ชล บุนนาค
1. บทนำ
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ถูกออกแบบ เสนอ และรับรองมาเพื่อเป็นเป้าหมายร่วมกันของนานาชาติในการรับมือและแก้ไขปัญหาสังคมเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสันติภาพที่มีความซับซ้อน ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem) ในที่นี้หมายถึงปัญหาที่มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยและตัวของมันเองก็เป็นสาเหตุของอีกหลายปัญหาโยงใยอย่างซับซ้อน หลายครั้งเกี่ยวข้องกับหลายตัวผู้เล่น หลายหน่วยงานบางครั้งข้ามพื้นที่เชิงกายภาพ ข้ามระดับ ตัวอย่างของปัญหาที่ซับซ้อนเช่นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการรับมือผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Impact) ปัญหาความเหลื่อมล้ำ (Inequality) ปัญหาขยะในทะเล ปัญหาแรงงานทาสและการค้ามนุษย์ เป็นต้นปัญหายิ่งซับซ้อนและแก้ไขยากขึ้นเมื่อปัญหามีการซ้อนทับกัน (Intersectionality)(Adlparvar and Tasros 2016) เช่นปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBT ในโรงเรียน ปัญหาการค้ามนุษย์ข้ามประเทศในกลุ่มคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตอนุรักษ์เป็นต้นนอกจากนี้ปัญหาเหล่านี้อาจไม่สามารถหาหนทางในการแก้ไขปัญหาที่ใช้ได้ทุกพื้นที่เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบททางภูมิศาสตร์ สังคม การเมือง วัฒนธรรมที่แตกต่างกันด้วย
ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem) ดังกล่าว เกินความสามารถของศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งจะรับมือได้หรือในบางกรณีเกินกว่าแค่ความรู้ทางวิชาการจะสามารถแก้ไขให้บรรลุสู่ความยั่งยืนได้ภายใต้สถานการณ์ที่ความรู้ทางวิชาการที่แยกส่วนตามศาสตร์แบบเดิมมีข้อจำกัดเช่นนี้การพัฒนาแนวทางด้านญาณวิทยา (ว่าด้วยความรู้และวิธีการหาความรู้) (Epistemological Approach) ใหม่ ๆจึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางออกต่อปัญหาที่ซับซ้อนดังกล่าวบทความนี้จะนำเสนอแนวทางการวิจัยที่เรียกว่า Transdisciplinary Research และพยายามจะชี้ให้เห็นตัวอย่างเพื่อความเข้าใจในแนวทางการวิจัยนี้และถกเถียงว่าแนวทางการวิจัยนี้มีความเหมาะสมและความท้าทายในการแก้ปัญหาความยั่งยืนอย่างไร
2. Transdisciplinary Research คืออะไร
คำว่า Transdisciplinary เป็นคำใหญ่ทางวิชาการอีกคำหนึ่งที่ถูกนำเสนอในวงวิชาการควบคู่ไปกับคำทางด้านวิชาการที่สะท้อนการศึกษาแบบสหวิทยาการอื่นๆ เช่น multi-disciplinary,cross-disciplinary, inter-disciplinary เป็นต้น ในภาษาไทยคำว่า Transdisciplinary มีหลายคำแปล เช่น ข้ามสาขาวิชา (จารุณี มุมบ้านเซ่า 2560, ณตพล ศุภณัฐเศรษฐกุล 2556) เปลี่ยนผ่านวิทยาการ (รัตนะบัวสนธ์ 2559) เป็นต้นแม้ว่าจากการสำรวจคำแปลเบื้องต้นจากหลายแหล่งส่วนใหญ่นิยมใช้คำว่า “ข้ามสาขาวิชา” มากกว่า “เปลี่ยนผ่านวิทยาการ” แต่แท้จริงแล้วความหมายของ Transdisciplinary นั้นกว้างขวางกว่าการ “ข้าม” สาขาวิชามากนักเปลี่ยนผ่านวิทยาการดูจะเป็นคำที่สะท้อนธรรมชาติของ Transdisciplinary มากที่สุด
สาระสำคัญของวิธีการศึกษา Transdisciplinary นั้นคือมันเป็นกระบวนการศึกษาที่อาศัยปัญหาที่ซับซ้อนในโลกความจริงเป็นตัวตั้งจากนั้นกระบวนการหาความรู้เพื่อมาแก้ไขปัญหาเหล่านั้นจะเป็นกระบวนการผลิตความรู้ร่วมกัน (knowledgeco-production) ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหานั้นและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นดังนั้นนอกจากเป็นการศึกษาที่ข้ามศาสตร์แล้ว ยังเป็นการศึกษาที่ใช้ความรู้หลายประเภทในการศึกษาด้วย (van Kerkohff and Lebel 2006) ความรู้หลายประเภทนั้นอาจรวมถึงความรู้ทางวิชาการ ความรู้ภาคปฏิบัติความรู้ท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้านด้วย นอกจากนี้ Bergmann et al.(2012) ยังเสนอเอาไว้ด้วยว่า Transdisciplinary Research มิได้มีเป้าหมายเพียงแค่การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนเท่านั้นแต่ต้องมีเป้าหมายทางวิชาการร่วมด้วย เป้าหมายทางวิชาการดังกล่าวเช่นศึกษาเพื่อการพัฒนาระเบียบวิธีวิจัย หรือนำไปสู่การพัฒนากรอบความคิดทางทฤษฎีต่าง ๆ ด้วยเป็นต้น ดังนั้น Transdisciplinary Research จึงไม่ใช่การนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาแต่อย่างเดียวแต่ต้องนำมาซึ่งความก้าวหน้าทางวิชาการด้วย
แต่เนื่องจากกระบวนการศึกษามีความเกี่ยวพันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม สิ่งที่ควรตระหนักรู้เสมอเมื่อมีการทำวิจัยแบบ Transdisciplinary Research ก็คือ ในกระบวนการวิจัยและดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาตามปกติ อำนาจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มมีไม่เท่ากัน กระทั่งนักวิจัยเองก็มีอำนาจเหนือกว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบางกลุ่มในฐานะที่เป็นผู้ผลิตความรู้ นักวิจัยควรตระหนักถึงความจริงในข้อนี้และมีบทบาทในการทำให้อำนาจที่แตกต่างกันมีความสมดุลมากยิ่งขึ้นในการวิจัย
3. ตัวอย่างของงานวิจัยที่ใกล้เคียงกับการวิจัยแบบ Transdisciplinary Research
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมหนึ่งกรณีที่สะท้อนว่าการผลิตความรู้ร่วมกันจะช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างไรคือตัวอย่างจากการแก้ปัญหาการจัดการน้ำของพื้นที่ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวาจ.สมุทรสงคราม (ปัญญา โตกทองและคณะ 2545) ในช่วงทศวรรษที่ 2520 มีการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ในเขตต้นน้ำของแม่น้ำแม่กลองในช่วงการสร้างจำเป็นจะต้องมีการกักน้ำไว้เพื่อความสะดวกในการก่อสร้างและเพื่อเพิ่มระดับน้ำในเขื่อนจึงทำให้ในเขตปลายน้ำเกิดปัญหาน้ำเค็มรุกรุนแรงกระทบชาวนาอย่างมากเนื่องจากขาดน้ำจืดมาผลักดันน้ำชาวบ้านจึงร้องให้ภาครัฐช่วยสร้างประตูน้ำปิดตามระบบคลองทั้งหมดในพื้นที่เพื่อป้องกันการรุกขึ้นมาของน้ำเค็มนี่เป็นตัวอย่างของการแก้ปัญหาโดยใช้ศาสตร์ด้านวิศกรรมชลประทานเพื่อแก้ปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือประตูน้ำเปลี่ยนระบบนิเวศในพื้นที่จากเดิมที่เคยเป็นแบบน้ำแบบ 3 น้ำ คือ มีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็มซึ่งในแต่ละน้ำจะมีวิถีชีวิตของชาวบ้านทีผูกอยู่กับระบบนิเวศเหล่านั้น เปลี่ยนเป็น 2 น้ำ คือ น้ำจืดซึ่งอยู่เหนือประตูน้ำและน้ำเค็มซึ่งอยู่หลังประตูน้ำฉะนั้นกลุ่มที่ใช้ระบบน้ำกร่อยในการทำเกษตรกรรมก็จะได้รับผลกระทบ เช่น สวนมะพร้าวเป็นต้น
ปัญหาอีกประการที่เกิดขึ้นและทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่บ้านคือ ประตูน้ำทำให้การระบายน้ำลงทะเลเป็นไปได้ยาก ดังนั้นเวลาหน้าน้ำมา จะเกิดปัญหาว่าน้ำจะท่วมนาเพราะระบายลงทะเลไม่ได้ ชาวนาจึงมักมาเปิดประตูน้ำเพื่อให้น้ำระบายลงทะเล แต่การทำอย่างนั้นจะกระทบคนที่อยู่หลังประตูน้ำที่ทำอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำแบบธรรมชาติ คนกลุ่มนี้อาศัยน้ำธรรมชาติซึ่งมีอาหารตามธรรมชาติของกุ้งของปลาอยู่ ดังนั้นในกระบวนการเลี้ยงจะต้องมีการเปิดให้น้ำเข้าและออกจากบ่อที่เลี้ยง คุณภาพน้ำต้องดีเพราะหากไม่ดีอาจทำให้กุ้งและปลาตายได้ การเปิดประตูน้ำส่งผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้เพราะว่า ประตูน้ำที่ปิดไว้นั้นบริเวณเหนือประตูน้ำจะมีตะกอนดินและมลพิษสะสมเอาไว้มากเพราะน้ำระบายออกไม่ได้ เมื่อเปิดประตูน้ำ ซึ่งอาศัยวิธีการดึงขึ้นจากด้านบน ทำให้น้ำไหลลอดประตูน้ำและพาเอามลพิษไหลลงมากับน้ำด้วย ทำให้ผลผลิตของผู้ที่เลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาตามธรรมชาติมีความเสียหาย สถานการณ์นี้ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านอย่างหนัก แม้ว่าภาครัฐจะลงมาช่วยไกล่เกลี่ยและสัญญาว่าจะแก้ปัญหา แต่ปัญหาก็ยังคาราคาซังเหมือนเดิม
จนกระทั่งราวปี พ.ศ. 2540 ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจากฝั่งน้ำเค็มเริ่มสนใจที่จะหาวิธีการแก้ปัญหานี้โดยใช้กระบวนการวิจัยชุมชน (community-basedresearch: CBR) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. – ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)) ชาวบ้านทำงานร่วมกับนักวิจัยพี่เลี้ยงในการกำหนดโจทย์วิจัยที่มุ่งแก้ปัญหาแต่ไม่กล่าวโทษกันจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นหลายสิบครั้งทั้งฝั่งน้ำจืดและน้ำเค็มดำเนินการอยู่หนึ่งปีครึ่งจนกระทั่งได้ความร่วมมือจากผู้นำของชาวบ้านฝั่งน้ำจืดและกำหนดโจทย์วิจัยที่เหมาะสมได้จากนั้นชาวบ้านโดยนักวิจัยของ สกว. เป็นผู้อำนวยกระบวนการ ชวนคิดชวนคุยได้ทำการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและภูมิปัญญาเกี่ยวกับวิธีการจัดการปัญหาน้ำท่วมรวมถึงศึกษาวิธีการทำประตูน้ำของชาวนากุ้งที่ทำให้น้ำระบายได้แต่ไม่ทำให้กุ้งซึ่งอยู่บริเวณพื้นน้ำหลุดออกมาด้วยซึ่งน่าจะตอบโจทย์การระบายน้ำที่ไม่ทำให้มลพิษที่กองอยู่หน้าประตูน้ำไหลตามมาด้วยจนสุดท้ายชาวบ้านร่วมกับนักวิชาการด้านวิศกรรมชลประทานร่วมกันออกแบบประตูน้ำเพื่อการแก้ไขปัญหานี้จนสำเร็จและผลักดันไปสู่การเปลี่ยนประตูน้ำทั้งหมดให้เป็นไปตามแบบนี้แทนเพื่อทำให้ประตูน้ำสามารถระบายน้ำจืดได้ แต่กันน้ำเค็มไม่ให้รุกขึ้นไป นอกจากนี้กระบวนการวิจัยยังช่วยสร้างทุนทางสังคม คือความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างชาวบ้านทั้งสองกลุ่ม นำไปสู่การกำหนดกติกาการอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยเช่นชาวบ้านฝั่งน้ำจืดจะเปิดประตูเพื่อล้างสิ่งปฏิกูลและมลพิษที่ค้างอยู่เหนือประตูน้ำเฉพาะช่วงเวลาที่ชาวบ้านหลังประตูน้ำไม่ได้ทำการเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลาเป็นต้น
กระบวนการข้างต้น แม้ไม่ได้ถูกแปะป้ายว่าเป็นการวิจัยแบบ Transdisciplinary แต่โดยเนื้อแท้ของกระบวนการนั้นมีความสอดคล้องมากตั้งแต่ปัญหาที่เข้าไปแก้ไขนั้นเป็นปัญหาที่ซับซ้อน คือเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านที่มีเรื่องการจัดการน้ำเป็นสาเหตุแต่การจัดการน้ำนั้นก็มีปัจจัยด้านนิเวศและวิถีชีวิตท้องถิ่นเป็นเงื่อนไขที่กำกับอยู่ทำให้การแก้ไขปัญหาแบบดั่งเดิม ที่พึ่งพาเพียงศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง (เช่น รัฐศาสตร์เพื่อการไกล่เกลี่ย,วิศวกรรมชลประทานเพื่อทำประตูใหม่) ไม่เพียงพองานนี้ยังเป็นการใช้ความรู้จากหลายศาสตร์ในการแก้ปัญหา ความรู้จากหลายประเภทภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกัน เกิดนวัตกรรมใหม่ในการแก้ไขปัญหานักวิจัยช่วยในการสร้างสมดุลทางอำนาจสุดท้ายสิ่งที่ชาวบ้านคิดค้นมีอำนาจมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายได้ถือว่ามีความสอดคล้องกับการวิจัยแบบ Transdisciplinary research ไม่น้อยเลย
4. ความได้เปรียบและความท้าทายของ Transdisciplinary Research ต่อการแก้ไขปัญหาความยั่งยืน
Transdisciplinary Research มีความได้เปรียบในการแก้ไขปัญหาความยั่งยืนมากกว่าแนวทางการวิจัยที่มีอยู่เดิมหลายประการประการแรก ปัญหาความยั่งยืนเป็นปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem) ปัญหาที่ซับซ้อนมักเป็นปัญหาที่มีสาเหตุหลายสาเหตุเกี่ยวพันกับเงื่อนไขมากมายและตัวของมันเองมักจะเป็นสาเหตุหรือเงื่อนไขของสิ่งอื่นด้วยและในหลายกรณีปัญหาดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ การเมืองวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม และเชื่อมโยงแบบข้ามพื้นที่หรือข้ามระดับด้วยความซับซ้อนของปัญหาดังที่กล่าวข้างต้นการแก้ปัญหานั้นด้วยศาสตร์เดียวหรือเพียงมิติเดียวไม่อาจทำให้ปัญหาคลี่คลายไปได้หรือถ้าคลี่คลายไปก็อาจนำไปสู่การสร้างปัญหาอื่นตามมาไม่จบสิ้น ดังตัวอย่างข้างต้นปัญหาที่แพรกหนามแดงเป็นตัวอย่างของปัญหาที่ซับซ้อนเกี่ยวพันกับหลายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ภายใต้บริบทท้องถิ่นที่มีความเฉพาะตัวและทำให้องค์ความรู้ทั่วไปอาจใช้ไม่ได้พอดีกับพื้นที่สาเหตุของปัญหาเกี่ยวพันกับหลายพื้นที่ การแก้ปัญหาก็เกี่ยวพันกับหลายระดับตั้งแต่ท้องถิ่นไปถึงระดับจังหวัด
ลักษณะของการผลิตความรู้ร่วมกัน (knowledge co-production) ระหว่างหลายศาสตร์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมกันในการผลิตความรู้ อย่างน้อยจะช่วยให้การมองปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้มีความรอบด้านมากยิ่งขึ้น ทำให้เข้าใจสาเหตุของปัญหาและเงื่อนไขที่สำคัญมากยิ่งขึ้น แนวทางการแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ อาจเกิดขึ้นจากการร่วมผลิตความรู้นี้ก็ได้ นอกจากนี้การที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการหาทางออกกับปัญหาทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของและทำให้การดำเนินการจริงเพื่อแก้ปัญหาเป็นไปได้
ประการที่สองวิธีการนี้สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ครอบคลุม (Inclusive Development) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Gupta and Vegelen, 2016) การพัฒนาที่ครอบคลุมเน้นเรื่องของการทำให้กลุ่มคนที่มักถูกทิ้งไว้ข้างหลังได้ประโยชน์จากการพัฒนากลุ่มที่ไร้พลัง (Powerless)ในการต่อรองมีพลังและส่วนร่วมในการต่อรองมากขึ้นซึ่งในส่วนนี้สอดคล้องกับ Transdisciplinary Research ที่นักวิจัยควรมีบทบาทในการสร้างสมดุลและความเท่าเทียมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ในกระบวนการวิจัยด้วย นอกจากนี้แนวคิดนี้ยังให้ความสำคัญกับความรู้ทุกประเภท รวมไปถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้จากการปฏิบัติด้วยซึ่งเป็นการกระจายอำนาจให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมกับการสร้างความรู้และการแก้ปัญหาความยั่งยืนได้ด้วยมิได้จำกัดอยู่เฉพาะที่นักวิชาการเท่านั้น
ประการที่สามแนวคิดนี้ทำให้ทุกฝ่ายร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันเพื่อช่วยกันพัฒนาและแก้ปัญหาความยั่งยืนทำให้เกิดหุ้นส่วนการพัฒนาที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน (Transformative Partnership) หุ้นส่วนลักษณะนี้ใกล้เคียงกับหุ้นส่วนแบบประชารัฐแต่ผลักความเป็นหุ้นส่วนนั้นไปไกลกว่า ตรงที่หุ้นส่วนแบบประชารัฐนั้นเป็นการรวมตัวกันของคนที่มีทรัพยากรไปช่วยคนที่ยังขาดแต่หุ้นส่วนการพัฒนาที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านนั้นจะผนวกคนที่ยังขาดเข้ามาในกระบวนการดำเนินนโยบายเพื่อการแก้ปัญหาด้วยทำให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจกันและกัน และเข้าใจปัญหามากยิ่งขึ้นเมื่อปัญหาถูกเข้าใจอย่างลึกซึ้งก็แก้ไขได้ตรงจุดมากขึ้น
ถึงกระนั้น การจะดำเนินการ Transdisciplinary Research แบบเต็มรูปแบบก็มีความท้าทายไม่น้อย ความท้าทายประการแรกคือความสามารถของนักวิจัยที่จะมาดำเนินการวิจัยลักษณะนี้ Transdisciplinary Research จำเป็นต้องอาศัยมากกว่าทักษะการวิจัยพื้นฐานแต่ต้องมีความสามารถทางสังคมและความสามารถในการอำนวยกระบวนการพูดคุยและการเจรจาต่อรองด้วยเพื่อทำให้กระบวนการวิจัยที่ต้องเกี่ยวพันกับคนจำนวนมากสามารถดำเนินไปได้ยิ่งเป็นงานวิจัยในประเด็นปัญหาที่มีความอ่อนไหวมากยิ่งต้องอาศัยทักษะทางสังคมมากยิ่งขึ้นอย่างไรก็ดีทักษะลักษณะนี้มิใช่ว่าจะมีในนักวิจัยทุกคน
ความท้าทายที่สำคัญประการที่สองคือการระบุตัวผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เหมาะสมดังที่กล่าวข้างต้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานการณ์ปัญหาที่ซับซ้อนมีความสำคัญต่อกระบวนการวิจัยแบบ Transdisciplinary Research หากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้ามาในกระบวนการมีเพียงกลุ่มที่มักจะถูกรวมเข้ามาอยู่แล้วเป็นปกติ (เช่น เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชนในพื้นที่ ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น) อาจไม่สามารถหาแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ได้การดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมกระบวนการจึงควรจะมีวิธีการที่เป็นระบบเพื่อให้เกิดความครอบคลุมที่สุดเท่าที่เป็นไปได้โดยอาจอาศัยกระบวนการสุ่มตัวอย่างแบบ Snowball หรือขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้นกลุ่มที่สำคัญที่ควรจะถูกรวมอยู่ในกระบวนการตั้งแต่ต้นก็คือกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายและกลุ่มที่เป็นกลุ่มเปราะบางและกลุ่มคนเล็กคนน้อยที่มักไม่มีเสียงในกระบวนการตัดสินใจ
ความท้าทายประการที่สามคือการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มากพอที่จะนำมาสู่ความร่วมมือในงานวิจัยความไว้เนื้อเชื่อใจอาจจะมีค่อนข้างน้อยในปัญหาความยั่งยืนที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้วเพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอาจจะเริ่มโทษกันเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นหรือวิธีการแก้ปัญหาเพื่อความอยู่รอดของกลุ่มหนึ่งกระทบอีกกลุ่มหนึ่งและเกิดเป็นความขัดแย้งอันยาวนานได้ดังนั้นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียน่าจะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ท้าทายที่สุดในกระบวนการของ Transdisciplinary Research ก็ว่าได้
ความท้าทายประการสุดท้ายก็คือไม่ใช่ทุกปัญหาที่อาจจะเหมาะกับการใช้ Transdisciplinary Research บางปัญหาที่อาจจะเป็นเรื่องของความบกพร่องในการดำเนินการหรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและผลประโยชน์การวิจัยเกี่ยวกับปัญหาลักษณะนี้อาจจะไม่ได้นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการใหม่ๆ แต่จะกลายเป็นการใช้ความรู้และข้อมูลในการกดดันให้มีการดำเนินการที่เหมาะสมหรือเพื่อการต่อรองทางการเมืองระหว่างกลุ่มที่เป็นกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบกับกลุ่มผู้มีอำนาจแทนซึ่งงานวิจัยลักษณะนี้หากพิจารณาอย่างเข้มงวดอาจไม่นับเป็น Transdisciplinary Research เสียทีเดียวเพราะมีประโยชน์ในทางการขับเคลื่อนแต่มีประโยชน์ในทางวิชาการโดยเฉพาะในทางทฤษฎีไม่มากนักอย่างไรก็ดีงานวิจัยลักษณะดังกล่าวก็ยังมีข้อดีอยู่มากในเชิงการขับเคลื่อนเพื่อการแก้ปัญหาความยั่งยืน
5. สรุป
งานวิจัย Transdisciplinary Research เป็นรูปแบบการวิจัยใหม่ ๆ เน้นการบูรณาการความรู้หลายศาสตร์และความรู้หลายประเภท ครอบคลุมทั้งความรู้ทางวิชาการความรู้จากประสบการณ์ทำงานและความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน (Complex problem) ซึ่งมักจะเป็นลักษณะปัญหาที่เกี่ยวกับความยั่งยืน บทความนี้พยายามเสนอว่าแนวการวิจัยนี้มีความได้เปรียบและเหมาะกับการแก้ไขปัญหาความยั่งยืนเพื่อการบรรลุ SDGs มากเพราะเป็นวิธีการที่จะทำให้สามารถใช้ความรู้จากหลายศาสตร์และหลายประเภทได้ดีสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ครอบคลุมและเสริมพลังให้กลุ่มที่ไร้อำนาจ และเป็นกลไกสำคัญในการสร้างหุ้นส่วนการพัฒนา (transformative partnership) แต่กระนั้นก็ยังมีความท้าทายหลายประการเช่นกันทั้งทักษะของนักวิจัย การระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องของปัญหาที่พิจารณา
สิ่งที่ควรเน้นย้ำในท้ายที่สุดก็คือ Transdisciplinary Research อาจไม่เหมาะกับปัญหาบางประเภทโดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวพันกับความบกพร่องในการดำเนินงานของภาครัฐและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและผลประโยชน์วิธีการวิจัยลักษณะอื่นอาจเหมาะสมกว่า เช่น งานวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) หรือกระทั่งงานวิจัยตามระเบียบวิจัยของศาสตร์ต่าง ๆดังนั้นนักวิจัยจึงควรเลือกวิธีวิจัยที่เหมาะกับปัญหาที่พิจารณาจะเกิดผลดีที่สุด
…………………………………………….
เอกสารอ้างอิงภาษาอังกฤษ
- Adlparvar, N. and M. Tadros. The Evolution of EthnicityTheory: Intersectionality, Geopolitics and Development. IDS Bulletin. 2016,Vol. 47 No. 2 May.
- Bergmann, M., et al., Chapter 1: The Integrative Approach in Transdisciplinary Research, in Methods for Transdisciplinary Research: APrimer for Practice. 2012, Campus Verlag: Frankfurt and New York.
- Gupta, J. and C. Vegelin. Sustainable Development Goalsand Inclusive Development. Int Environ Agreement, 2016, 16: 433-448.
- Van Kerkhoff, L. And L. Lebel, Linking Knowledge andAction for Sustainable Development. Annual Review of Environment andResource, 2006. 31(1): p.445-477.3
เอกสารอ้างอิงภาษาไทย
- จารุณี มุมบ้านเซ่า. การวิจัยแบบบูรณาการข้ามศาสตร์. วารสารสังคมสงเคราะห์ศาสตร์, พ.ศ. 2560 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน.
- ณตพล ศุภณัฐเศรษฐกุล. สหวิทยาการระหว่างสาขาวิชามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และการแพทย์ เพื่อประยุกต์ในการเรียนการสอนแพทยศาสตร์. ธรรมศาสตร์เวชสาร พ.ศ. 2556 ปีที่ 13 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนกรกฎาคม-กันยายน.
- ปัญญา โตกทอง, อภิชาต วิสิทธิวงศ์, สมบูรณ์ แดงอรุณ, อรรถวุฒิ กุลทอง, นพรัตน์ บุญสมหวัง, ปรีชา บุญสมหวัง, พิพัฒน์ อมศิริ, นาคอำนวย คำหมู่ และสุนทร บุญชัย. รูปแบบการจัดการน้ำในคลองตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม, พ.ศ. 2545 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
- รัตนะ บัวสนธ์. การวิจัยแบบไร้กำแพงทางวิชาการ (Non-boundary Research Method). วารสารราชพฤกษ์, พ.ศ. 2559, ปีที่ 14 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน)
Last Updated on มีนาคม 21, 2020