ชล บุนนาค
ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในประเทศไทยที่ไม่ค่อยมีคนทราบนัก การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นผลมาจากมติที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ซึ่งผู้คนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs ในภาครัฐเรียกขานกันว่าเป็นการ “Set Zero” การขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย บทความนี้ต้องการไฮไลต์ประเด็นสำคัญของการ Set Zero บางประการ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นศักยภาพของการสร้างผลกระทบทางบวกต่อการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย ขณะเดียวกันจะวิพากษ์ให้เห็นถึงประเด็นที่ได้รับผลกระทบทางลบจาก “Set Zero” ดังกล่าวและสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการเพื่อทำให้การขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น
หัวข้อย่อยที่ 1 จะให้ภาพรวมของการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย หัวข้อย่อยที่ 2 แนะนำคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ให้ผู้อ่านได้รู้จัก หัวข้อย่อยที่ 3 กล่าวถึงภาพรวมของการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยโดยภาครัฐ สิ่งที่ทำได้ดีและความท้าทาย หัวข้อย่อยที่ 4 จะกล่าวถึงสาระสำคัญของการประชุม กพย. 19 ธันวาคม 2562 หัวข้อย่อยที่ 5 ให้ความเห็นเกี่ยวกับนัยยะต่อการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย ท่านสามารถข้ามไปอ่านหัวข้อย่อยที่ 4 และ 5 ได้เลยหากท่านมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยอยู่บ้างแล้ว
1. กลไกการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย
ก่อนจะกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงต้องเล่าภูมิหลังของการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยให้กับผู้อ่านที่เพิ่งเข้ามาติดตามได้ฟังเสียก่อน การขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามรับรองวาระการพัฒนา 2030 ที่เสนอโดยองค์การสหประชาชาติ ร่วมกับประเทศสมาชิกรวมทั้งหมด 193 ประเทศ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในอัตราเร่งที่ค่อนข้างสูง
พลวัตรของการขับเคลื่อนภายในประเทศดังกล่าวถูกผลักดันอย่างสำคัญด้วยการขับเคลื่อนอย่างแข็งขันในระดับโลกของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากองค์กรภายใต้องค์การสหประชาชาติในประเทศไทยในชื่อ UN Country Team ภาคเอกชนโดยเฉพาะการขับเคลื่อนของ UN Global Compact, World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) และ Global Reporting Initiative (GRI) ภาควิชาการโดยเฉพาะ Sustainable Development Solutions Network (SDSN) และนักวิชาการด้าน Sustainability Science และในด้านที่เกี่ยวข้องเฉพาะประเด็นตามเป้าหมาย เครือข่ายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มผู้หญิง กลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/รัฐบาลท้องถิ่น กลุ่มเยาวชน องค์กรอาสาสมัคร องค์กรระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับกับองค์การสหประชาชาติ เช่น องค์การการค้าโลก (World Trade Organizations) องค์การอนามัยโลก (World Health Organisation: WHO) องค์การสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินระหว่างประเทศ (INTOSAI: International Organisation of Supreme Audit Institutions) เป็นต้น การดำเนินงานของกรอบอนุสัญญา ความตกลงและพิธีสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงความตื่นตัวขององค์กรระดับภูมิภาคที่เป็นกลไกระหว่างประเทศหลักในภูมิภาคนั้นๆ เช่น สหภาพยุโรป (European Union) หรือกระทั่งอาเซียน
การขับเคลื่อนในระดับโลกดังกล่าวเป็นตัวกระตุ้นให้องค์กรภายในประเทศทุกภาคส่วนต้องขยับตัวหันมาสนใจเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อตามโลกให้ทันไม่ให้ตกขบวน รวมถึงใช้โอกาสที่เกิดขึ้นจากวาระการพัฒนา 2030 ให้เป็นประโยชน์กับการทำงานของตน บางองค์กรหรือเครือข่ายที่ขับเคลื่อนเชิงประเด็นอยู่แล้วก็ใช้โอกาสที่ประเด็นตนเองอยู่ใน SDGs ชูประเด็นนั้นให้รัฐบาลและสังคมเห็นความสำคัญ ในขณะเดียวกัน หน่วยงานทีเกิดขึ้นใหม่และทำงานมุ่งเป้าเรื่องการขับเคลื่อน SDGs ในภาพรวมโดยเฉพาะก็มีเช่นกัน ภาพที่ 1 แสดงให้เห็นถึงองค์กรและเครือข่ายที่สำคัญในการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย โดยรวบรวมและจัดระบบผ่านการทำงานของ SDG Move ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่าการขับเคลื่อนที่แท้จริงในประเทศไทยย่อมมีจำนวนองค์กรมากกว่านี้เป็นแน่
2. คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.)
ท่ามกลางการขับเคลื่อนขององค์กรในหลายภาคส่วนนั้น กลไกกลางของประเทศไทยที่ดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นทางการคือ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือเรียกสั้นๆ ว่า กพย. คณะกรรมการนี้ถูกตั้งขึ้นมาหลังจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Conference on Sustainable Development: UNCSD) หรือการประชุม Rio+20 ในปี พ.ศ. 2556 สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คณะกรรมการดังกล่าวก็ยุติบทบาทไปชั่วคราวอันเนื่องมาจากความวุ่นวายทางการเมือง และกลับมาดำเนินการอีกครั้งหลังจาก นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้เดินทางไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 และรับรองวาระการพัฒนา 2030
ในครั้งนี้ กพย. ได้ถูกตั้งขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กำกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ในขณะนั้น) (สศช.) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายปลัดกระทรวงและหัวหน้าสูงสุดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 22 หน่วยงาน ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์กรมหาชน) ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกิน 4 คน และมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ขณะนั้น) เป็นกรรมการและเลขานุการ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรองเลขาธิการ สศช. เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ รวมทั้งสิ้นมีคณะกรรมการจำนวน 36 คน
นอกจากนี้ กพย. ในการประชุมครั้งที่ 1/2559 และ 1/2561 ที่ประชุม กพย. ได้มติเพิ่มองค์ประกอบของ กพย. โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2) คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3) คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 4) อนุกรรมการการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ซึ่งแต่ละคณะอนุกรรมการก็มีองค์ประกอบของตนเอง และมีเลขานุการหลักคือ สศช. และในบางคณะอนุกรรมการก็จะมีเลขานุการร่วม เช่น ในคณะอนุกรรมการคณะที่ 3 ว่าด้วยการติดตามและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืน มีสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นเลขานุการร่วม ส่วนคณะอนุกรรมการคณะที่ 4 ว่าด้วยการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ มีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเลขานุการร่วม เป็นต้น
3. การดำเนินการของ กพย. ก่อน Set Zero
(ท่านสามารถเข้าถึงสรุปการประชุม กพย. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2561 ได้ที่นี่)
นับตั้งแต่ปี 2559 กพย. ได้มีการออกคำสั่งและมติต่างๆ มากมายที่นำมาซึ่งการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดคงไม่สามารถนำมากล่าวถึงในที่นี้ได้ครบถ้วน แต่ก็พอจะกล่าวได้อย่างมั่นใจว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการในเป้าหมายและเป้าประสงค์ที่ตนรับผิดชอบตลอด 4 ปีที่ผ่านมาตามศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ การดำเนินการดังกล่าวมิเพียงเป็นการดำเนินงานภายในประเทศเท่านั้น แต่หลายหน่วยงานได้มีการทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย หลายหน่วยงานได้พัฒนา platform ที่ส่งเสริมการทำงานกับภาคส่วนอื่นด้วย รวมถึงมีการพัฒนาระบบติดตามข้อมูลตัวชี้วัดที่ตนดูแลอย่างเป็นระบบและพยายามเชื่อมโยงกับกลไกที่ สศช. ได้ตั้งเอาไว้ platform ที่สำคัญควรกล่าวถึงคือ คณะทำงานร่วมภาคประชาสังคมและภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Open-ended Working Group (OEWG) for SDGs)) ซึ่งริเริ่มโดยกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ที่รับผิดชอบเป้าหมายที่ 17 หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการรายงานการทบทวนระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ที่การประชุมระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development) ถึง 2 ครั้งในช่วงเวลา 4 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นของรัฐบาลไทยในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และยังสะท้อนถึงความเข้มแข็งของทีมงานหลักของกระทรวงต่างๆ ที่ทำงานเรื่อง SDGs อีกด้วย นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้มีบทบาทนำในเวทีนานาชาติอย่างน้อย 2 ครั้งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2559 ประเทศไทยเป็นประธานกลุ่ม G77 และเมื่อปี 2562 ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน ซึ่งในเวทีเหล่านี้ประเทศไทยได้มีการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในหลากหลายรูปแบบ เช่น การส่งเสริมให้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหนึ่งในหนทางบรรลุ SDGs ในคราวที่เป็นประธานกลุ่ม G77 การเป็นประธานการประชุมสุดยอด ASEAN-UN ครั้งที่ 10 เพื่อทำให้แผนงานของอาเซียนส่งเสริมกันกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และการจัดตั้งศูนย์ ASEAN Sustainable Development Studies and Dialogue (ACSDSD) ในคราวที่เป็นประธานอาเซียน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อน SDGs ในช่วง 4 ปีแรกภายในประเทศไทยนั้น ใช้เวลาไปกับการ Mainstreaming SDGs คือการนำ SDGs มาเชื่อมโยงกับงานที่ทำอยู่เดิม การเชื่อมกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 และแผนยุทธศาสตร์ระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการจัดการกับตัวชี้วัดเพื่อให้มีการเก็บข้อมูลและรายงานองค์การสหประชาชาติได้ แม้ว่าจะมีการขอให้หน่วยงานจัดทำ Roadmap สำหรับการบรรลุเป้าหมายที่ตนรับผิดชอบและมีการดำเนินงานไปตามศักยภาพของหน่วยงาน แต่การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐก็ยังคงเผชิญปัญหาเรื่องการทำงานอย่างบูรณาการอยู่ดี ทั้งนี้เพราะในช่วง 4 ปีแรก ประเทศขาดหน่วยงานที่จะเป็นตัวกลางและสร้างกลไกให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนในเชิงของการขับเคลื่อน SDGs ในภาคปฏิบัตินั่นเอง การนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ก็ยังทำได้ไม่มากนักเนื่องจากยังขาดกลไกการขับเคลื่อนและศักยภาพในระดับจังหวัด ผนวกกับการขาดอำนาจการตัดสินใจและทรัพยากรในระดับพื้นที่ นอกจากนี้สิ่งที่ขาดหายไปคือ การพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการและการให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อน SDGs ในทุกระดับเพื่อให้มีมุมมองที่ถูกต้องต่อ SDGs และการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ปัจจัยเหล่านี้น่าจะเป็นเหตุผลที่ประเทศไทยอาจจะยังขับเคลื่อน SDGs ได้ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
4. การประชุม กพย. 19 ธันวาคม 2562: the Set Zero
(ท่านสามารถเข้าถึงเอกสารการประชุม กพย. 1/2562 19 ธันวาคม 2562 ได้ที่นี่)
การประชุม กพย. ครั้งสุดท้ายก่อนวันที่ 19 ธันวาคม 2562 นั้น เกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2561 สาเหตุของการเว้นว่างการประชุมไปหนึ่งปีกว่านั้นอาจอธิบายได้หลายปัจจัย ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาล คสช. มาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเกี่ยวพันกับการลาออกของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับ สศช. เพื่อไปทำงานการเมือง ทำให้ขาดตำแหน่งสำคัญในการขับเคลื่อน SDGs ในระดับของ กพย. และกระบวนการการสู้ศึกเลือกตั้งและกระบวนการต่างๆ ที่ตามมาก็อาจทำให้การจัดประชุม กพย. มีความติดขัด นอกจากนี้การเกษียณอายุราชการของ รองเลขาธิการ สศช. ลดาวัลย์ คำภา ผู้ดูแลการขับเคลื่อน SDGs ตั้งแต่แรกเริ่มและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใน สศช. (รวมถึงการเปลี่ยนจาก “คณะกรรมการ” มาเป็น “สภา”) น่าจะมีส่วนสำคัญในการทำให้การประชุม กพย. ว่างเว้นไปในช่วงเวลาดังกล่าว
และแล้วการประชุม กพย. วันที่ 19 ธันวาคม 2562 ก็ได้เกิดขึ้น โดยในการประชุมดังกล่าวมี พลเอกประวิทย์ วงศ์สุวรรณ เป็นประธานในที่ประชุม ทีมงานของ สศช. ที่เป็นคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ นำโดย ดร.วันฉัตร สุวรรณกิตติ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน เป็นฝ่ายเลขาฯ ที่จัดเตรียมข้อมูลสำหรับการประชุม สาระสำคัญที่ควรกล่าวถึงที่ทำให้การประชุมครั้งนี้ถูกขนานนามว่า the Set Zero มีดังต่อไปนี้
- มีการเสนอให้ “เห็นชอบในหลักการของร่างแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย…ตามที่สำนักงานฯ เสนอ และมอบหมายให้สำนักงานฯ (สศช.) ดำเนินการจัดทำแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทยในรายละเอียดร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ต่อไป
- “..ยกเลิกการดำเนินงานต่างๆ ตามที่คณะอนุกรรมการต่างๆ ภายใต้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เคยมีข้อสังการหรือมีมติ รวมทั้งยกเลิกการให้หน่วยงานรายงานความก้าวหน้าทุกๆ 6 เดือน และให้ใช้ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) เป็นกลไกหลักในการติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป..”
- มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการชุดที่ 3 คือ คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้ทาง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ NECTEC มามีบทบาทมากขึ้น เปลี่ยนประธานคณะอนุกรรมการจากภาคเอกชน มาเป็น ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และปัจจุบันเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และปรับผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติออกจากการเป็นเลขานุการร่วมของคณะอนุกรรมการ และเป็นเพียงอนุกรรมการเท่านั้น และเป็นทางรองเลขาธิการ สศช. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการตำแหน่งเดียว ส่วนผู้อำนวยการ NECTEC ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ สศช. อีก 3 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
5. นัยยะต่อการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย
5.1 ร่างแผนขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย
ร่างแผนขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand’s SDGs Roadmap) มีโครงสร้างตามภาพที่ 2 ประกอบด้วยแผนการขับเคลื่อนทั้งหมด 6 ด้านประกอบด้วย
- การสร้างการตระหนักรู้
- การเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับแผน 3 ระดับของประเทศ
- กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน
- การจัดทำโครงการ/การดำเนินงาน/การพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
- ภาคีการพัฒนา
- การติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในที่นี้คงไม่สามารถอธิบายรายละเอียดของร่างแผนขับเคลื่อนฯ ได้ทั้งหมด
(ท่านสามารถเข้าถึงการนำเสนอแผนขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย ได้ตามลิงก์นี้
- ไฟล์นำเสนอ อ่านที่นี่โดยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องอยู่ในหน้าที่ 24-33
- ระเบียบวาระการประชุม คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 1/2562: อ่านที่นี่ หน้า 3.1.1-5 ถึงหน้า 3.2.2-11)
แต่จากการที่ได้อ่านรายละเอียดของร่างแผนขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทยแล้ว พบว่ามีข้อดีและข้อสังเกต/ข้อควรปรับปรุงที่สำคัญดังนี้
ข้อดีของร่างแผนขับเคลื่อนฯ ฉบับนี้มีอย่างน้อย 3 ประการคือ
ประการแรก มีความเป็นเอกภาพ ชัดเจน และมีการเน้นประเด็นที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ ประเด็นที่สำคัญที่ในช่วง 4 ปีแรกของการขับเคลื่อนในประเทศไทยยังขาดอยู่มากคือ 1) เรื่องของการสร้างการตระหนักรู้ และ 2) การสร้าง Platform เพื่อให้เกิดภาคีการพัฒนาโดยเฉพาะกับภาคเอกชน วิชาการ ประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ สองส่วนนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อน SDGs และหากมีการดำเนินการทั้งสองประเด็นนี้อย่างเป็นระบบและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อน SDGs แน่นอน
ประการสอง การเชื่อมโยง SDGs กับแผน 3 ระดับของประเทศนั้น และการทำให้การทำโครงการของหน่วยงานตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและ SDGs (ตามแนวคิด X->Y->Z) มีข้อดีตรงที่ทำให้เห็นว่า สศช. ให้ความสำคัญกับความสอดคล้องเชิงนโยบาย (Policy Coherence) ซึ่งถือเป็นประเด็นที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อน SDGs
ประการที่สาม การใช้ระบบ eMENSCR ในการติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แทนการรายงานทุก 6 เดือนตามระบบเดิมนั้น ก็ถือเป็นข้อดีอย่างมาก เพราะการใช้ระบบ eMENSCR ซึ่งเป็นสิ่งที่หน่วยราชการทุกหน่วยจะต้องใส่ข้อมูลเข้าไปเพื่อรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศอยู่แล้ว ในการติดตามการขับเคลื่อน SDGs ด้วยจะช่วยลดภาระการทำงานของหน่วยงานภาครัฐลงเป็นอันมาก แต่ประเด็นนี้ยังมีข้อสังเกตบางประการที่จะกล่าวต่อไป
ข้อสังเกต/ข้อควรปรับปรุงสำหรับร่างแผนขับเคลื่อนฯ ฉบับนี้มีดังนี้
ประการแรก แม้ว่าแผนนี้มุ่งจะทำให้ SDGs มีความสอดคล้องกับแผนทั้ง 3 ระดับของประเทศ คำถามคือ ความสอดคล้องนั้นเป็นไปในทิศทางใด เป็นไปในทิศทางที่ปรับให้แผนทั้ง 3 ระดับมีความสอดคล้องกับ SDGs มากขึ้น หรือเป็นการปรับให้ SDGs มาสอดคล้องกับแผน 3 ระดับของประเทศไทยแทน ประเด็นนี้มีความสำคัญเพราะ ความจริงข้อหนึ่งก็คือ ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 1 และแผนระดับที่ 2 เช่น แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ แผนปฏิรูปประเทศฯ แผนความมั่นคงแห่งชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อาจไม่สอดคล้องแนบสนิทกับ SDGs พอดี และในบางประเด็นหากดูให้ละเอียดมองข้ามประเด็น SDGs บางประเด็นหรืออาจขัดกับประเด็น SDGs ก็ได้เช่นกัน การศึกษาความสอดคล้องระหว่าง SDGs กับแผนอย่างน้อยในระดับที่ 1 และ 2 จึงมีความสำคัญมาก และการปรับให้สอดคล้อง ควรจะเป็นการปรับแผนระดับที่ 1 และ 2 ให้สอดคล้องกับ SDGs มากกว่าในทางตรงข้าม นอกจากนี้ ความสอดคล้องนอกจากจะพิจารณาว่ามีประเด็น SDGs อยู่ในแผนระดับ 1 และ 2 หรือไม่อย่างไรแล้ว ยังต้องพิจารณาความสมดุลของเป้าหมายการพัฒนาด้วยว่าจริงๆ แล้วมีความสมดุลระหว่างมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ด้วย
ประการที่สอง การบูรณาการการดำเนินงานของกลไกภาครัฐจะยังคงเป็นความท้าทายที่สำคัญของการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย ในเอกสารระเบียบวาระการประชุมระบุว่า การบูรณาการภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น สาระสำคัญคือการบูรณาการการกลไกการขับเคลื่อน SDGs กับกลไกการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้การดำเนินงานไม่ซ้ำซ้อน ลงแรงเรื่องเดียวแล้วได้ผลลัพธ์ที่ตอบทั้งแผนระดับชาติและ SDGs ซึ่งถือเป็นข้อดีในการจัดสรรทรัพยากรภาครัฐ แต่การดำเนินการดังกล่าวยังไม่ได้แก้ไขปัญหาของการบูรณาการที่ภาครัฐมีมาแต่เดิม และไม่ได้ช่วยให้การดำเนินการบรรลุ SDGs มีการบูรณาการมากขึ้นแต่อย่างใด การทำรายละเอียดของแผนขับเคลื่อนฯ ฉบับนี้จึงควรให้ความสำคัญการวางกลไก ระบบ หรือปัจจัยบางอย่างที่จะช่วยให้การทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานในประเด็นที่เกี่ยวข้องกันสามารถทำงานได้อย่างบูรณาการได้ด้วย
ประการที่สาม การติดตามประเมินผลการพัฒนาด้วยระบบ eMENSCR นั้นแม้จะมีประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพในการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการของภาครัฐ แต่การติดตามประเมินผล SDGs ไม่ควรติดตามด้วยระบบ eMENSCR แต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไม่ได้ดำเนินการโดยภาครัฐอย่างเดียว แต่รวมถึงภาคเอกชนและภาคประชาสังคมด้วย และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ตัวชี้วัด SDGs กับตัวชี้วัดของยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับ 2 ส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกัน ตัวชี้วัดจำนวนหนึ่งต้องอาศัยการคำนวณจากภาควิชาการหรือหน่วยงานทางเทคนิคประกอบด้วย บางตัวต้องอาศัยการทำสำมะโนหรือการเก็บข้อมูลตามมาตรฐานขององค์กรระหว่างประเทศ ระบบ eMENSCR จึงควรเป็นระบบที่มาแทนการรายงานทุก 6 เดือนเดิมของ สศช. เท่านั้น แต่ไม่ควรให้ระบบมาแทนที่กลไกอื่นๆ โดยเฉพาะบทบาทของสำนักงานสถิติแห่งชาติในการทำงานเกี่ยวกับตัวชี้วัด
ประการที่สี่ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ในเชิงกระบวนการ การร่างแผนขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทยฉบับนี้ ขาดการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยสิ้นเชิง การเสนอร่างแผนขับเคลื่อนฯ ดังกล่าวถูกแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบเพียงไม่กี่วันก่อนการประชุม การขาดการมีส่วนร่วมนี้อาจได้ทำลายทุนทางสังคม (Social Capital) คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความยินดีที่จะร่วมมือกัน ไปแล้วก็เป็นได้ มิใช่ระหว่างภาครัฐกับภาคส่วนอื่นเท่านั้น แต่ภายในภาครัฐกันเองก็เช่นเดียวกัน ทุนทางสังคมนี้จำเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อน SDGs เพราะ สศช. ไม่สามารถขับเคลื่อน SDGs องค์กรเดียวได้ ดังนั้นนับจากนี้การเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมกับการให้ความเห็นกับร่างแผนขับเคลื่อนฯ อย่างกว้างขวางและรอบด้านจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยสร้างทุนทางสังคมและสร้างแนวร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อการขับเคลื่อน SDGs ได้อีกครั้ง
5.2 การยกเลิกการดำเนินงานต่างๆ ตามที่คณะอนุกรรมการต่างๆ ภายใต้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เคยมีข้อสังการหรือมีมติ
การยกเลิกการดำเนินงานต่างๆ ตามที่คณะอนุกรรมการต่างๆ ภายใต้คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้เคยมีข้อสั่งการหรือมีมตินั้น ในมุมของผู้เสนอร่างแผนขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย อาจมีความจำเป็น เพราะร่างแผนขับเคลื่อนฯ ดังกล่าวเป็นการปฏิรูปการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยในแนวทางใหม่ แต่ในมุมของผู้ปฏิบัติงานที่ดำเนินงานมาตลอด 4 ปี การยกเลิกโดยไม่ปรึกษาหารือกับหน่วยงานใดๆ ก่อน อาจสร้างปัญหาที่คาดไม่ถึงในการดำเนินการต่อไปและทำให้ความพยายามและงบประมาณที่ลงทุนไปก่อนหน้านี้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ กลไกบางอย่างที่มีประโยชน์ก็อาจถูกยกเลิกไปโดยปริยายและก็ไม่แน่ว่ากลไกที่นำมาใช้ใหม่จะดำเนินการได้จริงตามที่วางแผนไว้หรือไม่
การยกเลิกดังกล่าวรวมถึงประเด็นต่อไปนี้
- ยกเลิกการใช้คำภาษาไทยเดิมของ Goal และ Target ที่เดิมใช้คำว่า “เป้าหมาย” และ “เป้าประสงค์” ตามลำดับ เปลี่ยนเป็น เป้าหมายหลัก (Goal) และเป้าหมาย (Targets)
- ยกเลิกการมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดูแลเป้าหมายและเป้าประสงค์ที่เกี่ยวข้อง และเปลี่ยนในหลักการให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้อง ดูแล SDG ที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าหน่วยงานใด ต้องรับผิดชอบ SDGs ข้อใด
- ยกเลิกคณะทำงานร่วมภาคประชาสังคมและภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (OEWG for SDGs) ที่ตั้งโดยกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ อันเป็น Platform ระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมที่ประสบความสำเร็จมาก platform หนึ่ง
- ยกเลิกการมอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำ National SDG Indicators
- ฯลฯ
ประเด็นที่ยกมาข้างต้นนั้นเป็นตัวอย่างของประเด็นที่มีการยกเลิกแล้วทำให้เกิดความสับสนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
- การเปลี่ยนคำภาษาไทยของ Goal และ Target ที่ผ่านมา 4 ปีคนที่ทำงาน SDGs ก็ใช้คำเหล่านี้เป็นมาตรฐานแล้วนั้น จะต้องสร้างภาระในการเรียนรู้และปรับเอกสารทุกอย่างใหม่โดยไม่จำเป็นและไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมรองรับแต่อย่างใด
- การยกเลิกการการมอบหมายหน่วยงานให้ดูแลเป้าหมายและเป้าประสงค์ SDGs ทำให้หน่วยงานที่กำลังดำเนินการขับเคลื่อน SDGs ข้อนั้นๆ อย่างเป็นกระบวนและเป็นระบบอยู่แล้วต้องหยุดชะงักและตั้งคำถามว่า ตกลงหน่วยงานยังต้องรับผิดชอบเป้าหมายและเป้าประสงค์นี้หรือไม่ คณะทำงานแต่ละเป้าหมาย การประชุม กพย. แต่ละด้านเช่น กพย. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะยังคงมีอยู่หรือไม่ การดำเนินการต่อไปจะเป็นอย่างไร ก็ยังขาดความชัดเจน
- การยกเลิกคณะทำงานร่วมภาคประชาสังคมและภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (OEWG for SDGs) และสร้างภาคีการพัฒนาใหม่ตามแนวของ สศช. จะเป็นการนำเอาหุ้นส่วนการพัฒนาที่สร้างไว้ระหว่างภาคประชาสังคมและภาครัฐ ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น การที่กระทรวงการต่างประเทศสามารถจัดให้เกิดคณะทำงานร่วมนี้ได้อย่างต่อเนื่องหลายปีและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ในขณะที่ สศช. ไม่สามารถขับเคลื่อนความร่วมมือแบบนี้ได้นั้น เป็นบทเรียนที่ สศช. จะต้องเรียนรู้จาก OEWG for SDGs หากจะทำให้ภาคีการพัฒนานั้นได้ผลอย่างแท้จริง ข้อจำกัดที่สำคัญคือ บทเรียนบางอย่างอาจจะไม่สามารถประยุกต์ใช้ข้ามองค์กรได้ก็เป็นได้ ดังนั้น สศช. ไม่ควรยกเลิก OEWG for SDGs แต่ควรใช้มันเป็น Platform ในการสร้างภาคีการพัฒนากับภาคประชาสังคมตามร่างแผนขับเคลื่อนฯ นี้แทน
- การยกเลิกการมอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำ National SDGs Indicators และละทิ้งผลลัพธ์ของกระบวนการจัดทำ National SDGs Indicators ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำให้ทรัพยากรและความพยายามที่จะทำให้กระบวนการทบทวนติดตาม SDGs มีส่วนร่วมทุกภาคส่วน และมีมาตรฐานทางสถิติที่เข้มข้นนั้นสูญเสียไปโดยปริยาย กระบวนการจัดทำ National SDGs Indicators เป็นกระบวนการที่สอดคล้องกับแนวทางการทำตัวชี้วัดระดับชาติขององค์กรระหว่างประเทศ และมีการดึงภาควิชาการและประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมระหว่างทางด้วย การมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่หลากหลายถือเป็นหลักสำคัญของการขับเคลื่อน SDGs อย่างหนึ่ง สศช. ควรพิจารณานำ National SDGs Indicators กลับมาผนวกหรือปรับใช้ในร่างแผนขับเคลื่อนฯ อีกครั้ง เพื่อไม่ให้ความพยายามและทรัพยากรที่ลงไปแล้วเสียเปล่า
- นอกจากนี้ เนื่องจากการเสนอยกเลิก และการเสนอร่างแผนขับเคลื่อนฯ ไม่ได้เปิดให้หน่วยงานหรือภาคส่วนใดมีส่วนร่วมเลย และทีมของ สศช. ก็เป็นทีมใหม่ที่มาทำงาน SDGs จึงอาจทำให้การยกเลิกนั้นไปมีผลกระทบต่อการดำเนินการอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้เริ่มไปแล้วในประเทศและที่ริเริ่มไปแล้วกับองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะกลับมาเป็นปัญหาของ สศช. ที่จะต้องตอบคำถามว่า ในประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะให้ดำเนินการต่อไปอย่างไร
5.3 การปรับเปลี่ยนฝ่ายเลขานุการ ในคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืน
การปรับเอาผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ออกจากการเป็นเลขานุการร่วมกับ สศช. ในคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น หากมองด้วยตรรกะก็สามารถเข้าใจได้ว่า เหตุผลคือ ร่างแผนขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทยต้องการใช้ระบบ eMENSCR เป็นเพียงระบบเดียวของการติดตามและประเมินผล จึงควรปรับให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ มีเพียงเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการเพื่อจัดหาข้อมูลสถิติที่จำเป็นมาใส่ในระบบ eMENSCR เท่านั้น และให้บทบาทกับทาง NECTEC มากขึ้นเนื่องจากเป็นองค์กรที่พัฒนาระบบ eMENSCR ขึ้นมา นั่นหมายความว่า ในขณะนี้ระบบการติดตามประเมินผล SDGs จะมีเพียงระบบเดียว คือระบบ eMENSCR ซึ่งเป็นระบบติดตามผลการดำเนินงานภาครัฐที่สนับสนุนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และ SDGs
ปัญหาอยู่ตรงที่การใช้ eMENSCR เพียงระบบเดียวนี่เอง การดำเนินงานของภาครัฐและผลที่เกิดขึ้นนั้น อาจถือได้ว่า การดำเนินงานเป็นส่วนของ Process และผลที่เกิดขึ้นจาการดำเนินงานนั้นเป็นผลผลิต (Output) แต่สิ่งที่ SDGs พยายามประเมินผ่านตัวชี้วัดของ SDGs นั้นแท้จริงแล้วเป็นผลลัพธ์ หรือ Outcome การให้หน่วยงานผู้ดำเนินการเป็นผู้ติดตามและกรอกข้อมูลตัวชี้วัด SDGs ไปด้วยนั้นทำให้เกิดปัญหาการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ของหน่วยงานผู้ดำเนินการเอง ยกตัวอย่างเช่น หน่วยงานอาจหลีกเลี่ยงที่จะเปิดเผยข้อมูลตัวชี้วัด SDGs หากตัวชี้วัดนั้นอยู่ในสถานะที่ไม่ดี เพราะสถานะที่ไม่ดีของตัวชี้วัด SDGs ที่ตนดูแลอาจนำมาซึ่งการถูกลงโทษได้ หรือในบางกรณี อาจมีการบิดเบือนให้ตัวชี้วัด SDGs อยู่ในสถานะที่ไม่ดีเพื่อจะได้งบประมาณมาแก้ไขปัญหา ปัญหาที่ควรจะแก้ไขได้ก็กลับแก้ไม่ได้เพราะหน่วยงานราชการต้องการหล่อเลี้ยงปัญหาไว้เพื่อให้ตนได้งบประมาณ
ดังนั้นการแยกระบบการประเมินผลการดำเนินงานและผลผลิตของการดำเนินงาน ออกจากระบบการติดตามและทบทวนผลลัพธ์ของการพัฒนาที่ยั่งยืนจึงเป็นเรื่องจำเป็น นั่นหมายถึงการประเมินผลการดำเนินงานด้าน SDGs ควรมี 2 ระบบ คือ ระบบ eMENSCR ของ สศช. เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน และอีกระบบคือระบบสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่ในการรายงานตัวชี้วัด SDGs ตามข้อมูลจริง เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายและสาธารณะได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์ที่แท้จริงเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแนวทางการแก้ไขปัญหาความยั่งยืนนั้นๆ ต่อไป
สรุป
การประชุม กพย. วันที่ 19 ธันวาคม 2562 ถือเป็นการประชุมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นการประชุมที่มีการปรับกลไกและองคาพยพของการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยยกเลิกสิ่งที่เคยทำมาทั้งหมดแล้วเสนอให้ใช้ร่างแผนขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทยแทน ซึ่งแผนนี้มุ่งให้การขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในแง่ที่ว่าหน่วยงานภาครัฐสามารถทำงานเดียวแต่ตอบได้ทั้งโจทย์ของยุทธศาสตร์ชาติ แผนที่เกี่ยวข้อง และ SDGs ในคราวเดียว มีการเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามและประเมินผลโดยรวมศูนย์การประเมินผลไว้ที่ระบบ eMENSCR และให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้และจัดให้มี Platform ด้านภาคีเครือข่ายการพัฒนาอย่างเป็นระบบขึ้น
ข้อด้อยสำคัญของการ Set Zero และร่างแผนขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย คือการขาดการมีส่วนร่วมอย่างยิ่ง ทั้งระหว่าง สศช. กับภาครัฐที่ร่วมแรงขับเคลื่อน SDGs กันมาตลอด 4 ปี และขาดการเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นกับร่างแผนขับเคลื่อนฯ ดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ สศช. อาจทำลายความริเริ่มที่ดีที่เคยสร้างมา ทำให้ทรัพยากรและความพยายามที่ลงไปเสียเปล่าโดยไม่จำเป็น และทำให้กระบวนการขับเคลื่อนนั้นสูญเสียทุนทางสังคมและแนวร่วมที่มีอยู่เดิม
สศช. ควรเปิดให้ทุกภาคส่วนรวมถึงภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมอย่างกว้างกับการให้ความเห็นกับร่างแผนขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทยในทุกมิติ เพื่อให้ร่างแผนขับเคลื่อนฯ ดังกล่าวมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น สามารถนำความพยายามที่ดีและเป็นประโยชน์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาผนวกเข้าไปในการขับเคลื่อน SDGs ในอีก 10 ปีข้างหน้า และรักษาแนวร่วมที่มีอยู่เดิมและเพิ่มแนวร่วมใหม่ในการผลักดันประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030
Last Updated on มีนาคม 18, 2020