เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560 สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยร่วมกับสถาบันวิจัยสังคมและศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน (Non-governmental organizations: NGOs) จากประเทศมาเลเซีย Dr. Denison Jayaysooria ผู้เป็นประธานร่วมในเครือข่าย CSO-SDG Alliance และสมาชิกของ the Malaysian SDG Steering Committee ซึ่งในครั้งนี้ Dr. Denison ได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องการทำงานขับเคลื่อน SDGs ของประเทศมาเลเซีย และบทบาทของ CSOs ในกระบวนการดังกล่าว บทเรียนของมาเลเซียน่าจะเป็นประโยชน์กับการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย
Dr. Denison Jayaysooria เป็นนักสังคมวิทยาที่ทำวิจัยเรื่องความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติเชื่อมโยงกับสิทธิและโอกาสด้านเศรษฐกิจและสังคมในประเทศมาเลเซียมาอย่างยาวนาน และมีส่วนร่วมกับการดำเนินการเป้าหมายระดับโลกมาตั้งแต่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) มาจนถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในบทบาทของนักวิชาการ ด้วยเหตุผลที่ว่าเขามองว่า SDGs จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการรวมเอาประเด็นของชนกลุ่มน้อยและปัญหาเรื่องชาติพันธุ์เข้ามาอยู่ในวาระการพัฒนาของประเทศมาเลเซีย
ประเทศมาเลเซียมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติคล้ายประเทศไทย เรียกว่า Malaysia Plan (MP) ปัจจุบันเป็นแผนที่ 11 (11MP) แผนดังกล่าวมีแนวคิดหลักคือ “Anchoring Growth on People” หรือ “ให้ผู้คนเป็นพื้นฐาน/เป้าหมายของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” ซึ่งมีรายละเอียดคือ ประชาชนเป็นพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ การเตรียมผู้คนสำหรับอนาคต และให้ทุกคนได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับแนวคิดหลักของ SDGs คือ “Leaving no one behind” การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ในรายละเอียดของทั้ง 11MP และ SDGs ก็มีโครงสร้างที่ใกล้เคียงกัน 11MP มีรายละเอียดของยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนฐานของ New Economic Model ที่จะต้องเป็นการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (Inclusivity) ยั่งยืน (Sustainability) และนำไปสู่การเพิ่มของรายได้ (High Income) ซึ่งใกล้เคียงกับมิติทางสังคม (People) สิ่งแวดล้อม (Planet) และเศรษฐกิจ (Prosperity) ของ SDGs
โครงสร้างการทำงานในการขับเคลื่อน SDGs ของประเทศมาเลเซียประกอบด้วย National SDGs Council (เป็นส่วนหนึ่งของ the National Action Committee) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีบทบาทในการกำหนดทิศทางของการดำเนินนโยบายเกี่ยวกับ SDGs กำหนดวาระแห่งชาติและหลักชัยสำหรับการดำเนินงาน และการเตรียมรายงานสำหรับ UN High Level Political Forum (HLPF)
ภายใต้ National SDGs Council จะมีคณะกรรมการขับเคลื่อน (Steering Committee) ที่มีผู้อำนวยการของ Economic Policy Unit (EPU) เป็นประธาน ซึ่งภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนจะมีคณะทำงาน 5 คณะ แยกตามกลุ่มของเป้าหมาย ดังนี้
- คณะทำงานด้าน Inclusivity – ครอบคลุมเป้าหมายที่ 1 ลดความยากจน เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพ และเป้าหมายที่ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ
- คณะทำงานด้าน Well-being – ครอบคลุมเป้าหมายที่ 3 ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 16 ด้านสันติภาพ ความยุติธรรมและสถาบันที่เข้มแข็ง
- คณะทำงานด้าน Human Capital – ครอบคลุมเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
- คณะทำงานด้าน Environment & Natural Resources – ครอบคลุมเป้าหมายที่ 6 น้ำสะอาดและสุขาภิบาล เป้าหมายที่ 7 พลังงานที่สะอาดและจ่ายได้ เป้าหมายที่ 12 การบริโภคและผลิตที่รับผิดชอบ เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายที่ 14 การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทร เป้าหมายที่ 5 การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบนบกและน้ำจืด
- คณะทำงานด้าน Economic Growth – ครอบคลุมเป้าหมายที่ 8 งานที่ดีและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 17 หุ้นส่วนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ภายใต้แต่ละคณะจะมีกลุ่มทำงานย่อย (working group) จำเพาะเจาะจงสำหรับแต่ละเป้าหมาย มีตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วม แม้ภาครัฐมีแนวโน้มจะเชิญเฉพาะภาคประชาสังคมที่ไม่ขัดแย้งกับรัฐมากนัก แต่ในภายหลังก็เริ่มเปิดกว้างมากขึ้น มีการเชิญกลุ่มองค์กรพิทักษ์สิทธิชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ เข้ามาร่วมมากขึ้น
ภาคประชาสังคมในมาเลเซียที่ขับเคลื่อนหลัก ๆ คือเครือข่ายของ CSO-SDGs Alliance เครือข่ายนี้มีการรวมตัวกันตั้งแต่ก่อนที่ SDGs จะผ่านการให้คำมั่นจากผู้นำประเทศต่าง ๆ เสียอีก พร้อมทั้งมีการทำข้อมูลด้าน SDGs จากภาคประชาสังคมก่อนที่ภาครัฐจะเริ่มตื่นตัว ฉะนั้นภาครัฐจึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับเครือข่ายนี้พอสมควร นอกจากนี้เครือข่ายนี้ยังพยายามสร้าง platform เพื่อให้ CSOs ทุกองค์กรทั่วมาเลเซียได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ความคิดเห็น รวมถึงเป็นช่องทางให้องค์กรเหล่านั้นทำข้อมูลใด ๆ ก็ตามเกี่ยวกับ SDGs และส่งไปยังรัฐบาล โดยไม่มีการกีดกันและให้เครดิตกับองค์กรที่เข้าร่วมอย่างเต็มที่ ซึ่ง Platform เหล่านี้ ทาง CSO-SDGs Alliance ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลายมหาวิทยาลัยในมาเลเซียในการจัดเวทีให้ CSO ทั่วประเทศเข้าร่วมบทสนทนาเรื่อง SDGs แน่นอนว่า CSOs ในมาเลเซียก็มีความหลากหลายทั้งในเชิงประเด็น พื้นที่ และจุดยืน อาจร่วมมือกันบ้างหรือไม่เป็นด้วยกันบ้าง แต่เครือข่ายนี้ก็จะแจ้งข่าวสารให้กับทุกองค์กรอย่างสม่ำเสมอและพยายามเปิดให้ทุกองค์กรเข้าถึงได้อย่างเต็มที่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ทำตัวเป็น Gate Keeper ของรัฐบาล
ความตื่นตัวของภาคประชาสังคมและริเริ่มการขับเคลื่อนก่อนภาคส่วนอื่น ๆ นั้นเป็นความแตกต่างที่สำคัญจากกรณีประเทศไทย ในประเทศไทยภาคประชาสังคมตื่นตัวขึ้นมาพร้อม ๆ กับภาครัฐ และไม่มีองค์กรใดถือธงนำหรือริเริ่มสร้าง platform ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ต่างจากมาเลเซียที่มี CSO-SDGs Alliance เป็นผู้นำในการริเริ่มสร้าง platform เรื่อง SDGs ด้วยเหตุนี้การขับเคลื่อนเรื่อง SDGs ในประเทศมาเลเซียจึงเป็นไปได้ง่ายกว่า
CSO-SDGs Alliance ทำการ Mapping CSOs ที่มีอยู่ในเครือข่ายและพบว่ามีอยู่ประมาณ 30 CSOs (ประกอบด้วยองค์กรร่ม 4 องค์กรที่มีองค์กรย่อยอยู่ภายใต้ประมาณ 350 องค์กร และอีก 26 องค์กร) ซึ่งทั้ง 30 CSOs เหล่านี้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย CSOs เหล่านี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทหลักคือ
- CSOs ด้านการพัฒนาและการให้บริการทางสังคม
- CSOs ด้านสิทธิมนุษยชน
- 3. CSOs ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social enterprises)
- องค์กรด้านการวิจัย-Think Tank ด้านนโยบายและการประเมินผลกระทบ
งานที่ CSO-SDGs Alliance ทำเกี่ยวกับ SDGs มีอยู่ 7 ประการคือ
- การสร้างความตระหนักรู้เรื่อง SDGs
- การจัดทำโครงการและบริการที่สังคมที่สอดคล้องกับ SDGs
- โครงการด้านการพัฒนาชุมชน
- โครงการด้านการพัฒนาศักยภาพและเทรนนิ่ง
- การให้ทุน บริการทางการเงิน หรือโครงการสร้างรายได้
- การเก็บข้อมูล วิจัย และติดตามเรื่อง SDGs
- การสนับสนุน/คัดค้านนโยบาย
จากมุมมองของ ดร. Denison การทำงานของ CSOs ที่เกี่ยวข้องกับ SDGs มีศักยภาพที่เป็นประโยชน์กับงานด้านพัฒนาหลายอย่าง ประการหนึ่งคือ SDGs มีกลุ่มเป้าหมายที่ค่อนข้างจำเพาะเจาะจงที่คนชายขอบหลายกลุ่ม ทั้งเยาวชน เด็ก ผู้หญิง คนพื้นเมือง คนพิการ คนจนในเมือง คนไร้สัญชาติ แรงงานพลัดถิ่น หมายความว่าคนกลุ่มเหล่านี้ถูกรวมเข้ามาอยู่วาระการพัฒนาอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้การติดตามเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับคนกลุ่มเหล่านี้เป็นระบบมากขึ้นตามไปด้วย ประการที่สอง การทำงานของ CSOs มีศักยภาพที่จะทำการศึกษาประเด็น SDGs ในระดับจุลภาค โดยใช้วิธีการศึกษาเชิงลึกหรือเชิงชาติพันธุ์ (Ethnographic) ได้ ข้อค้นพบจากการศึกษาดังกล่าวยังสามารถใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินผลกระทบของนโยบายการพัฒนาต่าง ๆ ได้อีกด้วย ประการที่สาม SDGs เปิดโอกาสให้มีการฝึกอบรมอาสาสมัคร คนทำงาน CSO และชาวบ้าน ในเรื่องการเก็บข้อมูลและทำวิจัย เพื่อติดตาม SDGs ในระดับท้องถิ่น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้เห็นภาพรวมของความก้าวหน้าและผลกระทบของนโยบายการพัฒนาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ส่วนการศึกษาระยะยาวเพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงก็มีความจำเป็นเช่นกัน และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่าง ๆ
Last Updated on มกราคม 4, 2022