ชล บุนนาค และ ภูษณิศา กมลนรเทพ
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตรพระราชทานแก่สังคมไทยตั้งแต่พุทธศักราช 2517 หลักสำคัญของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นหลักการที่มุ่ง “ความสุข” และ “ประโยชน์สุข” ของประชาชน และสังคม
ความสุข เป็นสภาวะทางจิตใจที่เป็นบวก เป็นผลมาจากทั้งปัจจัยภายนอก คือ สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม และปัจจัยภายในคือ ระดับสติปัญญา วิธีคิด หลักคุณธรรมจริยธรรม ของบุคคลนั้น ประโยชน์สุข คือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและนำมาซึ่งความสุข สงบ และเจริญก้าวหน้าของสังคม
การจะบรรลุสู่ความสุขและประโยชน์สุข คือมิติต่าง ๆ ของชีวิตและสังคมมีความสุข สงบและสมดุล และพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง มิติที่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ความสำคัญคือ มิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
การจะเกิดความสมดุลและพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ข้างต้นได้ กระบวนการตัดสินใจควรอยู่บนพื้นฐานของหลักการ 3 ประการและเงื่อนไข 2 ประการ ประกอบด้วย
1.ความมีเหตุผล คือ ในการดำเนินการใด ๆ ต้องมองเห็นทางเลือกที่เกี่ยวข้อง เห็นเหตุและผล และผลกระทบทั้งทางบวกและลบของทางเลือกต่างๆ เห็นผลที่เป็นคุณค่าแท้ของการดำเนินการนั้น ๆ
2. ความพอประมาณ คือ การดำเนินการควรต้องใช้ทรัพยากรและดำเนินการในระดับที่พอดีเหมาะสมกับเงื่อนไขที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในแบบที่ประหยัดไม่เกิดของเสียโดยไม่จำเป็น
3. มีภูมิคุ้มกัน คือ มีการพิจารณาถึงแผนสำรอง รองรับการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง
เงื่อนไข 2 ประการ คือ
1.เงื่อนไขความรู้ คือ ต้องมีทั้งองค์ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องและมีสติปัญญาที่จะพิจารณาว่าสิ่งที่เลือกจะนำไปสู่ความสุขและประโยชน์สุขหรือไม่
2.เงื่อนไขคุณธรรม คือ อยู่บนฐานของหลักคุณธรรมและศีลธรรมอันดีของสังคม ไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อม
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกที่นำเสนอโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) มีระยะเวลา 15 ปี เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 2559 – 2573 โดยประเทศสมาชิก 193 ประเทศ ได้ลงนามรับรองวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030) ในวันที่ 25 กันยายน 2558 เป้าหมาย SDGs มีทั้งหมด 17 ข้อ ครอบคลุมมิติสังคม (People) เศรษฐกิจ (Prosperity) สิ่งแวดล้อม (Planet) สันติภาพ (Peace) และหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ซึ่งสอดคล้องกับสามเสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) คือ ด้านสังคม (People) สิ่งแวดล้อม (Planet) และ Profit (ผลกำไร) จุดเน้นที่สำคัญของเป้าหมาย SDGs คือ การมุ่งที่จะกำจัดความยากจนในทุกมิติ ลดความเหลื่อมล้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้โลกยังเป็นระบบสนับสนุนสิ่งมีชีวิตได้อยู่
หลักการที่เป็นพื้นฐานของ SDGs ที่สำคัญคือหลักการพัฒนาที่ครอบคลุม (Inclusive Development) และหลักการพัฒนาอย่างบูรณาการ (Integrated Development) หลักการพัฒนาที่ครอบคลุม (Inclusive Development) คือ การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มุ่งให้ผลประโยชน์ของการพัฒนากระจายไปยังกลุ่มคนทุกกลุ่มในสังคม คนเปราะบางและด้อยอากาศกลุ่มต่าง ๆ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะและโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ดี ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน การพัฒนาอย่างบูรณาการ (Integrated Development) จึงเป็นหลักที่สำคัญอีกประการหนึ่ง หมายถึง ในการบรรลุเป้าหมาย SDGs จำเป็นต้องใช้ศาสตร์หลายศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจและหาหนทางเพื่อบรรลุความยั่งยืน และต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
ความเชื่อมโยงระหว่างหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) อย่างกลมกลืน เพราะมีเป้าหมายปลายทางที่สอดคล้องกัน กล่าวคือ ทั้ง SEP และ SDGs ต่างมุ่งพัฒนาและสร้างความสมดุลในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ส่วนที่เหลื่อมกันอยู่แต่ไม่ขัดกันก็คือ SEP เน้นมิติวัฒนธรรมด้วย ขณะที่ใน SDGs มิติวัฒนธรรมแฝงอยู่ในหลายเป้าหมาย และมีส่วนของสันติภาพและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเพิ่มเข้ามา
ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาก็มีปรากฏอยู่ในการประยุกต์ใช้ SEP ในภาคเกษตร คือ เกษตรทฤษฎีใหม่ ในระยะที่ 3 หลังจากชุมชนมีความเข้มแข็งแล้วจึงขยายความร่วมมือมายังองค์กรภายนอกชุมชน ซึ่งในส่วนนี้ SDGs จะมีความชัดเจนกว่า SEP ในแง่ที่ว่า SDGs ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเป้าหมายด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างชัดเจนในรายละเอียดของเป้าหมาย (Goals) 17 ประการ และเป้าประสงค์ (Targets) 169 ประการ
นอกจากนี้ SEP ยังช่วยเสริม SDGs ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นไปอีกเพราะ SEP ให้หลักการในการดำเนินการเพื่อการบรรลุ SDGs ด้วย โดย SEP ให้หลักในการดำเนินการเอาไว้ว่า
(1) การดำเนินการใด ๆ เพื่อบรรลุ SDGs ต้องอาศัยองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง และคำนึงมิให้มีผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (เงื่อนไขความรู้ และคุณธรรม)
(2) การดำเนินการต้องพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ ให้รอบด้าน เห็นเหตุ เห็นผลผลิต ผลลัพธ์และผลกระทบของแต่ละทางเลือก (หลักความมีเหตุผล)
(3) การดำเนินการควรใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพให้พอดีกับการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ไม่เกิดของเหลือ เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในครัวเรือนหรือในชุมชนอยู่ก่อนที่จะขยายไปพึ่งพาภายนอก (หลักความพอประมาณ)
(4) การดำเนินการควรเตรียมการเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ (หลักภูมิคุ้มกัน)
(5) การดำเนินการจะบรรลุผลได้หากเริ่มจากการระเบิดจากข้างใน เริ่มจากท้องถิ่นซึ่งในการเริ่มดำเนินการจากท้องถิ่นได้นั้นจะต้องไม่ละเลยมิติวัฒนธรรมท้องถิ่นที่จะช่วยเชื่อมโยงคนในท้องถิ่นกับการพัฒนาได้
ยิ่งไปกว่านั้น SEP ยังช่วยกำหนดเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ด้วย คือ การพัฒนาที่สุดท้ายต้องมุ่ง “ความสุข” และ “ประโยชน์สุข” ของสังคม ซึ่งหลักคิดนี้จะช่วยให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นมิได้เกิดขึ้นแบบเพียงแค่ให้มี แต่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดความสุขและประโยชน์สุขของสังคมด้วย
บทบาทนักวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
“เศรษฐกิจพอเพียง” “เศรษฐกิจ”และก็ “พอเพียง”พอเพียงก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าพอเพียงอะไร แต่ความคิดของตัว พอเพียง ก็คือว่าทำอะไรไม่ฟุ่มเฟือย ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ทำอะไรให้มันเกินไป เมื่อทำแล้วได้ผลในการกระทำ ถ้าทำได้ ก็หมายความว่า ประหยัด สำหรับชาวบ้าน คนที่ทำเศรษฐกิจนี้เอง
ผู้ที่เป็นนักทฤษฎี ผู้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็จะต้องหาเหตุผลของเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ถ้าหาเหตุผลได้ ก็เชื่อว่าเหตุผลนี้ก็จะได้ประโยชน์ เมื่อได้ประโยชน์แล้ว ชาวบ้านในประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์ เมื่อได้ประโยชน์แล้ว เขาก็จะมีความร่ำรวยขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย ถ้าทำได้แล้ว ก็จะเป็นการช่วยให้ประเทศชาติอยู่ได้ ถ้าไม่เอาใจใส่ในความคิดเหล่านี้ งานทั้งหลายที่เราทำก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย”
บางส่วนของพระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2470-2559)
พระราชทานแก่คณะผู้บริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร
(องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ โรงพยาบาลศิริราช
วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554
จากพระราชดำรัสข้างต้นของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แสดงให้เห็นว่า นักวิจัย นักทฤษฎี ผู้เชียวชาญสาขาต่าง ๆ สมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงและนำไปประยุกต์ใช้ในแต่ละภาคส่วนให้เกิดประโยชน์การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้มากที่สุดโดยบทความนี้จะกล่าวถึงตัวอย่างผลงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดย ผศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา (1) จำนวน 2 กรณีศึกษา
- การจัดการลุ่มน้ำหมันโดยเครือข่ายทางสังคม
ระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงของลุ่มน้ำหมัน
ลำน้ำหมันจังหวัดเลย เป็นแหล่งทำการเกษตรของชุมชนและใช้น้ำเพื่อบริโภค ซึ่งต่อมาได้เกิดภัยเงียบในระบบนิเวศทางน้ำ อากาศ และดิน สะสมเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2504 เนื่องจากมีสารเคมีตกค้างจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรในการปลูกพืชเชิงเดียว เช่น การใช้ยาฆ่าหญ้า เมื่อฝนตกจึงนำหน้าดินที่มีสารพิษชะล้างลงในลำน้ำ ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคที่ปลอดภัยของชุมชน (เกี่ยวกับเป้าหมายที่ยั่งยืนที่ 6 การมีน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค) นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบทำให้พืชพันธุ์และสัตว์น้ำสูญหายจากการทำลายของสารเคมี (เกี่ยวกับเป้าหมายที่ยั่งยืนที่ 15 ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศทางบกและเป้าหมายที่ 14 ปกป้องสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ)
นักวิจัยได้ลงพื้นที่ไปศึกษาทำงานร่วมมือกับชุมชน และหน่วยงานหลักในพื้นที่ โดยความร่วมมือหลักในกรณีนี้มาจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย โดยที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ทีมแพทย์ และพยาบาลได้ช่วยทีมนักวิจัยขับเคลื่อนโครงการร่วมกับชาวบ้านเกษตรกรในพื้นที่ และมีประชาชนในตัวอำเภอมาเป็นผู้บริโภคผลผลิตทางการเกษตร ด้วยต้นทุนทางสังคมที่โรงพยาบาลมีกับชาวบ้านในฐานะหมอรักษาคนไข้และในฐานะที่โรงพยาบาลยอมรับวัฒนธรรมท้องถิ่นของหมู่บ้านมาปรับใช้ เช่น วัฒนธรรมในการดูแลผู้ป่วยวัยชราที่ใกล้เสียชีวิต ซึ่งความเข้าใจนี้ได้มาจากการศึกษาด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นของ ผศ.ดร. เอกรินทร์ พึ่งประชา (1) หัวหน้าโครงการ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. – ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)) ก่อนที่จะมาศึกษาปัญหาลุ่มน้ำหมัน สามารถสรุปวิธีการดำเนินการแก้ปัญหาออกมาได้ดังนี้
- ทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการลุ่มน้ำหมันโดยเครือข่ายทางสังคมมีส่วนร่วม
- ทำวิจัยจัดการองค์ความรู้เรื่องป่า น้ำ และดินเพื่อการเกษตร
- บริการจัดการน้ำ (น้ำท่วมและน้ำแล้ง)
- แก้ไขมลพิษทางน้ำโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิทยาศาสตร์
- อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
- สร้างเสริมเกษตรปลอดภัยและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
- ด่านซ้ายกรีนเนตโมเดล และ Smart Farmer
การหาวิธีให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดียวจากกรณีปัญหาสารเคมีในลุ่มน้ำหมัน มาเป็นเกษตรทางเลือกเพื่อลดเขาหัวโล้น โดยการชี้ให้เห็นเหตุผลในการปรับเปลี่ยน คือ
ทำไมต้องเปลี่ยนมาเป็นเกษตรทางเลือก:
- ดีต่อสุขภาพผู้ปลูกและผู้บริโภค
- ใช้พื้นที่การเพาะปลูกน้อยลง
- ลดต้นทุนการผลิต
- ช่วยฟื้นฟูทรัพยากรป่า
- ลดสารเคมี
- มีความหลากหลายในผลผลิต เช่น ไม้ยืนต้น เกษตรผสมผสาน
เมื่อมีเหตุผลชัดเจนในการปรับเปลี่ยน นักวิจัยได้วางแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้ชาวบ้านค่อย ๆทำการปรับเปลี่ยนวิธีทำกินด้านการเกษตร ทำให้สามารถปลดหนี้สิน และอยู่ได้อย่างยั่งยืนภายในชุมชนและเยียวยาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในพื้นที่ ฟื้นฟูและลดจำนวนเขาหัวโล้นโดยเริ่มจากแก้ปัญหาหนี้สินให้เกษตรกร จากปัญหาการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดียว คือ ต้องรอ 4 เดือนถึงจะเก็บเกี่ยวได้ เป็นการเริ่มปลูกผักพื้นบ้านเสริมเป็นทางเลือก เช่น ผักบุ้ง กะหล่ำปลี จึงเป็นที่มาของรายได้สามส่วน คือ ระยะสั้น (รายได้รายวัน-สัปดาห์) จากการปลูกพืช ผักสวนครัว ระยะยาว (รายได้รายเดือน) ปลูกผลไม้ เช่น อโวคาโด เลี้ยงไก่ และระยะที่สาม (รายได้รายปี) ปลูกไม้ยืนต้น ปลูกป่า
การปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดียวตามที่ผู้ว่าจ้างปลูกและผู้รับซื้อกำหนด มาเป็น smart farmer ดำเนินการโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน และวิธีการสมัยใหม่เพื่อรักษาเยียวยาตนเองและธรรมชาติ ดำเนินการตามหัวใจของหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา Smart Farmer ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง และกล้าขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนั้น พร้อมกับมีความรู้ทันสมัยเรื่องการดูแลการเกษตรด้วยระบบนิเวศชุมชน
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกรณีศึกษาท้องถิ่น
บทเรียนจากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
จากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ข้างต้น พบว่ากระบวนการของงานวิจัยเพื่อชุมชนได้ผนวกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และประโยชน์สุขของสังคม ดังนี้
- งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมีพี่เลี้ยงไปกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน ทำให้เกิดการระเบิดจากข้างใน ทำให้ทิศทางการพัฒนาในพื้นที่เป็นไปตามความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง
- งานวิจัยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหลายภาคส่วนทั้งภาคชุมชน ภาควิชาการ และภาครัฐ (SDG 17)
- กระบวนการวิจัยเป็นการสร้างเงื่อนไขความรู้โดยอาศัยการผนวกระหว่างความรู้ทางวิชาการ ความรู้ท้องถิ่น และประสบการณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาท้องถิ่น
- วัฒนธรรมท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการสร้างทุนทางสังคมเพื่อการเรียนรู้และขับเคลื่อนเรื่องอื่น ๆ ในพื้นที่ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอย่างบูรณาการ
- การพัฒนาเป็นไปอย่างบูรณาการโดยเริ่มจากงานด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น (SDG 8, 11) ขยายมาสู่งานด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรน้ำ (SDG 6) ขยับมาทำงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืน (SDG 2) เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ด้านการลดการปนเปื้อนสารเคมีเป็นพิษในธรรมชาติ (SDG 12) ส่งเสริมให้สุขภาพของชาวบ้านดีขึ้น (SDG 3) และนำไปสู่การอนุรักษ์ป่า (SDG 15)
กรณีข้างต้นเป็นหนึ่งในอีกหลายกรณีที่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นกลไกหลักในการชวนชาวบ้านมาสร้างความรู้ท้องถิ่นบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขของคนในชุมชน เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถเป็นหลักการพื้นฐานในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้บรรลุถึงความสุข สงบ สมดุล และประโยชน์สุขของสังคมได้
……………………………………………………………………….
เอกสารอ้างอิง
- เอกรินทร์ พึ่งประชา. 2560. ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการระบบและความมั่นคงอาหารของชุมชน: กรณีศึกษาอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย [Online]. elibrary.trf.or.th: Available: https://elibrary.trf.or.th/project_content.asp?PJID=RDG5420037 [Accessed 26 กันยายน 2562].