร์ 24 ธันวาคม 2559 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ในเส้นเรื่องว่าด้วย “การแก้ปัญหาความยากจน” นั้น มีผู้ที่เขียนบทให้ตนเองเป็นอัศวินขี่ม้าขาว และเขียนบทให้คนยากจนเป็นฝ่ายเฝ้ารอรับน้ำใจจากผู้เหนือกว่าเสมอ แต่ในความเป็นจริง กระบวนการ “ช่วยเหลือ” เหล่านี้ ให้ผลดีงามตามที่เราเชื่อว่ามันเป็นหรือเปล่า?
หนังสารคดี “Poverty, Inc. บริษัทนี้มีความจนมาขาย” บอกเล่าเรื่องราว “อุตสาหกรรมทำมาหากินกับความจน” ที่รวบรวมข้อมูล กรณีศึกษา และความคิดเห็นจากบทสัมภาษณ์กว่า 150 ผู้คน และจากการถ่ายทำยาวนานกว่า 4 ปีใน 20 ประเทศ เพื่อนำพาเราไปสำรวจอีกด้านของการบริจาค-การพัฒนา และค้นหาคำตอบว่า มันคือการพัฒนาอันยั่งยืน หรือเรากำลังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบที่ปล่อยให้ “คนจนถูกทิ้งให้ยิ่งจนต่อไป ส่วนคนรวยยิ่งโชว์น้ำใจก็ยิ่งรวยยิ่งเก๋” กันแน่?
ในช่วงสนทนาเรื่องมิติหลากหลายในนามของ “การพัฒนา” กับ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ (คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ) อาจารย์ธานีได้นำเสนอในมิติเมื่อ “ความจน” กลายเป็นสินค้า โดยในหลักการแล้ว คำว่า “poverty” มีความหมายในหลายมิติ ทั้ง rule of law (นิติธรรม), การเป็นเด็กกำพร้า และการบริจาค ซึ่งนำไปสู่การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่าง NGO รัฐบาล และองค์กรท้องถิ่น
“poverty” = deprivation of well-being; inability to acquire basic goods and services for survival with dignity
Defining poverty
- Monetary measure ใช้เงินเป็นตัววัด
- Capability approach ดูที่ความสามารถในการทำสิ่งต่าง เช่น ได้รับการศึกษา
- Social exclusion ถูกกีดกันออกจากสังคม
- Participatory method นิยามต่างกันไปในแต่ละท้องที่
อาจารย์ธานีจึงให้ความเห็นสำหรับเรื่องการให้ความหมายว่า Poverty คือความ “ยากจนข้นแค้น” ซึ่งแม้จะเป็นคำที่ใช้กันในสมัยก่อนแต่มีนัยที่ตรงกับความหมายในการใช้คำนี้มากที่สุด เนื่องจากประกอบด้วย 4 คำ คือ (1) “ยาก” = การขาดโอกาส (2) “จน” = มีทรัพย์สินน้อย จึงขาดหลักประกัน (3) “ข้น” = การใช้แรงงานเข้มข้น จึงทำให้ขาดรายได้ที่เหมาะสม และ (4)“แค้น” = ความคับแค้นใจจากการไม่ได้รับ ความยุติธรรมในสังคม
โดยอาจารย์ธานียังได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติมในเรื่องของความยากจนด้านวิชาการ ดังนี้
(1) Absolute Poverty (ความยากจนสัมบูรณ์) ซึ่งไม่ปรากฎในหลายประเทศแล้ว อาจเรียกสั้นๆ ว่า “poverty” โดยใช้การประเมินจาก poverty line เป็นเกณฑ์ ซึ่งเป็นสังคมที่ประชาชนถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Destitution มาจาก de- และ status)
(2) Relative Poverty (ความยากจนสัมพัทธ์) ปรากฎในทุกประเทศ เนื่องจากเป็นความ “จน” ที่เกิดจากการเปรียบเทียบ เป็นการมีที่น้อยกว่าคนอื่น ดังนั้นจึงมีความเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำ (inequality)
ที่มาของ poverty – *ความจนเกิดขึ้นเมื่อมีรัฐและตลาด*
จากการพัฒนาของสังคมอย่างเป็นลำดับขั้นไป
Primitive society อยู่เป็นชนเผ่า ไม่ค่อยมีชนชั้น ไม่มีความยากจน อาจอดมื้อกินมื้อบ้าง แต่ทุกคนก็เป็นเหมือนกัน
Feudal society มีชนชั้นเกิดขึ้น แต่ยังไม่เกิดคนจน เพราะเจ้าขุนมูลนายระดับสูงก็ต้องเลี้ยงดูคนที่ตัวใช้งาน
Democratic society ไม่ได้หมายถึงสังคมประชาธิปไตย แต่หมายถึงสังคมที่เริ่มมีการเมืองเกิดขึ้น ต้องมีคนจน! เนื่องจากการให้เป็นวิธีที่ผู้ปรองรักษาอำนาจไว้ได้
Capitalist society ต้องมีคนจน! เนื่องจากการมีคนจนเป็นความสุข (pleasure) บางอย่างของคนรวย เช่น การให้ทาน การปลูกป่าทั้งที่ชุมชนนั้นอาจไม่ได้ต้องการป่าแบบที่จะไปปลูก
สาเหตุของ poverty อาจแบ่งได้เป็น 3 ระดับ
- Individual เช่น ขี้เกียจ ไม่อยากทำงาน
- Structural เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การศึกษา สาธารณสุข และ housing
- Cultural การที่สังคมทำให้เชื่อว่าตนจนและไม่สามารถออกจากความจนได้ เช่น สำนวนอย่างรักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา (หามเสาไม่เกี่ยวกับรักชั่ว), ขอให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน, ทำความดีเยอะ ชาติหน้าจะสบาย (ชาตินี้จะไม่สบายเหรอ, ที่ไม่สบายชาตินี้เพราะไม่ดีชาติที่แล้วหรอ) ทั้งหมดนี้เชื่อมโยงว่าความลำบากเกิดจากการทำความดีไม่พอ
- คนที่รู้สึกว่าตนไม่จนมองว่าความจนเกิดจาก “ความขี้เกียจ” (คือมองว่าเกิดจาก individual)
- คนจนมองว่าตนเอง “ขาดโอกาส” (ปัญหา structure)
- เกิดการผลิตซ้ำความจนในสื่อและสังคม
ในการสร้างประเด็นคำถามเพื่อทบทวนความคิดที่ว่า Foreign Aid ช่วยพัฒนาสังคมได้หรือไม่ จากการทบทวนข้อมูลที่เกี่ยวข้องพบว่า ความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ได้แก่ ฝ่ายแรกคือ Jeffrey Sachs มีความเห็นด้วยอย่างมาก เนื่องจากบุคคลนี้เคยเป็นผู้บริหารโครงการการพัฒนาที่ยั่งยืน ของ UN Millenium Project ซึ่งมองว่าเงินช่วยเหลือจะช่วยพัฒนาได้ต้องทำ 5 อย่าง ได้แก่
(1) ทำให้การเกษตรขยายตัว เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ในวงกว้าง
(2) สามารถพัฒนาสาธารณสุขพื้นฐานได้
(3) สามารถลงทุนด้านการศึกษาได้
(4) สามารถใช้สร้างโครงสร้างพื้นฐานได้
(5) มีน้ำดื่มสพอาดเพียงพอและสามารถดูแลด้านสุขอนามัยได้
ในขณะที่ William Eastery และ Dombisa Moyo มีความเห็นตรงข้ามกับ Jeffrey Sachs เนื่องจากมองว่า GDP ต่อหัวในแอฟริกาไม่เพิ่ม ทั้งที่ใช้ช่วยเหลือต่อหัวในแอฟริกาสูงมากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับเพิ่มในจีนและอินเดียที่มีการใช้เงินช่วยเหลือต่อหัวในจีนและอินเดียลดน้อยลงอย่างมาก เพราะเนื่องจากเงินช่วยเหลือที่เข้าไปในแอฟริกาต้องผ่านรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลจึงรักษาความยากจนไว้เพื่อให้ได้เงินช่วยเหลือต่อไป ซึ่งในประเด็นนี้ Sachs แย้งว่า จริงๆ แล้วต้องให้เงินเพิ่มขึ้นอีก เพราะเมื่อให้เงินไปแล้วเฉลี่ยต่อคนเงินที่ได้ต่อหัวจะน้อยมากๆ จนเอาไปต่อยอดอะไรไม่ได้
อุตสาหกรรมผลิตความยากจนในบริบทของสังคมทุนนิยม (Poverty Business under Capitalist Society)
Supply Demand
คนจนในความหมายต่างๆ (“Hippo”) รัฐบาล (ได้เงินช่วยเหลือ มีฐานเสียง)
โครงสร้าง NGO
วัฒนธรรม ธุรกิจ (ได้ทำ CSR)
คนรวย (ได้ pleasure ได้ให้ทาน)
Celeb (ได้มีชื่อเสียงมากขึ้น)
ในช่วงท้ายของงาน อาจารย์ธานีได้กล่าวถึงเหตุปัจจัยของความยากจน และให้ความเข้าใจว่าคนเราไม่ได้ยากจนทั้งชีวิต แต่มักจะจนเพียงบางช่วงเวลา เช่น จนในช่วงวัยเด็ก (ผู้ปกครองคนหนึ่งต้องอยู่บ้านดูแล เหลือทำงานคนเดียว), มีลูก (ต้องมีคนดูแลลูก), แก่ (ทำงานไม่ได้) แต่ช่วงวัยหนุ่มสาวไม่จนเพราะทำงานได้และไม่มีภาระ ดังนั้น poverty ในแต่ละช่วงวัยต้องแก้คนละแบบ อาทิในวัยเด็ก ควรเน้นด้านการศึกษา ที่สามารถเข้าถึงได้ เช่น มีอาหารกลางวัน เดินทางไปโรงเรียนได้ง่าย วัยทำงาน ควรให้การส่งเสริมในนโยบายหลักประกันต่างๆ เช่น ประกันการว่างงาน และในวัยสูงอายุ ควรเน้นสนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุข ดังนี้จึงฝากคำถามทิ้งท้ายบทสนทนาไว้ถึงการสร้างนโยบายที่มีจุดมุ่งหมายในเรื่องใด และเพื่อใครเป็นสำคัญ