โดย พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ทีมงาน SDG MOVE ในนามของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ National SDGs Workshop ครั้งที่ 2 โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในงานมีการจัดเสวนาเพื่อทบทวนสถานการณ์ความคืบหน้าในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น พร้อมกับการนำเสนอผลการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการเมืองต้นแบบสิ่งแวดล้อมยั่งยืนอาเซียน
สำหรับการเสวนาความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับประเทศ มีผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) และกลุ่มส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน สำนักงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถาการณ์การดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ในภาพรวมของประเทศ ดร.ธัชไท กีรติพงศ์ไพบูลย์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงสถานะคะแนน SDG Index ปี 2019 ของไทยอยู่ที่ 73 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 40 จาก 162 ประเทศ ปรับตัวขึ้นจากปีก่อนอันดับที่ 59 จาก 156 ประเทศ ซึ่งเมื่อพิจารณาสถานการณ์ในระดับเป้าหมายแล้ว เป้าหมายที่มีความท้าทายสูงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลมีทั้งหมด 4 เป้าหมายหลัก คือ เป้าหมายหลักที่ 3 ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน เป้าหมายหลักที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำทั้งภายในและระหว่างประเทศ เป้าหมายหลักที่ 13 ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน และเป้าหมายหลักที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างพอเพียง ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้ถูกบรรจุในแผนการพัฒนาประเทศในระยะยาว กล่าวคือ มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติให้มีความสอดคล้องกับ 169 เป้าหมาย ของ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำหรับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้กล่าวถึงสถานการณ์ทั่วโลกว่าจากการทำแบบสอบถามโดย สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) พบว่าปัญหา Climate Action เป็นผลกระทบที่สำคัญที่สุดต่อเป้าหมาย SDGs โดยรวม อีกทั้งยังเป็นเป้าหมายที่ทั่วโลกมีความก้าวหน้าน้อยที่สุด ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทย เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 20 ของโลก ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจาก 4 แหล่งหลัก คือ จากการใช้พลังงาน 74.35% จากกระบวนการในภาคอุตสาหกรรม 5.96% จากการคมนาคม 15.98% และ จากขยะ/ของเสีย 3.71%
การมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำมีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากจำนวนประชากรที่อาศัยในเขตเมืองจะเพิ่มจากร้อยละ 54 เป็น ร้อยละ 66 ใน ค.ศ. 2050 ในการลดคาร์บอนฟุตพรินท์นั้นจำเป็นต้องอาศัยการจัดทำรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นระบบเพื่อให้การวางแผน การจัดทำกิจกรรม โครงการ และการใช้ทรัพยากรของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในปัจจุบันมีการจัดทำโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพรินท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในระดับเทศบาล เทศบาลเมือง และจังหวัดขึ้นแล้ว
นอกจากนี้ยังมีการผลักดันจากภาครัฐโดยกระทรวงมหาดไทยให้มีการนำประเด็นเรื่องการลดคาร์บอนฟุตพรินท์เข้าไปเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งจะช่วยให้การผลักดันประเด็นดังกล่าวเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของการเสวนาได้มีการกล่าวถึงปัจจัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องตระหนักถึงในระหว่างการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นเมืองที่ยั่งยืน คือ การให้ความสำคัญกับการจัดทำข้อมูลและใช้ข้อมูลเป็นฐานในการตัดสินใจ การให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับปฏิบัติ กับประชาชนต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนว่าเป็นแนวทางในการดำเนินงานมิใช่ลักษณะของการแข่งขัน หรือการให้รางวัล เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและทำให้แนวปฏิบัติของท้องถิ่นเห็นผลในระยะยาว