เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ภายใต้ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดตั้งเครือข่าย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ซึ่งเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนการทำงานของผู้เชี่ยวชาญทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาด้านความยั่งยืน ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้แทนจากหลายภาคส่วนในประเทศไทยให้ความสนใจและเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
Sustainable Development Solutions Network (SDSN) เป็นเครือข่ายระดับโลกที่ทำงานใกล้ชิดกับองค์การสหประชาชาติ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 800 องค์กรใน 35 ประเทศ มีเครือข่ายในอาเซียนได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ภารกิจหลักของ SDSN คือ
- การวิเคราะห์นโยบายและพัฒนาเครื่องมือเพื่อการบรรลุ SDGs
- การส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยั่งยืน
- การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
- การระดมทรัพยากรและทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น
สำหรับเครือข่าย SDSN ประเทศไทยที่จะจัดตั้งขึ้นนั้นเป็นความร่วมมือของ 3 หน่วยงานหลักที่เป็นเจ้าภาพคือ โครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทย.) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
รศ. ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะเจ้าภาพที่สนับสนุนแนวคิดการสร้างเครือข่ายวิชาการได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมและกล่าวถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายวิชาการเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของคณะเศรษฐศาสตร์ที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการผลิตผลงานทางวิชาการที่นำไปสู่การออกแบบนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมในมิติต่างๆ ได้อย่างตรงจุด และตามความถนัดของผู้เชี่ยวชาญ
ขณะที่ คุณรองวุฒิ วีรบุตร รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความสำคัญและความจำเป็นของการจัดตั้ง SDSN ประเทศไทย ว่าการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ทุกหน่วยงานดำเนินการอยู่ตอนนี้ยังไม่เพียงพอที่จะสัมฤทธิ์ผลได้ทันปี 2030 ตามเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติตั้งเอาไว้ หากอ้างอิงตามรายงาน Global sustainable development report 2019 ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกลไก Multi-stakeholder platform กล่าวคือ SDSN ประเทศไทยจะเป็นกลไกที่เชื่อมนักวิชาการไทยกับภาคประชาสังคม และนักวิชาการไทยกับนักวิชาการในต่างประเทศไทย รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมในทางปฏิบัติจากภาครัฐ และภาคเอกชน ซึ่งช่วยผลักดันให้เกิดการทำงานอย่างบูรณาการขึ้น
หลังจากทราบที่มาและความจำเป็นในการจัดตั้ง SDSN ประเทศไทยแล้ว ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ได้นำเสนอร่างแนวคิดการจัดตั้งเครือข่าย SDSN และจัดให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นต่อร่างแนวคิด รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันขององค์กรต่างๆ ในรูปแบบการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อหารือ 3 ประเด็นสำคัญ คือ ข้อคิดเห็นต่อร่างแนวทางการจัดตั้ง SDSN ประเด็นที่แต่ละหน่วยงานเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการขับเคลื่อน SDGs ทั้งในเชิงเป้าหมาย เชิงกลไก และระดมความคิดเกี่ยวกับทรัพยากรที่มีศักยภาพในการสนับสนุนการจัดตั้ง SDSN ประเทศไทย โดยข้อเสนอทั้งหมดจะนำไปสู่การปรับปรุงแนวทางการจัดตั้งอย่างเป็นรูปธรรมในลำดับต่อไป
Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021