SDGs กับมุมมองการพัฒนาที่ยั่งยืนของคณะครูจังหวัดอุดรธานี (และสกลนคร)

โดย ดร. ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี | SDG Move

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ตัวแทนทีม SDG Move ประกอบด้วย อาจารย์ชล บุนนาค, อาจารย์อรรถเศรษฐ์ จริยธรรมานุกูล, ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี และ นางสาวนิภัทรา นาคสิงห์ ร่วมกับตัวแทนนักวิจัย ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-GREEN) ได้เดินทางไปยังอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ผ่านการอบรมให้ความรู้เรื่อง SDGs ในภาคเช้าและทำกิจกรรมเล่มเกมส์ SDGs ในช่วงบ่าย โดยผู้เข้าอบรมทั้งหมดเป็นตัวแทนคณะครูผู้สอนวิชาในหมวดสังคมศาสตร์จากหลากหลายโรงเรียนในจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดสกลนคร

DSCF2701.jpg

ครูทุกท่านกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้จัก “การพัฒนาที่ยั่งยืน” แต่ไม่เคยได้ยินคำว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) อย่างไรก็ตาม ต่างก็ให้ความสนใจกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมและการอภิปรายตลอดทั้งงาน

ทั้งนี้ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ก็คือเป้าหมายที่ประชาคมโลกตกลงร่วมกันที่จะใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานด้านการพัฒนาทั้งในมิติสังคม (People) เศรษฐกิจ (Prosperity) สิ่งแวดล้อม (Environment) สันติภาพ (Peace) และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnership) ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2558 ถึงเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี และมีเป้าหมาย  (Goals) ทั้งหมด 17 ข้อมีดังนี้:

  1. ขจัดความยากจน
  2. ขจัดความหิวโหย
  3. มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
  4. การศึกษาที่เท่าเทียม
  5. ความเท่าเทียมทางเพศ
  6. การจัดการน้ำและสุขาภิบาล
  7. พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้
  8. การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  9. อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน
  10. ลดความเหลื่อมล้ำ
  11. เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน
  12. แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน
  13. การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  14. การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล
  15. การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก
  16. สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก
  17. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยในแต่ละเป้าหมายก็จะมีเป้าประสงค์ (Targets) และตัวชี้วัด (Indicators) จำนวนหนึ่งที่วัดความสำเร็จของเป้าหมายนั้น ๆ

หลาย ๆ คนมักจะคิดว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs นั้นเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องที่ยากต่อการเข้า แต่จริงๆแล้ว SDGs นั้นถูกออกแบบมาให้เข้ากับทุกคน หลายเป้าหมาย (Goals) และ เป้าประสงค์ (Targets) มีความเกี่ยวข้องกับครู เด็กนักเรียน และเยาวชนโดยตรง

ภายในที่ประชุม ทีม SDG Move ได้ทดลองใช้เกมส์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับ SDGs ซึ่งการใช้เกมส์ในการอบรมครูครั้งนี้ได้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาด การมีส่วนร่วมของครูทุกท่านทำให้ทีมวิจัย SDG Move ได้ข้อมูลที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับการศึกษาและการพัฒนาจังหวัดอุดรธานีในยุคปัจจุบัน โดยเมื่อพูดคุยถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดอุดรธานีโดยใช้เป้าหมายและเป้าประสงค์ของ SDGs ครูหลายท่านกล่าวว่าจังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดใหญ่ที่มีการพัฒนาสูงเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสาน โดยในจังหวัดมีความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีมาก (เป้าหมายที่ 2) (แม้อาจจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพซึ่งก็คือโรคอ้วน) มีระบบน้ำที่ดี (เป้าหมาย 6) มีโรงพยาบาลซึ่งมีทีมแพทย์และพยาบาลที่ชำนาญการคอยช่วยเหลือประชาชนจากในจังหวัดและจากจังหวัดข้างเคียง (เป้าหมายที่ 3) มีถนนเส้นหลักที่มีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งช่วยในการเดินทางและขนส่งสินค้าไปยังส่วนอื่น ๆ ของประเทศไทยและไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (ประเทศลาว) ได้อย่างสะดวก (เป้าหมายที่ 8, 9, 11 และ 17) มีการสนับสนุนการผลิตของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (เป้าหมายที่ 8) ทั้งจากภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงการพัฒนาสถานที่ต่าง ๆ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว นำมาซึ่งโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนในท้องถิ่น

DSCF2641

อย่างไรก็ตาม จังหวัดอุดรธานีก็ยังมีปัญหามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาทางด้านการบุกรุกป่า การทิ้งของเสียลงแหล่งน้ำ (เป้าหมายที่ 15) ปัญหาการกำจัดขยะจากประชากรที่เพิ่มขึ้น (เป้าหมายที่ 12) ระบบขนส่งมวลชนที่ค่อนข้างล้าหลัง (เป้าหมายที่ 9 และ 11) ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ส่วนตัว (เป้าหมายที่ 13) ซึ่งก็ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่วนด้านพลังงานทดแทน(เป้าหมายที่ 7) ครูส่วนใหญ่ลงความเห็นว่ายังมีไม่มากพอเท่าที่ควร รวมถึงปัญหาความไม่โปร่งใสของระบบราชการและนักการเมืองท้องถิ่นหรือปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหาความไม่เท่าเทียมของสังคม (เป้าหมายที่ 16) การสร้างสิ่งก่อสร้าง เช่น อาคาร โรงเก็บของ หรือถนนบางเส้นที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือแม้กระทั่งปัญหาความไม่ลงรอยของผู้มีอำนาจซึ่งนำมาซึ่งการฆาตกรรม ครูผู้เข้าร่วมอบรมกล่าวว่า หากสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ จังหวัดก็จะสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

DSCF2707.jpg

เมื่อพูดคุยถึงการเชื่อมโยง SDGs และการศึกษาในระดับท้องถิ่น ครูหลายท่านเห็นตรงกันว่า การศึกษามีผลกระทบโดยตรงกับ SDGs เกือบจะทุกเป้าหมาย โดยครูได้ยกตัวอย่างเป้าหมายที่ 1 การยุติความยากจน ว่าการศึกษาที่ดีมีคุณภาพจะสามารถผลิตนักเรียนที่มีทักษะสำคัญในการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีรายได้ที่ดี ในบางโรงเรียน ครูนำทักษะและกิจกรรมที่จำเป็นมาประกอบในการเรียนการสอนแล้ว เช่น การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ออกไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน หรือการนำเอาความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อลดปัญหาด้านความยากจนและความหิวโหยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนประเด็นด้านเพศสภาพและความเสมอภาค ครูมองว่าไม่ใช่ประเด็นหลักของการศึกษาในหลาย ๆ โรงเรียน เพราะครูส่วนใหญ่จะพยายามอย่างที่สุดให้นักเรียนทุกคนได้รับการศึกษาที่ดี ประเด็นที่น่าสนใจคือปัญหาความยากจน หลายครั้งเด็กนักเรียนบางคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจเรียน มีความใฝ่เรียนและอยากเรียนต่อ แต่พ่อแม่ไม่มีกำลังสนับสนุน แต่ยังโชคดีที่รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้กู้เงินเรียน และหลาย ๆ มหาวิทยาลัยก็มีทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีสถานะยากจน แต่ทว่าปัญหาเรื่องรายได้หรือความยากจนของตัวครูเองกลับยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร ครูหลายท่านประสบกับปัญหาเรื่องหนี้สินครู ที่เป็นคำถามว่า ทำไมเรื่องหนี้สินจึงจะต้องเป็นเรื่องที่คู่กับวิชาชีพนี้ อันที่จริง หากคิดให้เป็นธรรม ก็คงต้องยอมรับว่าประเทศไทยเรามีโครงสร้างเงินเดือนในระบบราชการที่โบราณจนไม่เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

DSCF2629

อีกประเด็นที่ถูกหยิบยกออกมาบ่อยครั้งก็คือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ครูต่างเห็นตรงกันว่าเมื่อเด็กนักเรียนในจังหวัดมีการศึกษาที่ดี เด็ก ๆ จะเริ่มเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นการรักษาป่าไม้ แม่น้ำลำธาร และทะเล (ถึงแม้ว่าภาคอีสานจะไม่มีพื้นที่ติดทะเล) หรือผลกระทบทางลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (Climate Change) และการปรับตัวต่อภัยพิบัติ ครูหลายท่านกล่าวว่า ได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและสภาวะโลกร้อนเข้ามาอยู่ในการเรียนการสอนแล้ว บางโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีความหลากหลาย มีความน่าสนใจ และเกิดผลประโยชน์สูงสุดกับโรงเรียนในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น การใช้เวลานอกห้องเรียนเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ธรรมชาติในโรงเรียนและชุมชน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กในทุก ๆ ด้าน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

DSCF2740

คุณครูยังกล่าวในที่อบรมอีกด้วยว่า คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตจากภาครัฐเพื่อนำมาช่วยในการปรับตัว แต่ทว่าการปรับตัวต่อภัยพิบัติจะต้องเริ่มที่ตัวของประชาชนเองด้วย เช่น การเตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรค การเตรียมแผนพื้นฟูสภาพหลังภัยพิบัติได้ผ่านพ้นไปแล้ว หรือแม้กระทั่งทักษะในการว่ายน้ำ ซึ่งตรงนี้ ทีม SDG Move เห็นด้วยกับความสำคัญในการสอนทักษะง่าย ๆ เช่น การว่ายน้ำ ซึ่งอาจจะช่วยในการเอาตัวรอดเมื่อมีภัยพิบัติ ในอดีตเด็กเล่นน้ำตามลำคลอง เรียนรู้ที่จะว่ายน้ำเพื่อการเอาตัวรอด ว่ายน้ำเป็นโดยที่ไม่ต้องเสียสตางค์ไปเรียนที่โรงเรียนสอนว่ายน้ำ แต่เมื่อแหล่งน้ำธรรมชาติสกปรก เด็กหลายคนจึงว่ายน้ำไม่เป็น  เด็กจำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ใกล้ภูเขา ใกล้ป่า แต่กลับไม่รู้ว่าพืชชนิดไหนกินได้ สัตว์ชนิดไหนสามารถนำมาปรุงอาหารได้ ชนิดไหนห้ามเข้าใกล้เพราะอาจมีพิษ ในปัจจุบันหลายคนกลัวป่า กลัวต้นไม้ หลายคนเดินได้เพียงไม่กี่เมตรก็บ่นว่าเหนื่อยมากจนไม่สามารถเดินต่อไปได้

การอบรมครูในครั้งนี้ ทำให้ทางทีม SDG Move ตระหนักว่าปัญหาต่าง ๆ คนส่วนใหญ่มักจะรู้กันอยู่แล้ว แต่ทว่าน้อยคนนักที่จะนึกถึงการนำปัญหาและโอกาสมาเชื่อมกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกด้าน SDGs จึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ที่จะช่วยให้ทุกคนมองเห็นถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน ท้ายที่สุดนี้ ทางทีม SDG Move เล็งเห็นว่า ความรู้ของครูทุกท่านเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าคนในพื้นที่ ต่างก็รู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเอง ดังนั้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้วางนโยบายจะต้องเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นอย่างแท้จริง

 

Last Updated on มกราคม 4, 2022

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น