Site icon SDG Move

Towards Yangon Urban Growth Analytics / การวิเคราะห์การเจริญเติบโตของเมืองย่างกุ้ง

ปัจจุบัน สภาพปัญหาความอ่อนแอของระบบนิเวศของเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นผลพวงด้านหนึ่งจากการเติบโตของเมืองที่ไร้ระเบียบ และอีกด้านหนึ่งเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจในอดีต ที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการจัดหาและใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ในกระบวนการผลิตและรูปแบบของการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ทำให้ทรัพยากรอันจำกัดของประเทศและสิ่งแวดล้อม ถูกใช้สอยและทำลายเสื่อมสภาพทั้งปริมาณและคุณภาพจนเกือบหมดศักยภาพและยากที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ในทศวรรษที่ผ่านมา หลายๆประเทศ เริ่มให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาเมืองแนวใหม่ คือการพัฒนาเมืองใหม่ให้น่าอยู่อย่างยังยืน

ดร. ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี หนึ่งในนักวิจัยจากทีม SDGMove ได้ร่วมงานกับ สถาบันวิจัย LSE Cities (London School of Economics and Political Science) และ International Growth Centre (IGC) Myanmar Office จัดทำ รายงาน “Towards Urban Growth Analytics for Yangon” หรือ “การวิเคราะห์การเจริญเติบโตของเมืองย่างกุ้ง” โดยมีการนำข้อมูลของกรุงเทพมหานครมาเปรียบเทียบ

(Download รายงานได้ที่นี่)

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการออกแบบและพัฒนาเมืองในช่วงเวลาที่สังคม การเมือง และเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองต้นแบบสำคัญในระดับภูมิภาคที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาประวัติการเติบโตจากอดีตถึงปัจจุบันและการทำความเข้าใจกับนโยบายการเสริมความมั่นคงในฐานะเป็นมหานครชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นเกณฑ์การเปรียบเทียบกับการพัฒนาย่างกุ้ง รายงานฉบับนี้ให้ความสนใจต่อความสำเร็จในด้านต่างๆของกรุงเทพมหานคร เช่นการเจริญเติบโตของการท่องเที่ยวที่ทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นอันดับสองของโลกในปี 2015 และมากที่สุดในโลกในปี ค.ศ. 2016

นอกจากนี้รายงานฉบับนี้ก็ยังให้ความสนใจต่อปัญหาต่างๆโดยเฉพาะปัญหาจราจรติดขัดซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมานานหลายปี ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนนิยมเดินทางโดยรถส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก ทางรัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ลักษณะการเดินทางในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า ผู้เดินทางยังไม่นิยมใช้ระบบขนส่งสาธารณะเท่าที่ควร สาเหตุที่สำคัญส่วนหนึ่งมาจากผู้ที่เกี่ยวข้อง กับการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ ยังขาดความเข้าใจลักษณะการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่

รถติดใน กทม.

แม้ว่าเป้าหมายหลักของรายงานฉบับนี้คือการช่วยสร้างฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาเมืองย่างกุ้งของประเทศพม่า ทางทีมวิจัยยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีสนใจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานครไม่มากก็น้อย

Download Full Report Here / ดาวน์โหลด รายงานได้ที่นี่

 

 

Author

Exit mobile version