กูรีตีบา: เมืองนวัตกรรม ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง

เมื่อนึกถึงเมืองในประเทศบราซิล หลายๆคนก็คงจะนึกถึงแต่ เซาเปาลู (São Paulo) เมืองศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ หรือ ริโอ เดอ จาเนโร (Rio de Janeiro) เมืองท่องท่องเที่ยงที่แสงจะโด่งดัง หรือบางคนอาจจะยังนึกถึง บราซิเลีย (Brasília) เมืองหลวงของประเทศ มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะนึกถึงเมือง กูริติบา (Curitiba ออกเสียงตามภาษาโปรตุเกสแบบบราซิลว่า กู-ฮิ-ชี-บา) เมืองหลวงของรัฐปาราน่า (Paraná) ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐทางตอนใต้ของประเทศ แม้ว่าเมือง กูริติบา จะไม่ใช่เมืองที่ใหญ่ที่สุด หรือเมืองที่น่าเที่ยวที่สุดของประเทศบราซิล แต่ทว่าเมืองๆนี้กลับมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเมืองที่ได้พิสูจน์แล้วว่า บางครั้งนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ก็เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่บีบคั้น และไม่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุดหรือมีราคาแพงที่สุด

2036-curitiba-locator-map (1).jpg

ในอดีตเป็นกูริติบาเป็นเพียงแต่เมืองเกษตรที่ไม่มีใครสนใจ จนถึงช่วงที่คลื่นผู้อพยพเข้ามาอาศัยตั้งแต่ศตวรรษที่ 1830 เป็นต้นมา ชาวเยอรมัน โปแลนด์ อิตาลี และยูเครน ที่ค่อยๆ ทยอยเข้ามาหาโอกาสในชีวิตใหม่ ก็ได้ลงหลักปักฐานพร้อมกับการนำเอาวัฒนธรรม วิถีชีวิต รวมถึงการสร้างงานในลักษณะอุตสาหกรรมแบบท้องถิ่นติดตัวมาด้วย ทำให้เศรษฐกิจจากผู้มาใหม่ได้ก่อร่างสร้างให้เมืองแห่งนี้ค่อยๆ เติบโตขึ้น และเหมือนกับเมืองที่กำลังขยายทั่วโลก ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1940 เป็นต้นมา กูรีตีบาต้องรับมือกับประชากรใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่เข้ามาหาโอกาสในเมืองที่ดูท่าว่าจะมีอนาคตที่สดใสรออยู่ รอบเมืองกูรีตีบาจึงกลายเป็นที่ตั้งของชุมชนแออัดของผู้คนที่เข้ามาหาโอกาส พร้อมๆ กับความท้าทายใหม่จากปัญหาการจราจรที่เริ่มคับคั่งขึ้นเรื่อยๆคล้ายกับอีกหลายๆเมืองในบราซิล

Curitiba_Centro
Photo by Francisco Anzola

เพื่อแก้ปัญหาต่างๆในเมือง นักวางแผนเมืองหลายๆคนในประเทศบราซิลต่างต้องการที่จะพัฒนา กูริตีบา ตามแบบเมืองหลวง บราซิเลีย เมืองที่ถูกสร้างจากพื้นที่ว่างเปล่าภายในสี่ปีแต่เนื่องด้วยปัญหาภายในประเทศในช่วงปี 1960s เช่นการก่อรัฐประหารเมื่อปี 1964 การพัฒนาเมืองกูรีตีบากลับไม่คืบหน้า จนกระทั่ง ไจเม เลร์เนอร์ (Jaime Lerner) ได้รับตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีของเมือง เลร์เนอร์ ปฏิเสธการพัฒนาเมืองตามบราซิเลีย เพราะเขาเห็นว่าเมืองกูรีตีบาจะสูญเสียทั้งประวัติศาสตร์และความเป็นเอกลักษณ์

ก่อนที่เลร์เนอร์จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรี เขาเคยเป็นสถาปนิกและนักวางผังเมืองที่ Instituto de Pesquisa Planejamento Urbano de Curitiba (IPPUC หรือ Institute for Research and Urban Planning of Curitiba) ซึ่งภายหลังจากที่เขาขึ้นมาเป็นผู้นำของเมืองกูรีตีบา เลร์เนอร์และทีมงานเดิมที่ IPPUC ได้ร่วมกันวางแผนพัฒนาเมืองโดยมีวิสัยทัศน์การพัฒนาที่ต่างไปจากตัวอย่างเมืองใหญ่อื่นๆ ในประเทศแถบอเมริกาใต้ เขาและทีมงานจึงมีกรอบในการสร้างสรรค์และพัฒนาเมืองแห่งนี้โดยมีความตั้งใจที่จะทำให้กูรีตีบากลายเป็นเมืองที่ทุกคนสามารถอาศัย ใช้ชีวิต ทำงาน และพักผ่อนได้ในพื้นที่เดียวกัน

28410_480x360
Jaime Lerner (photo from TED)

สิ่งแรกที่เลร์เนอร์แก้ไขคือการจัดระเบียบการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองในเรื่องของการใช้ถนน จากการสังเกตเห็นว่า ผู้คนชอบจอดรถไว้ข้างทางเพื่อแวะซื้อของจนทำให้การจราจรติดขัดวุ่นวาย แต่พอถึงช่วงเวลาที่ร้านค้าปิด ย่านนั้นๆ ก็กลับกลายเป็นเหมือนเมืองร้าง ปัญหาจึงไม่ใช่ว่าคนขาดระเบียบ แต่เป็นพื้นที่ที่ต้องเอื้อให้เห็นว่า คนในเมืองสำคัญกว่ารถยนต์ เขาและทีมงานจึงวางแผนที่จะลองเปลี่ยนย่านช้อปปิ้งกลางเมืองของถนนบางสายให้กลายเป็นโซนถนนคนเดิน ซึ่งเมื่อแผนการนี้ออกไปถึงหูชาวเมือง ก็เกิดการต่อต้านจนกระทั่งชาวเมืองบางคนก็เตรียมยื่นข้อเรียกร้องตามกฎหมายเพื่อคัดค้านแผนการนี้ เลร์เนอร์จึงตัดสินใจลงมือทำตามแผนให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด และมีระยะเวลาทดลอง 30 วัน แผนนี้กลับประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับที่ดี แลร์เนอร์จึงได้ขยายโครงการต้นแบบนี้เพื่อใช้กับถนนสายอื่นในเมืองด้วยเช่นกัน ทำให้ในปัจจุบัน ย่านช้อปปิ้งใจกลางเมืองกูรีตีบาจึงมีลักษณะเป็นเครือข่ายเดินถึงกันได้ ซึ่งไม่เอื้อต่อการนำรถยนต์ส่วนบุคคลเข้าไป แต่จะมีเพียงรถประจำทาง จักรยานและการเดินเท่านั้นที่เหมาะแก่การเข้ามาสู่ใจกลางเมือง

ในขณะที่หลายเมืองทั่วโลกแก้ปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดบนท้องถนนด้วยการลงทุนสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน ในปี 1974 เลร์เนอร์และทีมงานเลือกที่จะพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างรถประจำทางทั้งหมดของเมืองใหม่ให้มีระบบและเครือข่ายเดียวกัน ต่อมาในช่วงปี 1980เลร์เนอร์ยังออกแบบสถานีรอรถประจำทางใหม่ให้มีลักษณะเป็นท่อขนาดใหญ่ (Tube) ไว้ให้ผู้โดยสารพัก บังแดด และไว้จ่ายค่าโดยสารก่อนขึ้นรถ และเมื่อรถประจำทางมาถึงก็จะจอดที่หน้าประตูสถานีซึ่งมีระดับความสูงเดียวกันกับตัวรถประจำทาง ผู้โดยสารจึงไม่ต้องแย่งกันขึ้นบันไดรถซึ่งการออกแบบสถานีรอรถประจำทางในลักษณะนี้ยังรองรับการให้บริการสำหรับผู้ที่ใช้เก้าอี้รถเข็นอีกด้วย

1024px-Bus_Stops_2_curitiba_brasil.jpg
รูปจาก Wikipedia

ต่อมาเลร์เนอร์และทีมงานได้ริเริ่มโครงการที่มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนภายในเมืองโครงการใหญ่ๆคือ:

The Green Exchange  โดยมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมภาย โดยโครงการนี้จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ชาวเมืองคัดแยกขยะเพื่อนำมารีไซเคิล ซึ่งเริ่มแรกได้มีการปลูกฝังเด็กๆ รวมทั้งการให้รางวัลชาวเมืองที่ทำการคัดแยกขยะและนำขยะมาแลกเปลี่ยนเป็นตั๋วขึ้นรถประจำทางฟรีและอาหารฟรี  รวมทั้งยังกระตุ้นให้เด็กๆ ในโรงเรียนนำขยะที่รีไซเคิลได้มาแลกเป็นอุปกรณ์การเรียน ขนม และบัตรผ่านเข้าชมโชว์ต่างๆ ที่จัดขึ้นในเมืองอีกด้วย โดยผลสำเร็จของโครงการ The Green Exchange นี้ทำให้กูรีตีบากลายเป็นเมืองที่มีการรีไซเคิลสูงและหนึ่งในผลงานที่สร้างสรรค์มาจากขยะในเมืองก็คือ Wire Opera House โอเปร่าเฮาส์กลางสวนในเมืองกูรีตีบาที่เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวของนักเดินทางเช่นกัน

Solution of the Parks คือนโยบายคืนความยั่งยืนให้เมืองของเลร์เนอร์ กูรีตีบาก็กลายเป็นเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 50 ตารางเมตรสำหรับประชากร 1 คน โดยพื้นที่สีเขียวที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้เกิดจากการฟื้นฟูพื้นที่ทิ้งร้าง พื้นที่ทิ้งขยะและเหมืองหินเก่าให้กลายเป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชน โดยที่ชาวเมืองได้อาสาช่วยกันปลูกต้นไม้ในสวนใกล้บ้านเป็นจำนวนรวมแล้วกว่า 1.5 ล้านต้น ปัจจุบันเมืองแห่งนี้จึงมีจำนวนสวนย่อมกว่า 1,000 แห่งและสวนใหญ่กว่า 5 แห่ง โดยสวนในเมืองเหล่านี้เองนอกจากจะเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจสำหรับชาวเมืองและเป็นศูนย์เรียนรู้กลางแจ้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่แล้ว บ่อน้ำในสวนแต่ละแห่งยังมีหน้าที่ช่วยระบายน้ำหากเกิดปัญหาน้ำท่วมในเมืองได้อีกด้วย

Estufa-Jardim-Botanico-Curitiba-out.JPG
รูปจาก wikipedia

Industrial Ecology คือ หลักในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมภายในเมืองกุรีตีบากับชาวเมืองและสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นอย่างเกื้อกูลและเป็นมิตร โดยการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมต่างๆ ร่วมมือกันทั้งในแง่การแลกเปลี่ยนวัตถุดิบซึ่งกันและกัน อย่างเช่น วัตถุดิบที่จัดว่าเป็นของที่ไม่ใช้ต่อแล้วของโรงงานหนึ่งสามารถนำมาแลกเปลี่ยนให้กับอีกโรงงานหนึ่งที่สามารถนำวัตถุดิบนั้นมาใช้ต่อได้ เป็นต้น รวมถึงการมีมาตรการให้ทุกโรงงานอุตสาหกรรมมีระบบการกำจัดของเสียภายในโรงงานก่อนปล่อยออกสู่สาธารณะ รวมทั้งการยกเว้นภาษีสำหรับพื้นที่เอกชนที่สร้างพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน

ในการทำงานของเลร์เนอร์และทีมงาน เริ่มจากการมีทัศนคติว่า ทุกอย่างสามารถทำได้ และที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สิ่งที่เป็นแบบฉบับความสำเร็จของกูรีตีบาคือ เมืองนี้ไม่ได้พึ่งพิงเงินก้อนใหญ่ แต่อยู่บนฐานของการมีส่วนร่วมของสาธารณชน ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความกล้าเผชิญความเสี่ยง การแก้ปัญหาของเมืองไม่ได้เกิดจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่เกิดจากการนำกลุ่มคนที่มีทักษะที่หลากหลายและประชาชนเข้าร่วมประชุมเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก:

oknation
the Guardian
TCDC

Last Updated on ธันวาคม 20, 2021

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น