สวัสดี SDGs (2) – ว่าด้วยเป้าหมาย (Goals) 17 เป้าของ SDGs

สำหรับ บทที่ 2 นี้เราจะมาคุยกันเรื่องรายละเอียดของเป้าหมาย (Goals) ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) กันครับ ตอนแรกกะว่าจะอธิบายเรื่องเป้าประสงค์ (Targets) แต่เขียนไปเขียนมาแล้วรู้สึกว่าจะยาวไปหน่อย เอาไว้อธิบายขยายความในบทต่อไปน่าจะเหมาะกว่า

ภาษาที่ใช้ในการอธิบายของ UN และภาครัฐจะเป็นภาษาที่ค่อนข้างยาวและเป็นทางการ บทนี้เราจะคุยกันด้วยคำพูดที่มีความไม่เป็นทางการมากนักและพยายามดึงคีย์เวิร์ดที่สำคัญออกมาพูดกันให้เห็นภาพกันให้ชัดเจน ซึ่งชื่อเต็ม ๆ ของ 17 เป้าหมายตามคำแปลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. – สภาพัฒน์ฯ) ท่านผู้อ่านสามารถไปติดตามได้ที่ลิงค์นี้ หรือถ้าชอบเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษก็ไปที่นี่ได้เลยครับ ในบทความนี้เราจะพยายามอธิบายประเด็นเหล่านี้ด้วยภาษาที่ไม่ซับซ้อนนัก

ก่อนที่เราจะเข้าเรื่อง 17 เป้าหมายนั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า เป้าหมาย 17 เป้าหมายนั้น จริง ๆ เป็นเพียงวิธีการที่ UN พยายามจะสื่อสารประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนที่หลากหลายและซับซ้อนให้คนทั่วไปเข้าใจง่ายเท่านั้น ในความเป็นจริง SDGs นั้นเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่อยู่บนฐานของแนวคิดดังนี้

  • Inclusive Development คือ การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง การพัฒนาที่คนยากจน คนเปราะบาง คนชายขอบจะต้องมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการพัฒนา
  • Universal Development คือ มิใช่การพัฒนามุ่งเน้นที่ประเทศยากจนเท่านั้น แต่ทุกประเทศเองก็อยู่ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและต้องร่วมกันบรรลุเป้าหมายนี้เพื่อสร้างโลกที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นหลัง
  • Integrated Development คือ การพัฒนาที่บูรณาการ หมายถึงว่า การบรรลุเป้าหมาย SDGs จะทำเพียง 1 เป้าหมายหรือ 1 เป้าประสงค์โดด ๆ ไม่ได้ เป้าหมาย SDGs มีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นในระดับเป้าประสงค์ (Targets) การบรรลุ SDGs จะต้องดำเนินไปพร้อม ๆ กันอย่างเป็นระบบ
  • Locally-focused Development คือ การพัฒนาที่จะต้องเริ่มจากระดับท้องถิ่น หรือ bottom-up ด้วยเหตุผลที่ว่า บริบทของท้องถิ่น ทั้งชนบทและในเมืองนั้น เป็นบริบทที่ใกล้กับตัวผู้คนที่สุด และองค์กรที่บริหารจัดการเมืองหรือท้องถิ่นในชนบทเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการดำเนินการที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนในพื้นที่ การบรรลุ SDGs จึงต้องถูกนำไปพิจารณาในระดับท้องถิ่นให้ได้และดำเนินการในระดับท้องถิ่นให้ได้
  • Technology-driven Development คือ การพัฒนาที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการบรรลุ ทั้งเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร (ICT) และเทคโนโลยีจากการปฏิวัติด้านข้อมูล (Data Revolution) เพื่อทำให้ผลของการพัฒนาถูกเผยแพร่และถูกติดตามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ที่อธิบายมาทั้งหมดนั้นโดยสรุปคือ โปรดอย่ามองว่า 17 เป้าหมายนี้เป็น 17 แท่งที่ทำงานแยกส่วนกันนั่นเอง

เป้าหมาย SDGs มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย ตามภาพด้านล่าง

Screenshot 2017-06-01 21.11.12

เป้าหมาย 17 ข้อนี้สามารถแบ่งกลุ่มออกได้เป็น 5 กลุ่ม (แบ่งตามองค์การสหประชาชาติ ดู) ประกอบด้วย

  1. กลุ่ม People หรือกลุ่มด้านสังคม/ความเป็นอยู่ของผู้คน: ประกอบด้วยเป้าหมาย (1) การลดความยากจน (2) การขจัดความหิวโหย (3) สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (4) การศึกษาที่มีคุณภาพ และ (5) ความเท่าเทียมกันทางเพศ
  2. กลุ่ม Prosperity หรือกลุ่มด้านเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง: ประกอบด้วยเป้าหมาย (7) พลังงานที่สะอาดและจ่ายซื้อได้ (8) งานที่มีคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (9) อุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน (10) ลดความเหลื่อมล้ำ และ (11) เมืองและชุมชนยั่งยืน
  3. กลุ่ม Planet หรือกลุ่มด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: ประกอบด้วย เป้าหมาย (6) น้ำและสุขาภิบาล (12) การผลิตและบริโภคที่รับผิดชอบและยั่งยืน (13) การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (14) ระบบนิเวศทางทะเลและมหาสมุทร และ (15) ระบบนิเวศบนบก
  4. กลุ่ม Peace หรือกลุ่มด้านสันติภาพ: ประกอบด้วยเป้าหมาย (16) สันติภาพและสถาบันที่เข้มแข็ง
  5. กลุ่ม Partnership หรือกลุ่มหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา: ประกอบด้วยเป้าหมาย (17) หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา
5P
ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเป้าหมาย 5 P (จัดทำโดย SDG Move)

ซึ่งกลุ่ม People Prosperity และ Planet ก็สอดคล้องกับองค์ประกอบหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ มิติด้าน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ในการทำกิจกรรมด้านการพัฒนาด้านใดก็ตาม จะต้องคำนึงถึงทั้ง 3 ด้านนี้พร้อม ๆ กัน เช่น หากมุ่งพัฒนาด้านเศรษฐกิจก็ต้องพิจารณาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย หากจะมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมก็ต้องพิจารณาผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วยเป็นต้น

ส่วน Peace และ Partnership นั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นประเด็น Cross-cutting ที่จะช่วยสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของ 3 องค์ประกอบข้างต้น หมายความว่า มีความเกี่ยวข้องกับทุกเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น การมีสันติภาพในสังคมย่อมเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินการด้านอื่น ๆ และการมีชีวิตที่ดี การมีรัฐที่มีประสิทธิผลและรับผิดชอบ และไม่คอรัปชั่น ย่อมส่งผลอย่างสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกเป้าหมาย การมีหุ้นส่วนการพัฒนาและความช่วยเหลือจากประเทศพัฒนาแล้วก็จะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถ  ความสัมพันธ์ของเป้าหมายทั้ง 17 ข้อสามารถถูกนำเสนอด้วยภาพข้างต้น

อย่างไรก็ดี 17 เป้าหมายเป็นแค่การแบ่งตามประเด็นการพัฒนากว้าง ๆ เท่านั้น มิได้มีการลงรายละเอียดหรือมีขอบเขตหรือระบุประเด็นการพัฒนาที่ชัดเจนแต่อย่างใด ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราพูดถึง เป้าหมายที่ 3 เรื่องการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีนั้นครอบคลุมประเด็นอะไรบ้างเราก็ไม่รู้ หรือ เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน หมายถึงอะไร หมายถึงชุมชนเข้มแข็งแบบบริบทประเทศไทยหรือไม่ เป็นต้น

รายละเอียดของ SDGs ที่แท้จริง ที่จะทำให้เราเห็นเนื้อหา ขอบเขต และรายละเอียดของแต่ละเป้าหมาย (Goals) คือ รายละเอียดในระดับเป้าประสงค์ (Targets) ซึ่งจะกล่าวถึงในบทต่อไป

Last Updated on มิถุนายน 1, 2017

Author

One thought on “สวัสดี SDGs (2) – ว่าด้วยเป้าหมาย (Goals) 17 เป้าของ SDGs

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น