รับชมรายการ ปิดทองแผ่นดิน : ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง โดย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
ดาวน์โหลดข้อมูล ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า “เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่าง ๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่าความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของการเกษตรเป็นสำคัญและงานทุก ๆ ฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ”
ด้วยเหตุนี้ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท โดยรับราชการใกล้ชิดกับพระองค์ท่านฯ ในหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สำนักนายกรัฐมนตรีกว่า ๑๖ ปี ได้สัมผัสกับชีวิตของเกษตรกรในทั่วภูมิภาคของประเทศ ซึ่งได้พบกับปัญหาต่างๆ ของเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ดินทำกิน ความยากจน ความรู้ในเรื่องการเกษตร ตลอดจนปัญหาสุขภาพ การศึกษา และอื่น ๆ ประกอบกับที่ได้ถวายการรับใช้พระองค์ท่าน ได้เห็นพระองค์ท่านทุ่มเทพระวรกาย กำลังทุนทรัพย์ อีกทั้งเวลาโดยส่วนใหญ่กับการพัฒนาค้นคว้าและทดลองในสิ่งต่าง ๆ ภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ทั้งการเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืช การทำนาข้าว การปรับปรุงดิน และน้ำ การศึกษาการปลูกป่า และพืชสมุนไพร การปลูกแฝก โรงสี และเทคโนโลยีชีวภาพ การวิจัยเรื่องพลังงาน และโครงการ อื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งทรงลงมือปฏิบัติการด้วยพระองค์เอง
พระองค์ท่านทรงเน้นให้ประชาชน และเกษตรกรรู้จักพึ่งตนเอง จึงได้พระราชทานแนวคิดเรื่อง “ทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นหลักคิดให้กับทุก ๆ คน ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร จึงได้รวบรวมกลุ่มคนในหลาย ๆ อาชีพ ที่มีแนวคิด แนวอุดมการณ์ ในการที่จะฟื้นฟูประเทศ โดยการนำแนวคิดเรื่องทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ ให้ใช้กับการทำการเกษตร และการดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งการรณรงค์ให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมี หยุดการพึ่งพาชาติตะวันตกและหันกลับมาพึ่งพาตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่เคยสืบทอดกันมาเพื่อเน้นการทำเกษตรที่ยั่งยืนบนผืนแผ่นดินไทย
การรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง ตามแนวพระราชดำริฯนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติให้เกษตรกรได้เห็นจริงจึงจะเข้าใจแนวคิดในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องจึงเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแพร่แนวความคิดและดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ต่อไป
(ศูนย์การเรียนรู้จากประสบการณ์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนี้ เป้าหมายที่ 1: ขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 2: ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการสำหรับทุกคนในทุกวัย เป้าหมายที่ 12: สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13: เร่งต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น เป้าหมายที่ 15: ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟิ้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป้าหมายที่ 16: ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ และ เป้าหมายที่ 17: เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน)
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นศูนย์ค้นคว้าวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการกสิกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์ การปศุสัตว์ การพลังงาน การแพทย์เภสัชกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยใช้ภูมิปัญญาตะวันออก
2. เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรม ถ่ายทอด และเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ ให้กับเกษตรกร นักเรียนนักศึกษา ข้าราชการและประชาชน
3. เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบลภายใต้โครงการของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์
4. เพื่อเป็นสถานที่จัดทำแปลงสาธิต ในเรื่องของการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้กับสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับพืชผักสวนครัวและนาข้าวเพื่อให้ความรู้ และเป็นแปลงตัวอย่างให้กับกลุ่มเกษตรกรในท้องถิ่นและเกษตรกรอื่นๆ ที่สนใจ
5. เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมอุปกณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตรในอดีต โดยจะตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ชาวนาต่อไป
6. เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับผู้ที่สนใจทางด้านการเกษตรแบบธรรมชาติเข้าแวะชม และแสวงหาความรู้
7. เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมที่เปิดให้กับหน่วยงานองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนต่างๆ ที่สนใจใช้เป็นสถานที่จัดอบรมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทุกประเภท
9 ฐานเรียนรู้ (ที่มา: Juth)
- คนรักษ์แม่ธรณี
“…การปรับปรุงที่ดินนั้น ต้องอนุรักษ์ผิวดินซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ ไม่ให้ไถหรือลอกหน้าดินทิ้งไปสงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื้นของผืนดิน…”
พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการอนุรักษ์ดิน - คนรักษ์ป่า
“…สมควรที่จะปลูกแบบป่าสําหรับใช้ไม้หนึ่ง ป่าสําหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสําหรับใช้เป็นฟืนอย่างหนึ่ง อันนี้แจกออกไปเป็นกว้างๆ ใหญ่ๆ การที่จะปลูกต้นไม้ สําหรับได้ประโยชน์ดังนี้ ในคําวิเคราะห์ของกรมป่าไม้ รู้สึกว่าจะไม่ใช่ป่าไม้ จะเป็นสวนมากกว่าเป็นป่าไม้ แต่ว่าในความหมายของการช่วยเพื่อต้นน้ําลําธารนั้น ป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวนผลไม้ก็ตาม หรือเป็นสวนไม้ฟืน ก็ตาม นั่นแหละเป็นป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะทําหน้าที่ เป็นป่า คือเป็นต้นไม้และทําหน้าที่เป็นทรัพยากร ในด้านสําหรับเป็นผลที่มาเป็นประโยชน์ แก่ประชาชนได้…”
พระราชดํารัสบางตอนเกี่ยวกับป่า 3 อย่าง โยชน์ 4 อย่าง ณ โรงแรมรินคํา จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 7 มกราคม 2523 - คนรักษ์น้ำ
“…หลักสําคัญว่า ต้องมีน้ํา น้ําบริโภคและน้ําใช้ น้ําเพื่อการเพาะปลูก เพราะชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ําคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ํา คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ํา คนอยู่ไม่ได้…”
พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 17 มีนาคม 2539 - คนรักษ์แม่โพสพ
“…ขอบใจที่นําสิทธิบัตรนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการประกันว่า การข้าวไทยเป็นของไทยแท้ ซึ่งคนหนักใจว่า เราเป็น ข้าวไทยมานานแล้วจะกลายเป็นต้องไปกินข้าวฝรั่ง เพราะว่าสิทธิบัตรนี้เป็นของฝรั่ง แต่ว่ามาอย่างนี้ ก็ถือว่า เป็นว่าเราได้รับประกันว่าเราเป็นข้าวไทย และจะกิน ข้าวไทยต่อไป ฉะนั้นการที่มีสิทธิบัตรนี้ ก็เป็นสิ่งที่สําคัญ และก็หวังว่า จะต้องทุกคนจะรักษาความเป็นไทยได้ด้วย รับประทานกินข้าวไทย ไม่ต้องกินข้าวฝรั่ง…”
พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระตําหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552 - คนเอาถ่าน
“…แต่ป่าไม้ที่จะปลูกนั้น สมควรที่จะปลูกแบบป่าสําหรับ ใช้ไม้หนึ่ง ป่าสําหรับใช้ผลหนึ่ง ป่าสําหรับใช้เป็นฟืน อย่างหนึ่ง อันนี้แยกออกไปเป็นกว้างๆ ใหญ่ๆ การที่จะ ปลูกต้นไม้สําหรับได้ประโยชน์ดังนี้ ในคําวิเคราะห์ของ กรมป่าไม้ รู้สึกว่าจะไม่ใช่ป่าไม้ เป็นสวนหรือจะเป็นสวน มากกว่าเป็นป่าไม้ แต่ว่าในความหมายของการช่วยเพื่อ ต้นน้ําลําธารนั้น ป่าไม้เช่นนี้จะเป็นสวนผลไม้ก็ตาม หรือ เป็นสวนไม้ฟืนก็ตาม นั่นแหละเป็นป่าไม้ที่ถูกต้อง เพราะ ทําหน้าที่เป็นป่าคือเป็นต้นไม้ และทําหน้าที่เป็นทรัพยากร ในด้านสําหรับเป็นผลที่มาเป็นประโยชน์แก่ประชาชนได้…”
พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการพัฒนาป่าไม้ เมื่อปี พ.ศ. 2523 - คนรักษ์สุขภาพ
“ร่างกายของเรานั้น ธรรมชาติสร้างมาสําหรับให้ออก แรงใช้งาน มิใช่ให้อยู่เฉยๆ ถ้าใช้แรงให้พอเหมาะพอดี โดยสม่ำเสมอ ร่างกายก็เจริญแข็งแรง คล่องแคล่ว และคงทนยั่งยืน ถ้าไม่ใช้แรงเลยหรือใช้ไม่พียงพอ ร่างกาย ก็จะเจริญแข็งแรงอยู่ไม่ได้แต่จะค่อยๆ เสื่อมไปเป็นลําดับ และหมดสมรรถภาพไปก่อนเวลาอันสมควร ดังนั้น ผู้ที่ ปกติทําการงานโดยไม่ได้ใช้กําลังหรือใช้กําลังแต่น้อย จึงจําเป็นต้องหาเวลาออกกําลังกาย ให้พอเพียง กับความต้องการตามธรรมชาติเสมอทุกวัน มิฉะนั้น จะเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่เขาจะใช้สติปัญญาความ สามารถของเขาทําประโยชน์ให้แก่ตนเอง และแก่ส่วนรวมได้น้อยเกินไป เพราะร่างกายอัน กลับกลายอ่อนแอลงนั้น จะไม่อํานวยโอกาส ให้ทําการงานโดยมีประสิทธิภาพได้”
พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช - คนมีไฟ
“…น้ํามันปาล์มทราบว่าดีเป็นน้ํามันที่ดีใช้งานได้ ใช้บริโภคแบบใช้น้ํามันมาทอดไข่ได้ มาทําครัวได้ เอาน้ํามันปาล์มมาใส่รถดีเซลได้ กําลังของน้ํามันปาล์มนี้ดีมากได้ผล เพราะว่าเมื่อได้มาใส่รถดีเซล ไม่ต้องทําอะไรเลย ใส่เข้าไป แล่นไป คนที่แล่นตามบอกว่าหอมดี…”
พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช - คนมีน้ำยา
“…การจะเป็นเสือนั้นไม่สําคัญ สําคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้ก็เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอําเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก…”
พระราชดํารัสพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2550 - คนติดดิน
“…ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียงความหมายคือ ทําอะไรให้ เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทําจากรายได้ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท คนชอบเอาคําพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกัน เลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียง คือทําเป็น Self-Sufficiency มันไม่ใช่ความหมายไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวี ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจํากัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกลๆ ที่ฉันไป เขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มี สตางค์ไปตัดสูทใส่ และยังใส่เนคไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป…”
พระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระตําหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล 17 มกราคม 2544