SDG Insights | สถานะประเทศไทยจาก SDG Index: 4 ปีผ่านไป อะไรดีขึ้นหรือแย่ลงบ้าง ?

โดย ชล บุนนาค

นับจากปีที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เริ่มดำเนินการในปี 2016 นี่ก็เข้าปีที่ 5 ของ SDGs แล้ว เหลือเวลาอีกประมาณ 10 ปีที่เราจะช่วยกันผลักดันให้ประเทศและโลกของเราบรรลุสู่ความยั่งยืน หนึ่งในดัชนีที่ผู้คนรู้จักและนิยมใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเมื่อพูดถึงสถานะ SDGs ของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ก็คือ SDG Index บทความนี้จะนำเสนอสถานะของประเทศไทยในปี 2019 ก่อนเพื่อให้ผู้อ่านเห็นสถานะปัจจุบันของประเทศไทย แล้วจากนั้นจึงย้อนเวลากลับไปนับตั้งแต่ SDG Index เริ่มรายงานสถานะของประเทศต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2016 มาจนถึงปี 2019 เพื่อดูว่า 4 ปีผ่านมาสถานะด้านต่างๆ ของประเทศไทยเป็นอย่างไร

1. บางประเด็นที่ควรทราบก่อนพิจารณา SDG Index

อย่างไรก็ดีก่อนที่กล่าวถึงสถานะ SDGs ของประเทศไทยตาม SDG Index มีบางประเด็นที่ผู้อ่านควรทราบเกี่ยวกับ SDG Index เสียก่อน

(ดาวน์โหลด Sustainable Development Report 2019 ที่นี่)

ประการแรก SDG Index ไม่ใช่ดัชนีทางการที่ใช้ในการติดตามการดำเนินงาน SDGs ขององค์การสหประชาชาติ แต่เป็นดัชนีที่จัดทำขึ้นโดยเครือข่ายการแก้ปัญหาการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Solutions Network: SDSN) ร่วมกับมูลนิธิ Bertelsmann (Bertelsmann Stiftung)

ประการที่สอง ตัวชี้วัดใน SDG Index มีบางตัวที่สอดคล้องกับ SDG indicators แต่ก็มีอีกหลายตัวที่ไม่ใช่ตัวชี้วัดทางการของ SDGs แต่เป็นตัวชี้วัดที่ทีมงานของผู้จัดทำพัฒนาขึ้นมาภายใต้ความจำกัดของข้อมูล

ประการที่สาม SDG Index ไม่ได้สะท้อนภาพของเป้าประสงค์ (Targets) ทั้งหมดของ SDGs แต่เป็นภาพสถานะของเป้าประสงค์ที่พอมีข้อมูลและเป็นสาระสำคัญของเป้าหมายนั้นๆ ในมุมมองของผู้จัดทำ

ประการที่สี่ แม้ว่ารายงาน SDG Index จะจั่วหัวว่าเป็น SDG Index 2019 หรือปีใดก็ตาม ใช่ว่าตัวชี้วัดทั้งหมดจะเป็นตัวชี้วัดของปี 2019 ทั้งนี้เนื่องจากตัวชี้วัดแต่ละตัวนั้นอาจมีรอบการเก็บข้อมูลที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นตัวชี้วัดประเภทใดและแต่ละประเทศมีวงรอบการเก็บแบบใด เช่น เก็บทุกปี ทุก 2 ปี หรือ ทุก 5 ปี เป็นต้น ดังนั้นข้อมูลที่ใช้ใน SDG Index แต่ละฉบับจะเป็นข้อมูลล่าสุดเท่าที่มี แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นข้อมูลในปีนั้น (หากอยากทราบว่าเขาใช้ข้อมูลอะไรในปีไหนสามารถเข้าไปดูได้ที่ https://sdsna.github.io/2019GlobalIndex/2019GlobalIndexIndicatorProfiles.pdf)

ประการสุดท้าย SDG Index ถูกออกแบบมาเพื่อประเมินสถานการณ์ภาพรวมของแต่ละประเทศเพื่อเปรียบเทียบกับระดับโลก ตัวชี้วัดจึงมักเป็นเกณฑ์ที่ใช้ในระดับโลก (เช่น เส้นความยากจนสากลในเป้าหมายที่ 1) จึงอาจทำให้ผลการวิเคราะห์ในบางข้ออาจขัดกับความรู้สึกของคนในประเทศนั้น นอกจากนี้อาจมีบางสถานการณ์ที่มีความจำเพาะสำหรับแต่ละประเทศ แต่ไม่ได้ถูกแสดงออกมาผ่าน SDG Index ก็เป็นได้

การกล่าวถึงประเด็นที่ควรทราบข้างต้นมิได้ต้องการลดความน่าเชื่อถือของ SDG Index แต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจถึงข้อจำกัดของ SDG Index เพื่อจะได้เข้าใจมันอย่างถูกต้องและไม่หลงยึดติดกับผลของ SDG Index จนเกินไป

2. ประเทศไทยอยู่ตรงไหน ใน SDG Index 2019

ในปี 2019 เป็นปีที่ SDG Index ถูกพูดถึงในประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะรัฐบาลที่นำ Index ตัวนี้มานำเสนอให้เห็นความก้าวหน้าของประเทศไทย เหตุผลที่มันถูกพูดถึงอย่างมากเพราะเป็นปีที่ประเทศไทยมีอันดับสูงที่สุดนับตั้งแต่มี SDG Index มา และอันดับสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย โดยในรายละเอียดนั้นประเทศไทยอยู่อันดับที่ 40 จากการประเมินประเทศที่มีข้อมูลทั้งหมด 162 ประเทศ โดยได้คะแนนรวมทั้งหมด 73.0 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 ซึ่งคะแนนดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ที่ 65.7

นอกจากนี้หากเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีอันดับสูงสุดคือ อันดับที่ 40 ตามมาด้วยประเทศเวียดนามที่อยู่ในอันดับ 54 ประเทศสิงคโปร์ อยู่อันดับที่ 66 และประเทศมาเลเซีย อยู่อันดับที่ 68 ซึ่ง ณ จุดนี้อาจมีคนตั้งคำถามแล้วว่าเป็นไปได้อย่างไรที่สิงคโปร์มีอันดับที่ต่ำกว่าประเทศไทย เหตุผลสำคัญก็คือแม้ว่าสิงคโปร์จะมีถึง 4 เป้าหมายที่ยั่งยืนแล้ว คือ เป้าหมายที่ 1 การขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ เป้าหมายที่ 7 การเข้าถึงพลังงานสะอาด และเป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมและนวัตกรรม ในหลายตัวชี้วัดที่ SDG Index พิจารณานั้น สิงคโปร์ไม่มีข้อมูลเหล่านี้ นอกจากนี้สิงคโปร์ยังขาดข้อมูลของเป้าหมายที่ 10 คือ Gini Coefficient adjusted for top income ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเดียวของเป้าหมายที่ 10 ในดัชนีนี้อีกด้วย

สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยนั้น หากจำแนกเป็นรายเป้าหมาย จะพบว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายที่อยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าบรรลุแล้ว 1 เป้าหมายคือ เป้าหมายที่ 1 การขจัดความยากจน โดยตัวชี้วัดหลักของเป้าหมายนี้คือเส้นความยากจนสากล และจำนวนประชากรที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ใต้เส้นความยากจนในปี 2030 ซึ่งทั้งสองตัวชี้วัดนั้นประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่บรรลุแล้ว เส้นความยากจนสากล ปัจจุบันอยู่ที่ 1.90 $US ซึ่งเมื่อคิดเป็นเงินบาทไทยแล้วมีค่าต่ำมาก ประมาณเกือบ 57.28 บาทเท่านั้น หากคิดเป็นต่อเดือนจะอยู่ที่เดือนละ 1,718.40 บาท ทำให้ประเทศไทยมีมีคนจนแบบ extreme poverty อยู่เลย จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยจะผ่านเกณฑ์ในข้อนี้ แต่หากคิดตามเส้นความยากจนของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งโดยเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 2,710 บาทต่อเดือน ประเทศไทยจะมีคนจนอยู่ราวร้อยละ 9.85 ของประชากรทั้งหมด (สศช. 2562)

เป้าหมายที่อยู่ในระดับรองลงมา คือ สีเหลือง ซึ่งหมายถึงยังมีความท้าทายบางประการอยู่ คือ เป้าหมายที่ 4 การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งในข้อนี้ปัญหาสำคัญของประเทศไทยคือปัญหาเรื่องการออกจากการเรียนกลางคัน ซึ่งทำให้จำนวนนักเรียนที่จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นมีเพียงร้อยละ 78.4 เท่านั้น

สำหรับเป้าหมายที่อยู่ในระดับที่ 3 คือ สีส้ม หมายถึงยังมีความท้าทายที่สำคัญอยู่มีทั้งหมด 11 เป้าหมาย ในแต่ละเป้าหมายมีหลายตัวชี้วัด ซึ่งมีทั้งที่อยู่ในสถานะที่ดีบ้าง ปานกลางบ้าง หรือวิกฤติบ้าง ในทีนี้จะขอยกมาเพียงตัวชี้วัดที่อยู่ในขั้นวิกฤติเท่านั้น เป้าหมายที่อยู่ในสถานะสีส้มประกอบด้วย

เป้าหมายที่ 2 การขจัดความหิวโหย มีประเด็นปัญหาขั้นวิกฤติคือดัชนีการจัดการไนโตรเจนอย่างยั่งยืน (Sustainable Nitrogen Management Index) ซึ่งสื่อว่าประเทศไทยยังมีการใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินจำเป็นและการใช้นั้นไม่ได้นำไปสู่การเพิ่มผลผลิตเท่าที่ควร

เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศสภาพ ประเด็นปัญหาที่อยู่ในขั้นวิกฤติคือสัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภา (ซึ่งเข้าใจว่าเป็นข้อมูลก่อนการเลือกตั้งปีพ.ศ. 2562) มีผู้หญิงในสภาคิดเป็นร้อยละ 5.3 เท่านั้น

เป้าหมายที่ 6 น้ำสะอาดและสุขาภิบาล ประเด็นปัญหาที่อยู่ในขั้นวิกฤติคือสัดส่วนน้ำเสียที่ได้รับการบำบัด ตามดัชนีรายงานว่ามีเพียงร้อยละ 12.1 ของน้ำเสียทั้งหมดที่ได้รับการบำบัด

เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดและจ่ายได้ ไม่มีประเด็นปัญหาวิกฤติ แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาระดับปานกลางคือ อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เชื้อเพลิงและพลังงาน


สถานะประเทศไทยใน SDG Index 2019
ที่มา www.sdgindex.org

เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่มีประเด็นปัญหาวิกฤติ แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาระดับปานกลางคือ ความชุกของกรณีแรงงานทาสสมัยใหม่ (Modern Slavery) โดยดัชนีรายงานว่ามี เหยื่อแรงงานทาสสมัยใหม่ 8.9 รายต่อประชากร 1000 คน

เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมและนวัตกรรม ประเด็นปัญหาที่อยู่ในขั้นวิกฤติคือ สัดส่วนรายจ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของ GDP เท่านั้น

เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนยั่งยืน ประเด็นปัญหาที่อยู่ในขั้นวิกฤติคือ ปัญหา PM 2.5

เป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ไม่มีประเด็นปัญหาวิกฤติ แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาระดับปานกลางคือ การจัดการของเสียของเทศบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ Nitrogen Production Footprint

เป้าหมายที่ 15 ระบบนิเวศบนผืนดิน ประเด็นปัญหาที่อยู่ในขั้นวิกฤติคือ เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยดัชนีใช้ตัวชี้วัดคือ Red list index of species survival ซึ่งประเทศไทยได้คะแนน 0.8 จากคะแนนเต็ม 1 ซึ่งเป็นคะแนนที่ลดลงจากปีก่อน สะท้อนว่าความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยถูกคุกคาม มีสัตว์หลายชนิดที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์เพิ่มขึ้น

เป้าหมายที่ 16 สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง มีประเด็นปัญหาที่อยู่ในขั้นวิกฤติคือเรื่องการคอรัปชัน โดยดัชนีใช้ตัวชี้วัดคือ Corruption Perception Index ซึ่งประเทศไทยได้เพียง 36 คะแนนจาก 100 คะแนน

เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ไม่มีประเด็นปัญหาวิกฤติ แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาระดับปานกลาง คือ สัดส่วนการใช้จ่ายด้านสุขภาพและการศึกษาของภาครัฐต่อ GDP และรายได้ของรัฐบาลต่อ GDP

สำหรับเป้าหมายที่อยู่ในขั้นวิกฤติของประเทศไทย คือ สีแดง มีอยู่ทั้งหมด 4 เป้าหมาย เช่นเดียวกับเป้าหมายสีส้ม แต่ละเป้าหมายมีหลายตัวชี้วัดซึ่งอยู่ในสถานะดีบ้าง ปานกลางบ้าง วิกฤติบ้าง ในที่นี้จะขอยกมาเพียงตัวชี้วัดที่อยู่ในขั้นวิกฤติเท่านั้น

เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและสุขภาวะที่ดี ประเด็นปัญหาที่อยู่ในขั้นวิกฤติ มี 3 ประเด็นหลัก คือ (1) การป่วยเป็นวัณโรค ซึ่งดัชนีรายงานว่าประเทศไทยมีกรณีของวัณโรค 156 กรณีต่อประชากร 1 แสนคน (2) การตายจากอุบัติเหตุทางถนน อยู่ที่ 31.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน และ (3) ปัญหาแม่วัยรุ่น ซึ่งอยู่ที่ 51.8 รายต่อการเกิด 1000 ราย ซึ่งทั้ง 3 ตัวชี้วัดนี้จัดอยู่ในเกณฑ์สีแดง หมายถึงมีสถานะที่ค่อนข้างวิกฤติโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

เป้าหมายที่ 10 การลดความเหลื่อมล้ำ ประเด็นปัญหาที่อยู่ในขั้นวิกฤติคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเพียงตัวชี้วัดเดียวในเป้าหมายนี้ใน SDG Index (SDG Indicators ของ SDG 10 มีทั้งหมด 11 ตัวชี้วัด) ค่า Gini Coefficient adjusted for top income (ซึ่งเป็นค่าสัมประสิทธิ์ Gini ที่มีการปรับปรุงเพื่อให้เห็นความแตกต่างของกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดกับกลุ่มอื่นๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น) อยู่ที่ 42.1 ซึ่งค่าของสัมประสิทธิ์ Gini นั้นยิ่งมากยิ่งแปลว่าเหลื่อมล้ำมาก ประเทศไทยมีสถานะข้อนี้ค่อนข้างวิกฤติโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

เป้าหมายที่ 13 การดำเนินการเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศไทยมีประเด็นวิกฤติตามดัชนีทั้งหมด 2 ประเด็นหลัก คือ (1) การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้พลังงาน อยู่ที่ 4.5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวประชากร ซึ่งนับว่าเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศในอาเซียน รองจากบรูไนและมาเลเซีย และ (2) จำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คิดเป็น 929.3 รายต่อประชากร 1 แสนคน สะท้อนว่าประเทศไทยยังต้องทำงานอีกมากในเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation)

เป้าหมายที่ 14 ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เป้าหมายนี้มีประเด็นวิกฤติ 2 ประเด็นหลักคือ (1) มลพิษในทะเล โดยดัชนีรายงานว่า Ocean Health Index ของประเทศไทยในด้านน้ำสะอาดนั้นอยู่ที่ 53.4 คะแนนจาก 100 คะแนน และ (2) ร้อยละของปลาและสัตว์ทะเลที่ถูกจับเกินพอดีหรือล่มสลายไปแล้ว อยู่ที่ ร้อยละ 55.6 ซึ่งทั้ง 2 ตัวชี้วัดประเทศไทยถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ


ประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นและน้อยลงจาก SDG Index ตั้งแต่ปี 2015-2019

3. ประเทศไทยมีอะไรยั่งยืนขึ้นบ้างในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา?

ประเทศไทยมีหลายประเด็นที่ยั่งยืนขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ในภาพรวมประเทศไทยมีลำดับที่ขยับขึ้นจากลำดับที่ 61 ในปี 2016 มาเป็น ลำดับที่ 40 ในปี 2019 คะแนนรวมเพิ่มขึ้นจาก 62.2 ในปี 2016 เป็น 73 คะแนนในปี 2019

กลุ่มประเด็นที่ประเทศไทยทำได้ดีขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจะอยู่ในส่วนของประเด็นด้านสุขภาพ การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และประเด็นอื่นๆ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

ประเด็นด้านสุขภาพที่ประเทศไทยทำได้ดีขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีดังนี้

  • ความชุกของภาวะแคระแกร็น (Stunting) ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 16.3 ในดัชนีปี 2016 เป็นร้อยละ 10.5 ในดัชนีปี 2019 (SDG 2)
  • ภาวะผอมแห้ง (Wasting) ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 6.7 ในดัชนีปี 2018 เป็นร้อยละ 5.4 ในดัชนีปี 2019 (SDG 2)
  • อัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (ต่อ 1000 รายของการเกิดมีชีพ) ลดลงจาก 12.3 ในดัชนีปี 2016 เป็น 9.5 ในดัชนีปี 2019 (SDG 3)
  • อัตราการตายของทารกแรกเกิด (ต่อ 1000 รายของการเกิดมีชีพ) ลดลงจาก 7.3 ในปีดัชนีปี 2016 เป็น 5.3 ในดัชนีปี 2019 (SDG 3)
  • อัตรากรณีการเป็นวัณโรคต่อประชากร 100,000 คน ลดลงจาก 171 ราย ในดัชนีปี 2016 เป็น 156 รายในดัชนีปี 2019 (SDG 3)
  • อัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ต่อประชากร 100,000 คน ลดลงจาก 36.2 ในดัชนีปี 2016 เป็น 31.7 ในดัชนีปี 2019 (SDG 3)
  • อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี เพิ่มขึ้นจาก 66 ปีในดัชนีปี 2016 เป็น 75.5 ปีในดัชนีปี 2019
  • ดัชนี Universal Health Coverage Tracer index (ดัชนีความครอบคลุมการบริการ) ดีขึ้น โดยคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 68.2 ในดัชนีปี 2017 เป็น 76.4 ในดัชนีปี 2019 (SDG 3)

ประเด็นด้านการศึกษาและวิจัยที่ประเทศไทยทำได้ดีขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีดังนี้

  • อัตราการเข้าเรียนระดับประถมโดยสุทธิ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 95.6 ในดัชนีปี 2016 เป็นร้อยละ 98 ในดัชนีปี 2019 (SDG 4)
  • สัดส่วนรายจ่ายด้านวิจัยและพัฒนาต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.3 ของดัชนีปี 2016 เป็น ร้อยละ 0.6 ในดัชนีปี 2019 (SDG 9)

ประเด็นด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศไทยทำได้ดีขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีดังนี้

  • การเป็นสมาชิกอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ ต่อประชากร 100 คน เพิ่มขึ้นจาก 52.3 ในดัชนีปี 2016 เป็น 99 ในดัชนีปี 2019 (SDG 9)
  • สัดส่วนของประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.6 ในดัชนีปี 2016 เป็นร้อยละ 52.9 ในดัชนีปี 2019 (SDG 9)
  • สัดส่วนประชากรที่เข้าถึงน้ำประปาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 75.9 ในดัชนีปี 2016 เป็นร้อยละ 83.9 ในดัชนีปี 2019 (SDG 6)

ประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ประเทศไทยทำได้ดีในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีดังนี้

  • ดัชนีสุขภาพมหาสมุทรด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จากคะแนน 100 คะแนน ประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มจาก 81 คะแนนในดัชนีปี 2016 เป็น 86 คะแนนดัชนีปี 2018 (SDG 14)
  • การฆาตกรรมต่อประชากร 100,000 คน จาก 5 รายในดัชนีปี 2016 เป็น 3.2 รายในดัชนีปี 2019 (SDG 16)
  • สัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างที่รายงานว่ารู้สึกปลอดภัยเมื่อเดินในเมืองยามค่ำคืน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 69.4 ในดัชนีปี 2016 เป็นร้อยละ 71.1 ในดัชนีปี 2019 (SDG 16)

4. ประเทศไทยมีอะไรยั่งยืนน้อยลงบ้างในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา?

ประเด็นที่ประเทศไทยมีสถานการณ์ความยั่งยืนที่แย่ลงในช่วงเวลา 4 ปีนั้นกระจายไปในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ดังนี้

ประเด็นความยั่งยืนในด้านสังคม (People) ที่มีสถานการณ์แย่ลงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีดังนี้

  • ความชุกของภาวะขาดสารอาหาร (undernourishment) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.4 ในดัชนีปี 2016 เป็นร้อยละ 9 ในดัชนีปี 2019 (SDG 2)
  • อัตราการตายอันเนื่องมาจากมลพิษทางอากาศในครัวเรือนและในสิ่งแวดล้อมต่อประชากร 100,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 6.5 ในดัชนีปี 2017 เพิ่มเป็น 61 ในดัชนีปี 2019 (ใช่ครับ เพิ่มจาก 6.5 เป็น 61) (SDG 3)
  • การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นต่ออัตราการเกิดมีชีพ 1000 คน เพิ่มขึ้นจาก 44.6 ในดัชนีปี 2017 เป็น 51.8 ในดัชนีปี 2019 (SDG 3)
  • ค่าเฉลี่ยคะแนนของมหาวิทยาลัย 3 อันดับแรกของประเทศใน Times Higher Education University Ranking ลดลงจาก 28.3 ในดัชนีปี 2018 เป็น 24.9 ในดัชนีปี 2019 (SDG 9)
  • จำนวนประชากรในคุก ต่อประชากร 100,000 คน) เพิ่มขึ้นจาก 398 คนในดัชนีปี 2016 เป็น 472.2 คนในดัชนีปี 2018 (SDG 16)
  • สัดส่วนของรายได้จากภาษีต่อ GDP ลดลงจากร้อยละ 24.1 ในดัชนีปี 2016 เป็น 19.2 ในดัชนีปี 2019 (SDG 17)
  • สัดส่วนของการใช้จ่ายของรัฐด้านสุขภาพและการศึกษาต่อ GDP ลดลงจากร้อยละ 10.7 ในดัชนีปี 2017 เป็นร้อยละ 6.8 ในดัชนีปี 2019 (SDG 17)

ประเด็นความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ (Prosperity) ที่มีสถานการณ์แย่ลงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีดังนี้

  • อัตราการเจริญเติบโตที่ถูกปรับให้สมดุลกับระดับรายได้ของประเทศ (Adjusted Growth Rate) ตามข้อมูลของธนาคารโลกโดยมีปีฐานคือปี 2017 ลดลงจาก -0.4 ในดัชนีปี 2018 เป็น -0.9 ในดัชนีปี 2019 (SDG 8)
  • อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.6 ในดัชนีปี 2017 เป็น 1.3 ในดัชนีปี 2019 (SDG 8)
  • ค่าสัมประสิทธิจีนี่ (Gini Coefficient adjusted for top income) เพิ่มขึ้นจาก 39.4 ในดัชนีปี 2016 เป็น 42.1 ในดัชนีปี 2019 (SDG 10)

ประเด็นความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม (Planet) ที่มีสถานการณ์แย่ลงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีดังนี้

  • ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นประจำปีของ PM 2.5 ในเขตเมือง (uG/m3) เพิ่มขึ้นจาก 22.4 ในดัชนีปี 2016 เป็น 26.3 ในดัชนีปี 2019 (SDG 11)
  • การผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นกิโลกรัมต่อหัวประชากร เพิ่มจาก 6.4 kg/Capita ในดัชนีปี 2017 เป็น 7.4 ในดัชนีปี 2019 (SDG 12)
  • ดัชนีสุขภาพมหาสมุทร – น้ำสะอาด คะแนนลดลงจาก 65.5 ในดัชนีปี 2016 เป็น 53.4 ในดัชนีปี 2019 (SDG 14)
  • ร้อยละของปลาและสัตว์ทะเลที่ถูกจับเกินพอดีหรือประชากรปลาล่มสลายไปแล้ว (Fish stock overexploited or collapsed) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 43 ในดัชนีปี 2016 เป็นร้อยละ 55.6 ในดัชนีปี 2019 (SDG 14)

5. บทสรุป

การพิจารณา SDG Index ในรายละเอียดเพื่อให้เข้าใจสาเหตุที่มาของค่าคะแนนและอันดับ รวมถึงเข้าใจสิ่งที่ประเทศไทยทำได้ดีและยังทำได้ไม่ดี มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมองไปในอนาคตและการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จากการเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของ SDG Index จะพบว่าการที่ประเทศไทยขึ้นเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนใน SDG Index ปี 2019 นั้นหาใช่เป็นเพราะการพัฒนาขึ้นของประเทศไทย แต่อย่างเดียวไม่ แต่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงตัวชี้วัด และการที่ประเทศเช่น สิงคโปร์ขาดตัวชี้วัดบางตัว

ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาครัฐไทยทำงานได้อย่างดียิ่งในหลายส่วนในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะด้านสุขภาพ การศึกษาวิจัย โครงสร้างพื้นฐาน และประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อมบางประเด็น แต่ปัญหาความยั่งยืนยังคงมีอยู่ในทุกมิติ และในหลายประเด็นมีสถานะแย่ลงตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า ในอีก 10 ปีที่เหลือ ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานและทำงานให้หนักขึ้นเพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุ SDG ได้ทันปีค.ศ. 2030

Last Updated on มีนาคม 18, 2020

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น