วิชาภูมิศาสตร์ และ การพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2560 ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี จากโครงการ SDGMove ร่วมกับ ดร.เกียรติศักดิ์ ตั้งรุ่งเรืองอยู่ ได้ไปเผยแพร่ความรู้ และเปิดมุมมองงานวิจัยเชิงคุณภาพด้านภูมิศาสตร์ในประเทศไทยให้คณาจารย์ นิสิต และผู้สนใจได้ฟัง แลกเปลี่ยน เรียนรู้ในเชิงวิชาการ ณ ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) แม้งานวิจัยเชิงคุณภาพในการศึกษาภูมิศาสตร์นั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย นักวิจัยในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา เยอรมัน ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือ เม็กซิโก ได้มีการนำงานวิจัยเชิงคุณภาพมาใช้กันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในสายภูมิศาสตร์มนุษย์ (Human Geography)

London-private-geography-tutors

 

เมื่อนึกถึง วิชาภูมิศาสตร์ (Geography) หลายๆคนมักจะนึกถึงการวาดแผนที่ ระบบสารสนเทศ หรือการอธิบายภูมิทัศน์ของโลกเพียงเท่านั้น อันที่จริงแล้ว วิชาภูมิศาสตร์เป็นวิชาที่:

  1. ให้ความสำคัญต่อการศึกษาที่นำมาซึ่งความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติแวดล้อม
  2. พยายามทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดจากสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของรัฐ  ทั้งที่เป็นปัญหาภายในชุมชน ภูมิภาค ประเทศ และระหว่างประเทศ
  3. ศึกษาทำความเข้าใจจนสามารถอธิบายหรือคาดการณ์  และเสนอแนะวิธีหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาความรุนแรงจากปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และ ธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้
  4. เชื่อมระหว่างวิทยาศาสตร์ (Natural Science) และสังคมศาสตร์ (Social Science)

ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์  เป็นเพียงหนึ่งในศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ที่ช่วยในการว่างแผนและการตัดสินใจในงานหรือกิจการต่างๆ แต่นอกจากนี้นักภูมิศาสตร์หลายคนได้นำศาสตร์ทางภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นภูมิศาสตร์กายภาค (physical geography) หรือ ภูมิศาสตร์มนุษย์ (human geography) มาใช้ในการทำความเข้าใจความรู้ต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็น ระบบเศรษฐกิจของพื้นที่ ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคระบาด สภาพทางภูมิศาสตร์ที่ส่งผลต่อการตั้งถิ่นฐาน ปัญหาในการกำหนดแนวเขตแดนระหว่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

“…ในการพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศทางสังคมวิทยา คือ นิสัยใจคอของคนเราจะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไป ไปช่วย โดยที่จะคิดให้กับเขาเข้ากับเราไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้ว เราต้องเข้าไปดูว่า เขาต้องการอะไรจริงและก็อธิบายให้เขาเข้าใจ หลักของการพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง…” พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ 18 กรกฎาคม 2517

qa-1-banner

นอกจากนี้ ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดีได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) และ การปรับตัวต่อภัยพิบัติในประเทศไทย ส่วน ดร.เกียรติศักดิ์ ได้เน้นถึงกรณีศึกษาผลกระทบของ Environmental Impact Assessment (EIA) ต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เกิดผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

ทั้งสองท่านได้เน้นย้ำว่าประเทศไทย ได้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยขาดความระมัดระวัง และคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม จึงมีผลทำให้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และการแพร่กระจายของปัญหามลพิษ ที่ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอาทิเช่น พื้นที่สีเขียว (ไม่ว่าจะเป็น ป่า หรือ อุทยาน) ถูกบุกรุกทำลาย จนมีสัดส่วนไม่เหมาะสม กับการรักษาสภาพความสมดุลของระบบนิเวศ ที่ก่อให้เกิดภาวะน้ำเน่าเสียในแม่น้ำสายหลัก ภาวะอากาศเสียในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และตามเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศอันเนื่องมาจากควันพิษรถยนต์ การเกิดปรากฏการโลกร้อน เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็น ปัจจัยสำคัญของการพัฒนาประเทศมีสภาพที่ พร้อมสนับสนุนการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อ ไปนั้น การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องและเหมาะสม การจึงเป็นวิธีการที่จำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อที่จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไว้ให้พวกเราทุกคนได้พึ่งพาอาศัยอย่าง ยาวนานต่อไป

17202777_887561161386109_1389091188207055354_n

ทางทีม SDGMove ต้องขอขอบคุณอาจารย์ ดร.ปกรณ์ เมฆแสงสวย อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สำหรับโอกาสดีๆและรูปถ่าย

Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น