1.บทนำ
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา องค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติและธนาคารโลก ได้ส่งเสริมให้ประเทศต่าง ๆ ในทุกภาคส่วนยึดหลักการบริหารจัดการที่เรียกว่า ธรรมาภิบาล (good governance) หลังจากผ่านมา 2 ทศวรรษ และปัจจุบันทั่วโลกกำลังร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐประสาสนศาสตร์ ขององค์การสหประชาชาติได้เสนอแนวคิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับหลักการบริหารจัดการที่เรียกว่า effective governance (ในที่นี้ขอเรียกว่า “ประสิทธาภิบาล”) มาแทนแนวคิดด้านธรรมาภิบาล
แนวคิดทั้งสองนี้เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร เป็นเพียงการแพคของเก่าลงในกล่องใหม่หรือไม่ และแนวคิดนี้จะช่วงส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร บทความนี้พยายามจะตอบคำถามเหล่านี้ โดยจะนำเสนอสาระสำคัญของประสิทธาภิบาล (effective governance) โดยอ้างอิงจากเอกสารของ Economic and Social Council ขององค์การสหประชาชาติ (Principles of Effective Governance for Sustainable Development 2018) ในหัวข้อแรก แล้วจึงชี้ให้เห็นว่า แนวคิดนี้แตกต่างจาก good governance อย่างไร จะมีส่วนในการช่วยบรรลุ SDGs อย่างไร ในหัวข้อที่สอง และหัวข้อสุดท้ายจะกล่าวถึงข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับแนวคิดนี้
2. ประสิทธาภิบาล (effective governance) คืออะไร?
การบริหารจัดการ (governance) เป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประเด็นนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเด็นที่เรียกว่า means of implementation หรือ วิธีการดำเนินการ เพื่อบรรลุ SDGs ความหมายของคำว่า governance มีหลายความหมาย unscap เสนอว่าคือกระบวนการการตัดสินใจและกระบวนการนำผลการตัดสินใจไปปฏิบัติ (Sheng, n.d.) นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง (Kooimanand Bavinck 2005) เสนอว่ามันคือกระบวนการบรรลุเป้าหมายทางสังคมหนึ่งๆ ที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เล่นกลุ่มต่าง ๆ และระหว่างผู้เล่นกับกติกาที่กำกับการปฏิสัมพันธ์นั้น นอกจากนี้ คำว่า governance ยังสื่อไปในทางที่ว่า การบริหารจัดการต้องมีมากกว่ารัฐ หรือ governanceแต่ต้องมองในภาพที่ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในการบรรลุเป้าหมายด้วย
ประสิทธาภิบาล (effective governance – ผสมระหว่างประสิทธิกับอภิบาล) เป็นหลักการบริหารจัดการที่เสนอขึ้นมาเพื่อสนับสนุนประเทศต่างๆที่มีความสนใจอยากจะปรับปรุงระบบการบริหารจัดการของตนเองให้สอดคล้องและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งในส่วนนี้เป็นความสมัครใจของแต่ละประเทศ ประสิทธาภิบาล มีมีหลักใหญ่ที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1. Effectiveness – ความมีประสิทธิผล
2. Accountability – ความมีความรับผิดรับชอบ
3. Inclusiveness – ความครอบคลุม
โดยภายใต้แต่ละหลักจะมีหลักการย่อยที่เกี่ยวข้องดังนี้
ภายใต้หลัก Effectiveness จะประกอบด้วยหลักการย่อย คือ
– Competence หมายถึง ในการที่หน่วยงานหรือภาคีของหน่วยงานจะสามารถจัดการกับปัญหาความยั่งยืนได้นั้นจะต้องมีทรัพยากรและ ความเชี่ยวชาญมากพอที่จะทำตามภารกิจของตนได้
– Sound policymaking หมายถึง การดำเนินนโบายสาธารณะที่มีความสอดคล้องกัน (coherent) และตั้งอยู่บนหลักการ หลักฐานข้อเท็จจริง และมุ่งประโยชน์สาธารณะ เพราะหากนโยบายสาธารณะและกฎกติกาไม่สอดคล้องกัน การดำเนินนโยบายอาจขัดแย้งกันและเหนี่ยวรั้งกันได้ หากนโยบายไม่อยู่บนหลักการและข้อเท็จจริง ก็ไม่อาจจะแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
– Collaboration หมายถึง มีการทำงานกันข้ามหน่วยงานและข้ามภาคส่วนเพื่อการแก้ไขปัญหาที่มีร่วมกัน ทั้งนี้เนื่องจากธรรมชาติของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นมีความเชื่อมโยงกัน และในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนต้องการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน การมีหลักการบริหารที่เน้นเรื่องความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและระหว่างภาคส่วนจึงมีความสำคัญ
ภายใต้หลัก Accountability จะประกอบด้วยหลักการย่อยคือ
– Integrity หมายถึง การยึดมั่นในหลักคุณธรรม กล่าวคือ เจ้าหน้าที่รัฐควรปฏิบัติตามหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ ยุติธรรม และสอดคล้องกับหลักคุณธรรมอันพึงมี เพื่อประโยชน์สาธารณะ
– Transparency หมายถึง ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ หน่วยงานภาครัฐควรจะเปิดและมีการติดตามสอดส่องการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานและเปิดเผยข้อมูล ข่าวสารและการดำเนินงานของภาครัฐให้เข้าถึงได้โดยสาธารณะเท่าที่กฎหมายจะอนุญาต
– Independent oversight หมายถึง ต้องมีองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบจะต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดอย่างเป็นมืออาชีพ โดยต้องมีความเป็นกลางและเป็นอิสระจากองค์กรที่ถูกตรวจสอบด้วย ด้วยกลไกนี้จะทำให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่าหน่วยงานที่มี integrity และ transparency มีคามความรับผิดรับชอบอย่างแท้จริง
ภายใต้หลัก Inclusiveness จะประกอบด้วยหลักการย่อยคือ
– Leave no one behind หมายถึงการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คือการทำให้คนทุกหมู่เหล่า รวมถึงคนกลุ่มที่จนที่สุด เปราะบางที่สุด และคนที่ถูกเลือกปฏิบัติในทุกแบบ และทำให้คนเหล่านี้เข้าถึงผลประโยชน์จากการพัฒนา บริการของรัฐ และโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อมอย่างเท่าเทียม
– Non-discrimination หมายถึง การไม่เลือกปฏิบัติ การให้บริการสาธารณะจะต้องอยู่บนหลักของความเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ เคารพ ปกป้องและส่งเสริม สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนทุกกลุ่ม
– Participation หมายถึง การมีส่วนร่วม กล่าวคือ ความครอบคลุมนั้นมิใช่หมายถึงเพียงแต่ความครอบคลุมจากการได้รับประโยชน์เท่านั้น แต่ต้องถูกครอบคลุมเข้าไปในกระบวนการตัดสินใจและกระบวนการทางนโยบายที่มีความหมายด้วย
– Subsidiarity หมายถึง การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นจุดเริ่มของการปฏิบัติ ในขณะที่ระบบการจัดการในระดับที่สูงขึ้นควรทำหน้าที่เพียงบางอย่างและช่วยให้ท้องถิ่นสามารถปฏิบัติการเพื่อบรรลุ SDGs ได้ง่ายขึ้น
– Intergenerational equity หมายถึง การคำนึงถึงความเป็นธรรมแบบข้ามรุ่น กล่าวคือ การดำเนินการใด จะต้องสร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ระยะสั้นของคนในปัจจุบัน กับประโยชน์ในระยะยาวสำหรับลูกหลานและผู้คนในอนาคต
นอกจากนี้เอกสารของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวยังได้เสนอแนวนโยบายและแนวปฏิบัติที่จะช่วยให้ปฏิบัติตามหลักการข้างต้นเอาไว้ด้วยดังที่แสดงเอาไว้ในตารางที่ 1
3. ประสิทธาภิบาล (Effectivegovernance) แตกต่างจากธรรมาภิบาล (Good governance) อย่างไร?
3.1 ทบทวนแนวคิด
Good governance หรือธรรมาภิบาลถูกนำเสนอตั้งแต่ช่วงปลาย ทศวรรษ 1990 และต้น 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่การพัฒนาในระดับโลกขยับจากความสนใจเรื่องการพัฒนาให้ตลาดทำงานได้อย่างเต็มที่ (Get the Price Rights) มาเป็นการให้ความสำคัญกับปัจจัยเชิงสถาบันกฎกติกาและการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ (Get the Institutions Right) (John M. Staatz 1998) ช่วงนี้เองที่ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการจัดการกับเรื่องการคอรัปชั่นและการมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส และมีความรับผิดรับชอบถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาเพราะถูกมองว่าสถาบันที่ไม่มีปัจจัยเหล่านี้กำลังเหนี่ยวรั้งการพัฒนาในประเทศต่างๆ ธรรมาภิบาลจึงถูกนำเสนอขึ้นมาเพื่อเป็นหลักการให้หน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ นำไปปฏิบัติ
หลักการภายใต้ธรรมาภิบาลถูกนำเสนอโดยอย่างน้อย 2 องค์กรหลัก ๆ คือองค์การสหประชาชาติ และธนาคารโลกองค์การสหประชาชาติได้เสนอหลักการภายใต้แนวคิด ธรรมาภิบาล (Good governance) ไว้ 8ประการดังนี้ (Sheng, n.d.)
– Participation หมายถึง การมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการตัดสินใจและดำเนินการ
– Rule of law: fair legal framework, full protection of human rights หมายถึง การปกครองโดยหลักกฎหมาย การมีหลักกฎหมายที่ยุติธรรม และให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่
– Transparency หมายถึงความโปร่งใสในกระบวนการตัดสินใจและดำเนินการและในด้านข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง
– Responsiveness หมายถึงความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้รับบริการได้ทันท่วงที ในห้วงเวลาที่เหมาะสม
– Consensus oriented หมายถึง กระบวนการตัดสินใจควรพยายามอย่างที่สุดในการอาศัยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ฉันทามติที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน
– Equity and inclusiveness หมายถึงกระบวนการตัดสินใจและดำเนินการต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและความครอบคลุมไปยังกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังด้วย
– Effectiveness and efficiency หมายถึง ความมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพในกระบวนการตัดสินใจและดำเนินงานซึ่งก็เป็นส่วนที่สำคัญพื้นฐานของการดำเนินงานของหน่วยงานไม่ว่าจะภาคส่วนใดก็ตาม
-Accountability หมายถึงกระบวนการตัดสินใจและดำเนินการต้องมีความรับผิดรับชอบด้วย
ธนาคารโลก (Worldbank) ก็ได้นำเสนอหลักการเกี่ยวกับธรรมาภิบาลเอาไว้เช่นกันในหนังสือชื่อ Governance and Development (World Bank 1992) และมีหลักการที่ใกล้เคียงกับที่องค์การสหประชาชาติเสนอไว้ ประกอบด้วย 4 หลักการย่อย คือ
-Capacityand efficiency หมายถึงศักยภาพและประสิทธิภาพของหน่วยงานและของกระบวนการดำเนินการซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสอดคล้องกับหลัก Effectiveness and Efficiency และหลัก Responsiveness ขององค์การสหประชาชาติ
-Accountability หมายถึง ผู้ที่ตัดสินใจและดำเนินการความรับผิดรับชอบซึ่งในส่วนนี้จะสอดคล้องกับหลัก Accountability ขององค์การสหประชาชาติ
– Legal framework for development หมายถึงการมีกรอบกฎหมายที่เอื้อกับการพัฒนา ซึ่งในส่วนนี้ก็จะสอดคล้องกับหลัก rule of law ขององค์การสหประชาชาติ
– Information and transparency คือหลักของความโปร่งใสของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งส่วนนี้ก็น่าจะตรงกับหลักการ transparency ขององค์การสหประชาชาติ
จากตัวอย่างข้างต้น หลักการขององค์การสหประชาชาติแตกต่างจากหลักการของธนาคารโลกตรงที่ธนาคารโลกอาจไม่ได้ยกประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วม (participation) และความเท่าเทียมและครอบคลุม (Equity and Inclusiveness) ขึ้นมาเป็นหลักการสำคัญของ good governance ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่ทั้งสององค์กรเสนอแนวคิดเหล่านี้โดยมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันเล็กน้อยคือในบริบทขององค์การสหประชาชาติหลักการดังกล่าวน่าจะมุ่งตรงไปที่การพัฒนาของประเทศสมาชิกในขณะที่ข้อเสนอของธนาคารโลกมุ่งที่จะให้หลักการเหล่านี้ปรับใช้ได้กับทั้งองค์กรในภาคส่วนต่าง ๆ ด้วยก็เป็นได้
3.2 ความแตกต่างระหว่างแนวคิดประสิทธาภิบาลกับธรรมาภิบาล
หากเราเทียบหลักการของประสิทธาภิบาล กับหลักการของธรรมาภิบาลที่เสนอโดยองค์การสหประชาชาติ เราจะพบว่าหลักประสิทธาภิบาล (effective governance) มีการเพิ่มเติมหลักการย่อยขึ้นมา 5 หลักการคือ
1.Soundpolicymaking: ดำเนินนโบายสาธารณะอย่างสอดคล้องกัน (coherent) และตั้งอยู่บนหลักการ หลักฐานข้อเท็จจริง รวมถึง ความปรารถนาดี
2. Collaboration: มีการทำงานกันข้ามหน่วยงานและข้ามภาคส่วนเพื่อการแก้ไขปัญหาที่มีร่วมกัน
3.Independent oversight: องค์กรตรวจสอบจะต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดอย่างเป็นมืออาชีพโดยต้องมีความเป็นกลาง
4. Subsidiarity: การกระจายอำนาย
5. Intergenerational equity
หลักการทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นหลักการที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อให้ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และทำให้หลักการที่มีอยู่เดิมจากหลักธรรมาภิบาลมีความเข้มแข็งขึ้น หลักการที่ชัดเจนว่าถูกยกเพิ่มขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ soundpolicy-making , collaboration, subsidiarity และ intergenerational equity ในขณะที่ independent oversight คือ ข้อที่น่าจะเสนอขึ้นมาเพื่อทำให้หลัก ธรรมาภิบาลเดิมมีความเข้มแข็งขึ้น
Soundpolicy-making ที่เน้นไปที่ความสอดคล้องเชิงนโยบายและการทำงานบนหลักการและข้อมูลและ collaboration ที่ต้องเน้นไปที่การทำงานร่วมกันข้ามหน่วยงานข้ามภาคส่วนเพื่อจัดการกับปัญหาความยั่งยืน เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อการทำงานเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เนื่องจากความบูรณาการของเป้าหมาย SDGs กล่าวคือ SDGs แต่ละเป้าหมายและเป้าประสงค์มีความเชื่อมโยงกันการดำเนินการให้นโยบายและกฎกติกาที่แก้ปัญหาคนละเรื่องกันไม่ขัดแย้งกันเป็นเรื่องจำเป็นและการจะเกิดนโยบายที่สอดคล้องกันดังกล่าวได้ การทำงานร่วมกัน (collaboration) ข้ามประเด็นและข้ามหน่วยงานก็เป็นสิ่งที่จำเป็นด้วย
นอกจากนี้ ด้วยความที่ปัญหาความยั่งยืนมักเป็นปัญหาที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับบริบทท้องถิ่น เกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายการทำงานร่วมกัน (collaboration) ข้ามภาคส่วน รวมถึงข้ามศาสตร์ จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาความยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่นในปัญหาหมอกควันในภาคเหนือของประเทศไทยนั้นในการจะรับมือและแก้ปัญหานี้ไม่สามารถดำเนินการได้โดยรัฐเท่านั้นแต่ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนก็ต้องร่วมแก้ปัญหาด้วย จะใช้ความรู้ด้านการแพทย์และสุขภาพอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องใช้ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ นโยบายสาธารณะ ไปจนถึงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาด้วย
หลัก Subsidiarity เป็นหลักที่สอดคล้องกับหลักคิดที่ว่าการจะนำ SDGs ไปปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพต้องเริ่มจากท้องถิ่น (localizing SDGs) หลัก subsidiarity เน้นเรื่องการกระจายความรับผิดชอบในการปฏิบัติการเพื่อการบรรลุ SDGs ไปยังท้องถิ่นในขณะที่กลไกระดับสูงขึ้นไปทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและทำบางหน้าที่
หลัก Intergenerational Equity หรือ ความยุติธรรมแบบข้ามรุ่น เป็นหลักที่เพิ่มเข้ามาเพื่อให้สะท้อนหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยแท้ สิ่งนี้เชื่อมโยงกับนิยามของคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เสนอโดย World Commission on Environment and Development ในเอกสาร “อนาคตร่วมของพวกเรา” (Our common future) (Brundtland et al. 1987) ที่มีเนื้อความว่า “การพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนในรุ่นปัจจุบันโดยไม่ลดทอนความสามารถของคนในอนาคตในการตอบสนองความต้องการของพวกเขา”
หลัก Independent Oversight หรือหลักการของการตรวจสอบที่เป็นอิสระ ในข้อนี้เป็นหลักการอยู่ภายใต้หลัก Accountability ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่มีอยู่ในแนวคิดธรรมาภิบาลอยู่แล้วแต่หลัก independent oversight ไม่ได้มีการเสนอในแนวคิดธรรมาภิบาลมาก่อนหลัก Accountability เดิมเน้นไปที่พฤติกรรมของหน่วยงาน (เช่นเดียวกับหลัก integrity และ transparency ของแนวคิดประสิทธาภิบาล) หลัก independent oversight เป็นการช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของหลัก accountability มากขึ้นเพราะหลักนี้มิได้พึ่งพาเฉพาะพฤติกรรมของหน่วยงานอย่างเดียวอีกต่อไปแต่เสนอให้มีหน่วยงานตรวจสอบที่เป็นอิสระคอยตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งด้วย
ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งระหว่างสองแนวคิดนี้คือขอบเขตของการประยุกต์ใช้หลักการ แนวคิดประสิทธาภิบาล (effective governance) นี้ขยายขอบเขตของแนวคิดจากการดำเนินการในระดับหน่วยงาน (organization) มักถูกนำเสนอเป็นบริบทของการประยุกต์ใช้แนวคิดธรรมาภิบาล (good governance) มาเป็นขอบเขตในระดับของระบบการบริหารจัดการแทนดังที่ได้อธิบายไปแล้วจากหลัก collaboration, sound policy making และ independent oversight ทั้ง 3 ข้อนี้ ถูกเสนอขึ้นในบริบทของระบบ และมองว่าระบบของการบริหารจัดการนี้นโยบาย/กฎกติกาต่าง ๆ ควรจะสอดคล้องกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานกันและมีหน่วยงานกลางมาช่วยตรวจสอบอย่างเป็นกลางอีกชั้นหนึ่งซึ่งสะท้อนว่าการมองคำว่า governance ของแนวคิดประสิทธาภิบาลมอง governance เป็นกระบวนการระหว่างผู้เล่นที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุเป้าหมายทางสังคมหนึ่งๆ มากขึ้น สอดคล้องกับนิยามของคำว่า governance มากยิ่งขึ้น
4. ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวคิดประสิทธาภิบาล (effective governance)
จากการเปรียบเทียบแนวคิดประสิทธาภิบาล (effectivegovernance) กับแนวคิดธรรมาภิบาล พบว่าแนวคิดประสิทธาภิบาลมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่าแนวคิดธรรมาภิบาล เพราะแนวคิดนี้มิเพียงให้หลักการที่พึงกระทำภายในองค์กรแต่ยังให้ภาพในเชิงระบบด้วยว่า ในระบบของการบริหารจัดการเพื่อการบรรลุ SDGs ลักษณะของระบบดังกล่าวควรเป็นอย่างไร
ถึงกระนั้น ลักษณะของ governanceในระดับของระบบก็ยังไม่ได้ถูกนำเสนออย่างชัดแจ้งออกมาแต่ออกแนวเป็นหลักการย่อยที่เพิ่มขึ้นมาเสริมกับหลักการสำหรับการปฏิบัติในระดับหน่วยงานมากกว่าหากมีการเพิ่มเติมลักษณะของ governanve ในเชิงระบบขึ้นมาให้เต็มรูปแบบด้วยจะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นในการออกแบบระบบประสิทธาภิบาลเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ หลักการย่อยที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนตอนนี้ยังคงมีหลักการเดียวคือ intergenerational equity ซึ่งอ้างอิงมาจากเอกสาร “อนาคตร่วมของพวกเรา” ดังที่กล่าวมาแล้ว แต่อีกหลักการหนึ่งที่เป็นหลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยคือเรื่อง 3 เสาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน (three pillars of sustainability) ยังไม่ได้ถูกรวมเข้าไป ซึ่งในส่วนนี้ นักวิชาการจำนวนหนึ่ง (อ้างอิง) เสนอว่า หลักการสามเสาหลักนี้ควรจะนำไปสู่การปรับสมดุลเป้าหมายการพัฒนาด้วย (rebalancing purpose of development) ผู้เขียนเสนอว่า หากจะผลักให้ประสิทธาภิบาล (effective governance) ไปไกลจนสุดและนำไปสู่การบรรลุ SDGs ด้วยระบบการบริหารจัดการ ก็ควรที่จะทบทวนเป้าหมายการพัมนาของตนเองด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกิดความสมดุลระหว่างมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
5. สรุป
แนวคิดเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการชุดใหม่ที่เรียกว่า ประสิทธาภิบาล (effective governance) ถือเป็นพัฒนาการของแนวคิดด้านการบริหารจัดการขององค์การสหประชาชาติที่ต่อเนื่องจากแนวคิดด้าน ธรรมาภิบาล (good governance) แนวคิดประสิทธาภิบาลนี้มีหลักการหลัก 3 ประการ คือ effectiveness, accountability และ inclusiveness ภายใต้หลักการหลักนี้ มีหลักการย่อยที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลเดิมและเพิ่มหลักการย่อยที่ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นการเฉพาะด้วย เช่น หลัก Sound policymaking, Collaboration, Independent Oversight, Subsidiarity และ Intergenerational equity นอกจากนี้ แนวคิดประสิทธาภิบาลยังขยับจากการเป็นหลักการบริหารระดับหนวยงานมาเป็นหลักการในเชิงระบบอีกด้วย ซึ่งถือเป็นการเน้นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ
……………………………………………………..
เอกสารอ้างอิง
Brundtland, Gro Harlem, M. Khalid, S. Agnelli, S. Al-Athel, and B. Chidzero. 1987. “Our Common Future.” New York. https://books.google.com/books?hl=en&lr=&id=3lRtBQAAQBAJ&oi=fnd&pg=PA29&dq=Our+common+future&ots=QRRdBcHIdO&sig=fqn3yW9FBDgf12l1Tr-ejXJynpM.
John M. Staatz, Carl K. Eicher. 1998. “Agricultural Development Ideas in Historical Perspective.” In International Agricultural Development, edited by John M. Staatz Carl K. Eicher, Third, 8–38. Baltimore and London: The Johns Hopkins University Press.
Kooiman, J., and M. Bavinck. 2005. “The Governance Perspective.” Fish for Life: Interactive Governance for Fisheries. https://www.oapen.org/download?type=document&docid=340216#page=12.
“Principles of Effective Governance for Sustainable Development.” 2018. Official Records, Supplement No. 24, . Economic and Social Council. http://workspace.unpan.org/sites/Internet/Documents/Principles%20of%20effective%20governance_to%20upload.docx.pdf.
Sheng, Yap Kioe. n.d. “What Is Good Governance?” UNESCAP. https://www.unescap.org/sites/default/files/good-governance.pdf.
World Bank. 1992. Governance and Development. Washington, D.C.: World Bank Publication.
Last Updated on เมษายน 24, 2020