เพราะน้ำมีความจำเป็นต่อมนุษย์ ทำให้น้ำมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะใช้ในเรื่องการอุปโภคและบริโภค เพียงแค่เราขาดน้ำไปหนึ่งวัน ความทรมานก็บังเกิดขึ้น แต่กระนั้นผู้คนมากมายก็ยังคงใช้น้ำแบบไม่กลัวจะหมดไปจากโลกกันเลยทีเดียว แม้ว่าพื้นที่ 2 ใน 3 ของโลกจะเป็นน้ำ แต่ส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็มที่พบได้ในทะเลและมหาสมุทร มีเพียงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่เป็นน้ำจืด แต่ทว่าน้ำจืดส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็งบริเวณขั่วโลก ที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้ด้วย แหล่งน้ำจืดที่นำมาอุปโภคและใช้ประโยชน์ได้นั้นมาจากทะเลสาป อ่างเก็บน้ำ แม่น้ำ น้ำบาดาล และลำธาร ซึ่งมีจำนวนเพียง 26% ของน้ำจืดทั้งหมด และน้ำจืดในปริมาณดังกล่าว ยังมีส่วนหนึ่งที่อยู่ในสภาพปนเปื้อนและมีสารพิษ ต้องทำการบำบัดก่อนนำมาใช้อีกด้วย
เพื่อระลึกถึงความสำคัญของน้ำ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในหมู่มวลมนุษยชาติ ในเรื่องการอนุรักษ์น้ำ และการพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากการประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิลในวันที่ 22 มีนาคมปี พ.ศ.2536 สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันน้ำโลก” หรือ World Water Day เพื่อระลึกถึงความสำคัญของน้ำ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องการอนุรักษ์น้ำ การบำรุงรักษาแหล่งน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ และจัดการทรัพยากรน้ำจืดอย่างยั่งยืนสำหรับอนาคต จากการที่น้ำจืดของโลกขาดแคลนมากขึ้น และอาจก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำขึ้นได้ในอนาคต นอกจากนี้องค์การสหประชาชาติยังจัดให้น้ำเป็นหนึ่ง (Goal 6)ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย (Sustainable Development Goals หรือ SDGs)
องค์การสหประชาชาติยังได้กำหนดนโยบายการจัดการแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน 5 ประการ ได้แก่
1. การจัดการให้พื้นที่ที่มีความต้องการใช้น้ำมากที่แตกต่างกันได้มีโอกาสใช้น้ำอย่างเท่าเทียมกัน
2. การอนุรักษ์แหล่งน้ำ โดยพัฒนาแหล่งน้ำให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อแหล่งน้ำ
3. การควบคุมดูแลการใช้น้ำจากแหล่งต้นน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณการใช้น้ำของแหล่งปลายน้ำ
4. การจัดการกับปัจจัยอื่นๆ โดยดูแลปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อแหล่งน้ำ
5. การจัดการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเหมาะสม
ซึ่งปีนี้ (ปี 2560) ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการกระจายน้ำช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยจัดสรรน้ำในเขื่อนทั่วประเทศที่มี ปีนี้มีปริมาณมากกว่าปีก่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากใน 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง เนื่องจากปรากฏการณ์แอลนีโญ่ (El Niño) ฝนทิ้งช่วง จนทำให้ชาวบ้านใน 68 จังหวัด 391 อำเภอ ทั่วประเทศ ได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ทั้งในชีวิตประจำวันและการเกษตร
คลิ๊ก เพื่ออ่านข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำของประเทศไทย ปี 2560
ข้อมูล : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
Last Updated on ธันวาคม 20, 2021