การลงทุนในพลังงานสะอาดและการเติบทางเศรษฐกิจของประเทศในทวีปเอเชีย

SDG Move Research Series

โดย: นิภัทรา นาคสิงห์

บทนำ

ถึงแม้ว่าพลังงานจากถ่านหินและฟอสซิลจะยังคงสามารถตอบสนองความต้องการด้านพลังงานแก่ผู้คนได้เป็นจำนวนมากอยู่ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจและจำนวนประชากร รวมถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมและสังคมอื่น ๆ ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่เพิ่มการใช้พลังงานในภูมิภาคเอเชียในอนาคต เราควรมีแผนสำรองเพื่อรองรับความต้องการการใช้พลังงานที่มากขึ้น การหันมาใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทน (Renewable Energy) เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น หลายประเทศในทวีปเอเชียโดยเฉพาะจีน อินเดีย และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้นมาตลอด จึงควรเน้นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

800x-1
รูปจาก https://assets.bwbx.io

การลงทุนในการสร้างแหล่งพลังงานสะอาดจากหลายประเทศทั่วโลกนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีการลงทุนมากที่สุดในปี พ.ศ. 2558 ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ เพราะว่าปีนั้น ประเทศกำลังพัฒนาได้ลงทุนด้านพลังงานสะอาดมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว

รายงานเรื่อง The  Economic Outlook for Southeast Asia, China and India จาก the OECD Development Centre in Paris พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (real GDP) ในปี พ.ศ. 2560 – 2564 (ค.ศ. 2017-2021) ของกลุ่มประเทศในทวีปเอเชียที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตนั้นควรอยู่ที่ร้อยละ 6.2 ต่อปี โดยมีสองปัจจัยหลักที่จะมาเกื้อหนุนคือ การเติบโตของการบริโภคภายในประเทศ และการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทน

และในบรรดากลุ่มประเทศที่กล่าวถึงในรายงานฉบับนี้ พบว่าระเทศอินเดียมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในอันดับต้น ๆ ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศจีนกำลังชะลอตัวลง ส่วนประเทศในกลุ่ม ASEAN นั้นมีการเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.8 ในปี 2559 และคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.1 ในช่วง 2560 – 2564 โดยประเทศที่มีการเติบโตที่ดีที่สุดคือฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ กลุ่มประเทศ CLM (ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว และพม่า)

การเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นนี้ จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานจากแหล่งหมุนเวียน เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยรายงานฉบับนี้กล่าวว่า ประเทศจีนและอินเดีย สองประเทศขนาดใหญ่นี้ได้ทำการลงทุนสร้างแหล่งพลังงานทดแทนมากที่สุด ในขณะที่เวียดนาม ไทย มาเลเซีย และลาว กำลังเริ่มสนับสนุนโครงการพลังงานทดแทนโดยเฉพาะการลงทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ (Hydropower) ส่วนความท้าทายที่สำคัญของภูมิภาคนี้คือการกำหนดเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาพลังงานทดแทน รวมถึงอุปสรรคด้านการบริหารและกลไกการกำหนดราคาพลังงาน

asia-biogas-krabi-plant-will-provide-power-to-the-popular-tourist-destination
ก๊าซชีวภาพที่จังหวัดกระบี่ ภาพจาก http://www.thailand-construction.com

แต่ละประเทศในทวีปเอเชียมีสถานการณ์การลงทุนด้านพลังงานสะอาดอย่างไรบ้าง?

เริ่มต้นกันที่ประเทศจีน เป็นประเทศที่ได้ลงทุนด้านพลังงานมากที่สุดในโลก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เป็น 102.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นร้อยละ 36 ของยอดรวมการลงทุนพลังงานสะอาดจากทั่วโลก และจากรายงาน The Renewables 2016 Global Status Report พบว่า ประเทศจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเทคโนโลยีพลังงานสะอาดที่ทันสมัยที่สุด และมีอัตราการจ้างงานในพื้นที่แหล่งพลังงานทดแทนมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลกด้วย

ในประเทศอินเดีย พบว่า ปี 2559 โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดียชนะประมูลรับสัมปทานจากรัฐ ราคาพลังงานจากแสงอาทิตย์จึงถูกกว่าพลังงานจากถ่านหิน ถือเป็นสัญญาณที่บอกเราได้ว่าแหล่งผลิตพลังงานสะอาดมีอำนาจการแข่งขันกับโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมได้ดีขึ้น และถือเป็นการสนับสนุนผู้ผลิตและผู้บริโภคให้หันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

ส่วนประเทศเวียดนาม ก็กำลังส่งเสริมแหล่งพลังงานทดแทนให้เป็นกำลังสำคัญในการผลิตไฟฟ้าสู่พื้นที่ชนบท และสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่

หากมองลงไปถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามแล้วจะพบว่าที่ผ่านมา GDP ของประเทศเวียดนามนั้นเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.8 ต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ต่อปีไปจนถึงปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเศรษฐกิจของเวียดนามนั้นเกิดจากการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น มีประชากรที่มากขึ้น ซึ่งหมายถึงความต้องการด้านพลังงานที่สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะความต้องการในพลังงานไฟฟ้า ซึ่งมากขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5.7 ต่อปีเลย

สำหรับประเทศไทยเรานั้น โดยภาพรวมเรามีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ถึง 7 มีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่เล็กน้อย แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันอยู่ และเมื่อเทียบกับหลายประเทศ พบว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเข้มข้นในการใช้พลังงาน (Energy Intensity) เพิ่มขึ้น ซึ่งนั้นหมายความว่า การผลิตและการบริโภคในเศรษฐกิจไทยยังจำเป็นต้องใช้พลังงานเป็นส่วนประกอบสำคัญ มีข่าวดีที่ว่าปัจจุบันการพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยนับว่าก้าวหน้าที่สุดใน AEC และการบริโภคพลังงานของประเทศเราในอนาคตนั้น มีแนวโน้มที่จะแตกต่างไปจากวันนี้หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในทิศทางที่ถูกต้อง

image_jobs
รูปจาก https://www.zmescience.com/ecology

ประโยชน์ของพลังงานสะอาดต่อพื้นที่และชุมชนโดยรอบ

มาถึงตรงนี้เราคงเข้าใจแล้วว่า ที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกลงทุนเป็นจำนวนเงินมหาศาลด้านการพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาด แล้วผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการลงทุนประเภทนี้มีอะไรบ้าง? แหล่งพลังงานสะอาดสามารถสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ได้จริงหรือ?

จากการศึกษาวิจัยพบว่าการสร้างแหล่งพลังงานสะอาดก่อให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่และชุมชนโดยรอบดังต่อไปนี้

  1. เป็นแหล่งรายได้แห่งใหม่ของชุมชน ช่วยเพิ่มรายรับแก่เจ้าของที่ดิน แถมเกษตรกรที่ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตจะมีแหล่งรายได้ที่หลากหลายและมั่นคงมากขึ้น
  2.  มีอาชีพใหม่ๆและธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้น เมื่อแหล่งพลังงานสะอาดแห่งแห่งนั้นเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับผู้คนในพื้นที่ในแง่การใช้ชีวิตและเศรษฐกิจ การมีแหล่งพลังงานสะอาดสามารถสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ได้โดยตรง เช่น งานทำนุบำรุงและรักษาอุปกรณ์ งานผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาด งานในกระบวนการการผลิตของโรงงานที่ใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น
  3.  เกิดความคิดใหม่ๆในหลายด้าน เช่น นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ แนวทางการปฏิบัติและนโยบายใหม่ๆ เพราะว่าในพื้นที่ที่ถูกเลือกนั้น จะเป็นพื้นที่ที่ใช้ทดลองทั้งนโยบายใหม่ๆและเทคโนโลยีใหม่ๆที่ถูกในพื้นที่นั้นใช้ครั้งแรก
  4. เป็นการเสริมสร้างศักยภาพและอำนาจของชุมชนในพื้นที่นั้น ๆ
  5. ชุมชนในพื้นที่ที่มีพลังงานสะอาดมีโอกาสในการผลิตพลังงานราคาถูกของตนเอง (โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าและความร้อน) ไม่ต้องอาศัยการนำเข้าพลังงานจากต่างถิ่น เมื่อการผลิตพลังงานมีความน่าเชื่อถือก็ก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจตามมาด้วย

จากการศึกษากว่า 2 ปี ในพื้นที่ 16 ประเทศ ของทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ยังพบว่า การสร้างแหล่งพลังงานสะอาดถือเป็นโอกาสในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลความเจริญ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องการกรอบนโยบายที่ซับซ้อนและมีความยืดหยุ่นสูงเพื่อให้สอดคล้องกับการวางกลยุทธ์ในระยะยาว

สุดท้าย การที่แหล่งพลังงานสะอาดจะก่อให้เกิดผลทางบวกต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่นั้น จำเป็นต้องมี 3 ปัจจัยเกื้อหนุน ได้แก่ หนึ่ง กลยุทธ์และนโยบายการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน สองคือ มีความรู้เกี่ยวกับเงื่อนไขและข้อจำกัดของพื้นที่อย่างชัดเจน และสาม ควรมีการศึกษาและพัฒนาแบบอิงพื้นที่เป็นหลัก

แหล่งพลังงานสะอาด เป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากในยุคนี้ เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการขับเคลื่อน การลงทุนพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาดนั้นยังสอดคล้องกับ Sustainable Development Goals (SDGs) โดยตรงกับเป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ และเป้าหมายที่ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 9 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนนวัตกรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดหมายถึงกุญแจสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ท้าทายต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และสุดท้าย การพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาดก็สอดคล้องกับเป้าหมายที่ 13 Climate Change ด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก:

  1. อาจารย์ ชล บุนนาค
  2. www.ai-cio.com/news/renewable-energy-is-key-to-economic-growth-in-emerging-asia-market/
  3. www.oecd.org/regional/regional-policy/Renewable-rural-energy-summary.pdf
  4. http://www.oecd.org/dev/asia-pacific/increased-investment-in-renewable-energy-key-to-spur-sustainable-growth-in-emerging-asia.htm
  5. http://cowatersogema.com/white-paper/renewable-energy-how-it-drives-sustainable-economic-growth-and-lifts-the-poorest-and-most-vulnerable-out-of-poverty/
  6. www.manager.co.th/iBizchannel/ViewNews.aspx?NewsID=9600000014301
  7. http://re-ep.bighead.co.th/Article/tabid/463/ID/284/–AEC.aspx

Last Updated on มีนาคม 21, 2020

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น