โดย ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
คุณคิดว่าเงินเพียงเเค่สองบาทจะสามารถช่วยทำให้โลกหายร้อนได้ไหมครับ ?
เเค่คิดก็ยากเเล้วว่าเงินเพียงเเค่สองบาทนั้นจะสามารถทำให้โลกหายร้อนได้ยังไง ในเมื่อเรายังคิดกันไม่ค่อยจะออกกันเลยว่าเราสามารถใช้เงินสองบาทซื้ออะไรได้บ้าง (ผมลองถามมะนาวซึ่งเป็นญาติรุ่นน้องของผมดูว่าสมัยนี้สองบาทสามารถใช้ซื้ออะไรได้บ้าง นาวใช้เวลาคิดนานเหมือนกันก่อนที่จะตอบมาว่าเงินสองบาทสามารถใช้
1. ซื้อลูกอมสองเม็ดบาทสี่เม็ด
2. เข้าห้องน้ำตามห้างสรรพสินค้า
3. ซื้อกระดาษทิชชู่หยอดเหรียญหน้าห้องน้ำ
4. ซื้อน้ำเเข็งเปล่าตามร้านอาหาร
5. หยอดตู้กดน้ำได้ประมาณสองลิตร)
เเต่ในความเป็นจริงเเล้วเงินเพียงเเค่สองบาทนั้นกลับมีพลังมหาศาลในการช่วยลดปัญหา climate change ได้ ถ้าเราออกนโยบายในการใช้มันให้เป็น
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ปีค.ศ. 2015 รัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมายใหม่ออกมาว่า ถ้าคุณไปชอปปิ้งตามศูนย์การค้า หรือ supermarket ไม่ว่าจะเป็นการชอปปิ้งเสื้อผ้า หรือหาของกินก็ตาม ถ้าร้านที่คุณเข้าไปนั้นมีหลายสาขาเเละ/หรือมีพนักงาน 250 คนขึ้นไป คุณจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 5 pence (หรือประมาณ 2 บาท) ถ้าคุณต้องการใช้ถุงพลาสติกที่ร้านมีไว้ให้ใส่ของที่คุณพึ่งซื้อไป เเละถ้าคุณต้องการถุงใส่ของเพิ่มคุณก็ต้องเพิ่มเงินอีกถุงละ 2 บาท
ถ้าเป็นตัวคุณ คุณจะยอมจ่ายเงินเพียงเเค่ 2 บาทเพื่อที่จะซื้อถุงพลาสติกธรรมดาๆใบหนึ่งไหมครับ
ปรากฎว่าหลังจากการออกกฎหมายเพียงเเค่หนึ่งปี จำนวนถุงพลาสติกที่คนใช้กันในปีๆหนึ่งลดลงจากเจ็ดพันล้าน (7 billion) ใบจนเหลือเเค่ห้าร้อยล้าน (500 million) ใบในเวลาเพียงเเค่ปีเดียว
นั่นเท่ากับการลดลงของการใช้ถุงพลาสติกที่มีการย่อยสลายยากมากๆถึง 85% ด้วยกัน (ซึ่งถ้าเทียบกับผลลัพธ์ของนโยบายรัฐบาลอื่นๆนั้น นโยบายนี้ถือว่าเป็นนโยบายที่มีผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมมากเป็นที่สุดในหลายสิบปี)
สรุปก็คือหลังจากที่ได้มีการออกนโยบายออกมาไม่นาน ประชากรในประเทศอังกฤษส่วนใหญ่ก็หันกลับมา reuse หรือใช้ถุงมากกว่าการใช้เพียงเเค่ครั้งเดียว
ทำไมนโยบายนี้ถึงมีประสิทธิภาพมาก ?
สาเหตุสำคัญที่นโยบายนี้มีประสิทธิภาพมากก็เพราะว่านโยบายนี้ใช้ประโยชน์จากการที่ว่าคนเราเกลียดการเสียกว่าการชอบการได้เยอะ (loss aversion) เรามักจะเห็นว่าการที่ห้างในเมืองไทยใช้นโยบายที่ว่าถ้าคุณไม่ใช้ถุงพลาสติกเราจะเพิ่มคะเเนนสะสมซื้อของให้กับคุณนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการงดการใช้ถุงพลาสติกซักเท่าไหร่ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าการเพิ่มคะเเนนเป็น”การได้”ในสิ่งที่เราจะ”ได้”ใช้จริงๆในอนาคต ซึ่งฟังดูไม่ค่อยน่าสนใจเมื่อเทียบกันกับการ”เสีย”ในการใช้ถุงใส่ของทันที เเละด้วยเหตุผลที่ว่าในขณะนั้นเรายังไม่มีทั้งถุงหรือคะเเนนมาอยู่ในความครอบครอง คนเราส่วนใหญ่ก็เลยคิดกันว่าเอาถุงเเทนคะเเนนสะสมดีกว่า
เเต่การ”เสีย” 2 บาทนั้นเป็นการ”เสีย”ในสิ่งที่เรามีทันที (ถึงเเม้ว่าจะเป็นการเสียที่น้อยพอสมควรก็ตาม) เเละเมื่อเทียบกันกับการ”ได้”ถุงที่เรายังไม่ได้มาครอบครอง คนเราก็มักจะยอมเเลกไม่เอาถุงดีกว่าการเสียเงินเพียงเเค่ 2 บาท
คุณผู้อ่านเห็นตามที่ผมเห็นไหมครับว่าพฤติกรรมศาสตร์ (หรือวิทยาศาสตร์พฤติกรรม หรือ behavioural science) นั้นมีพลังในการเปลี่ยนพฤติกรรมคนมากถึงขนาดไหน ถึงเเม้ว่านโยบายที่ออกมานั้นช่างดูเล็กเเละจิ๊บจ๊อยเสียเหลือเกิน
อ่านเพิ่มเติม
ที่มา : theguardian.com