โดย ดร. ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี | SDG Move
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ตัวแทนทีม SDG Move ประกอบด้วย อาจารย์ชล บุนนาค, อาจารย์อรรถเศรษฐ์ จริยธรรมานุกูล, ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี และ นางสาวนิภัทรา นาคสิงห์ ร่วมกับตัวแทนนักวิจัย ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-GREEN) ได้เดินทางไปยังอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ผ่านการอบรมให้ความรู้เรื่อง SDGs ในภาคเช้าและทำกิจกรรมเล่มเกมส์ SDGs ในช่วงบ่าย โดยผู้เข้าอบรมทั้งหมดเป็นตัวแทนคณะครูผู้สอนวิชาในหมวดสังคมศาสตร์จากหลากหลายโรงเรียนในจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดสกลนคร
ครูทุกท่านกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้จัก “การพัฒนาที่ยั่งยืน” แต่ไม่เคยได้ยินคำว่า “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) อย่างไรก็ตาม ต่างก็ให้ความสนใจกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมและการอภิปรายตลอดทั้งงาน
ทั้งนี้ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ก็คือเป้าหมายที่ประชาคมโลกตกลงร่วมกันที่จะใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานด้านการพัฒนาทั้งในมิติสังคม (People) เศรษฐกิจ (Prosperity) สิ่งแวดล้อม (Environment) สันติภาพ (Peace) และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnership) ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2558 ถึงเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2573 ครอบคลุมระยะเวลา 15 ปี และมีเป้าหมาย (Goals) ทั้งหมด 17 ข้อมีดังนี้:
- ขจัดความยากจน
- ขจัดความหิวโหย
- มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
- การศึกษาที่เท่าเทียม
- ความเท่าเทียมทางเพศ
- การจัดการน้ำและสุขาภิบาล
- พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้
- การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
- อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน
- ลดความเหลื่อมล้ำ
- เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน
- แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน
- การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล
- การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก
- สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก
- ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยในแต่ละเป้าหมายก็จะมีเป้าประสงค์ (Targets) และตัวชี้วัด (Indicators) จำนวนหนึ่งที่วัดความสำเร็จของเป้าหมายนั้น ๆ
หลาย ๆ คนมักจะคิดว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs นั้นเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นเรื่องที่ยากต่อการเข้า แต่จริงๆแล้ว SDGs นั้นถูกออกแบบมาให้เข้ากับทุกคน หลายเป้าหมาย (Goals) และ เป้าประสงค์ (Targets) มีความเกี่ยวข้องกับครู เด็กนักเรียน และเยาวชนโดยตรง
ภายในที่ประชุม ทีม SDG Move ได้ทดลองใช้เกมส์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับ SDGs ซึ่งการใช้เกมส์ในการอบรมครูครั้งนี้ได้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาด การมีส่วนร่วมของครูทุกท่านทำให้ทีมวิจัย SDG Move ได้ข้อมูลที่น่าสนใจมากมายเกี่ยวกับการศึกษาและการพัฒนาจังหวัดอุดรธานีในยุคปัจจุบัน โดยเมื่อพูดคุยถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดอุดรธานีโดยใช้เป้าหมายและเป้าประสงค์ของ SDGs ครูหลายท่านกล่าวว่าจังหวัดอุดรธานี เป็นจังหวัดใหญ่ที่มีการพัฒนาสูงเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสาน โดยในจังหวัดมีความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีมาก (เป้าหมายที่ 2) (แม้อาจจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพซึ่งก็คือโรคอ้วน) มีระบบน้ำที่ดี (เป้าหมาย 6) มีโรงพยาบาลซึ่งมีทีมแพทย์และพยาบาลที่ชำนาญการคอยช่วยเหลือประชาชนจากในจังหวัดและจากจังหวัดข้างเคียง (เป้าหมายที่ 3) มีถนนเส้นหลักที่มีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งช่วยในการเดินทางและขนส่งสินค้าไปยังส่วนอื่น ๆ ของประเทศไทยและไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (ประเทศลาว) ได้อย่างสะดวก (เป้าหมายที่ 8, 9, 11 และ 17) มีการสนับสนุนการผลิตของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (เป้าหมายที่ 8) ทั้งจากภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง รวมถึงการพัฒนาสถานที่ต่าง ๆ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว นำมาซึ่งโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนในท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม จังหวัดอุดรธานีก็ยังมีปัญหามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาทางด้านการบุกรุกป่า การทิ้งของเสียลงแหล่งน้ำ (เป้าหมายที่ 15) ปัญหาการกำจัดขยะจากประชากรที่เพิ่มขึ้น (เป้าหมายที่ 12) ระบบขนส่งมวลชนที่ค่อนข้างล้าหลัง (เป้าหมายที่ 9 และ 11) ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ส่วนตัว (เป้าหมายที่ 13) ซึ่งก็ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ส่วนด้านพลังงานทดแทน(เป้าหมายที่ 7) ครูส่วนใหญ่ลงความเห็นว่ายังมีไม่มากพอเท่าที่ควร รวมถึงปัญหาความไม่โปร่งใสของระบบราชการและนักการเมืองท้องถิ่นหรือปัญหาการคอรัปชั่น ปัญหาความไม่เท่าเทียมของสังคม (เป้าหมายที่ 16) การสร้างสิ่งก่อสร้าง เช่น อาคาร โรงเก็บของ หรือถนนบางเส้นที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือแม้กระทั่งปัญหาความไม่ลงรอยของผู้มีอำนาจซึ่งนำมาซึ่งการฆาตกรรม ครูผู้เข้าร่วมอบรมกล่าวว่า หากสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ จังหวัดก็จะสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น
เมื่อพูดคุยถึงการเชื่อมโยง SDGs และการศึกษาในระดับท้องถิ่น ครูหลายท่านเห็นตรงกันว่า การศึกษามีผลกระทบโดยตรงกับ SDGs เกือบจะทุกเป้าหมาย โดยครูได้ยกตัวอย่างเป้าหมายที่ 1 การยุติความยากจน ว่าการศึกษาที่ดีมีคุณภาพจะสามารถผลิตนักเรียนที่มีทักษะสำคัญในการประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีรายได้ที่ดี ในบางโรงเรียน ครูนำทักษะและกิจกรรมที่จำเป็นมาประกอบในการเรียนการสอนแล้ว เช่น การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ออกไปสำรวจแหล่งท่องเที่ยวเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน หรือการนำเอาความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อลดปัญหาด้านความยากจนและความหิวโหยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนประเด็นด้านเพศสภาพและความเสมอภาค ครูมองว่าไม่ใช่ประเด็นหลักของการศึกษาในหลาย ๆ โรงเรียน เพราะครูส่วนใหญ่จะพยายามอย่างที่สุดให้นักเรียนทุกคนได้รับการศึกษาที่ดี ประเด็นที่น่าสนใจคือปัญหาความยากจน หลายครั้งเด็กนักเรียนบางคนมีความมุ่งมั่นตั้งใจเรียน มีความใฝ่เรียนและอยากเรียนต่อ แต่พ่อแม่ไม่มีกำลังสนับสนุน แต่ยังโชคดีที่รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้กู้เงินเรียน และหลาย ๆ มหาวิทยาลัยก็มีทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่มีสถานะยากจน แต่ทว่าปัญหาเรื่องรายได้หรือความยากจนของตัวครูเองกลับยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร ครูหลายท่านประสบกับปัญหาเรื่องหนี้สินครู ที่เป็นคำถามว่า ทำไมเรื่องหนี้สินจึงจะต้องเป็นเรื่องที่คู่กับวิชาชีพนี้ อันที่จริง หากคิดให้เป็นธรรม ก็คงต้องยอมรับว่าประเทศไทยเรามีโครงสร้างเงินเดือนในระบบราชการที่โบราณจนไม่เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
อีกประเด็นที่ถูกหยิบยกออกมาบ่อยครั้งก็คือประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ครูต่างเห็นตรงกันว่าเมื่อเด็กนักเรียนในจังหวัดมีการศึกษาที่ดี เด็ก ๆ จะเริ่มเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นการรักษาป่าไม้ แม่น้ำลำธาร และทะเล (ถึงแม้ว่าภาคอีสานจะไม่มีพื้นที่ติดทะเล) หรือผลกระทบทางลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม (Climate Change) และการปรับตัวต่อภัยพิบัติ ครูหลายท่านกล่าวว่า ได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและสภาวะโลกร้อนเข้ามาอยู่ในการเรียนการสอนแล้ว บางโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีความหลากหลาย มีความน่าสนใจ และเกิดผลประโยชน์สูงสุดกับโรงเรียนในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น การใช้เวลานอกห้องเรียนเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ธรรมชาติในโรงเรียนและชุมชน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กในทุก ๆ ด้าน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
คุณครูยังกล่าวในที่อบรมอีกด้วยว่า คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตจากภาครัฐเพื่อนำมาช่วยในการปรับตัว แต่ทว่าการปรับตัวต่อภัยพิบัติจะต้องเริ่มที่ตัวของประชาชนเองด้วย เช่น การเตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรค การเตรียมแผนพื้นฟูสภาพหลังภัยพิบัติได้ผ่านพ้นไปแล้ว หรือแม้กระทั่งทักษะในการว่ายน้ำ ซึ่งตรงนี้ ทีม SDG Move เห็นด้วยกับความสำคัญในการสอนทักษะง่าย ๆ เช่น การว่ายน้ำ ซึ่งอาจจะช่วยในการเอาตัวรอดเมื่อมีภัยพิบัติ ในอดีตเด็กเล่นน้ำตามลำคลอง เรียนรู้ที่จะว่ายน้ำเพื่อการเอาตัวรอด ว่ายน้ำเป็นโดยที่ไม่ต้องเสียสตางค์ไปเรียนที่โรงเรียนสอนว่ายน้ำ แต่เมื่อแหล่งน้ำธรรมชาติสกปรก เด็กหลายคนจึงว่ายน้ำไม่เป็น เด็กจำนวนไม่น้อยอาศัยอยู่ใกล้ภูเขา ใกล้ป่า แต่กลับไม่รู้ว่าพืชชนิดไหนกินได้ สัตว์ชนิดไหนสามารถนำมาปรุงอาหารได้ ชนิดไหนห้ามเข้าใกล้เพราะอาจมีพิษ ในปัจจุบันหลายคนกลัวป่า กลัวต้นไม้ หลายคนเดินได้เพียงไม่กี่เมตรก็บ่นว่าเหนื่อยมากจนไม่สามารถเดินต่อไปได้
การอบรมครูในครั้งนี้ ทำให้ทางทีม SDG Move ตระหนักว่าปัญหาต่าง ๆ คนส่วนใหญ่มักจะรู้กันอยู่แล้ว แต่ทว่าน้อยคนนักที่จะนึกถึงการนำปัญหาและโอกาสมาเชื่อมกันเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกด้าน SDGs จึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ที่จะช่วยให้ทุกคนมองเห็นถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุก ๆ ด้าน ท้ายที่สุดนี้ ทางทีม SDG Move เล็งเห็นว่า ความรู้ของครูทุกท่านเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าคนในพื้นที่ ต่างก็รู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเอง ดังนั้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้วางนโยบายจะต้องเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นอย่างแท้จริง