ปัจจุบันการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมบริการที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศไทย เป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าการท่องเที่ยวจะให้ผลดีทางเศรษฐกิจ แต่ก็ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบได้เช่นกัน ซึ่งผลกระทบในทางลบที่มีความสำคัญ อาจแบ่งได้เป็น 2 ประการ คือ (1) สร้างความเดือนร้อนให้แก่ชุมชน และ (2) ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม
ด้วยเหตุนี้หลายๆฝ่ายทั่วโลกมีแนวคิดที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เกิดผลกระทบในทางลบน้อยที่สุด โดยเพิ่มความตระหนักให้นักท่องเที่ยวเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และช่วยกันอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวให้คงสภาพที่ดีต่อไปนานๆ ในขณะเดียวกันก็ให้ชุมชนในท้องถิ่นได้เข้ามามี ส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว ร่วมกับหน่วยงานทั้งของรัฐ และของเอกชน เพื่อจะได้ดูแลทรัพยากรการท่องเที่ยวในท้องถิ่นของตนอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จากการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในด้านต่างๆ ด้วย
องค์การสหประชาชาติได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงประกาศให้ ค.ศ. 2017 เป็น ปีสากลแห่งการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุน เป้าหมายเพื่อ การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย โดยจะส่งเสริมบทบาทของการท่องเที่ยวในห้าประเด็นที่สำคัญดังนี้ (1) การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน (2) ครอบคลุมมิติทางสังคมในการจ้างงานและการลดความยากจน (3) การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4) คำนึงถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมหลากหลายและมรดกทางวัฒนธรรม (5) การสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงสันติภาพและความมั่นคง
สำหรับประเทศไทยนั้น ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ทำการศีกษา การท่องเที่ยวโดยชุมชน: ฐานคิดจากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2555 ซึ่งสามารถใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยงที่ยั่งยืนได้
ผู้สนใจทั่วไปสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ได้ที่ 2017 International Year และ World Tourism Organization
รูปจาก: Kay Phanthuwongpakdee
Last Updated on มกราคม 4, 2022