Site icon SDG Move

SDG Updates | เปิดรายงานความเสี่ยง 2020 – โลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

โดย พิมพ์นารา  อินต๊ะประเสริฐ

นับแต่ปี 2007 – 2013 ‘เศรษฐกิจ’ เป็นประเด็นที่ถูกจัดลำดับให้มีความเสี่ยงสูงมาตลอด โดยมีคะแนนความเสี่ยงสูงติด 5 อันดับแรกและถูกจัดให้อยู่ในคะแนนสูงสุดแทบทุกปี จนกระทั่งปี 2014 หน้าตาของความเสี่ยงโลกเริ่มเปลี่ยนไป ความเสี่ยงอันดับสูงสุดของโลกเริ่มเปลี่ยนมาเป็นประเด็น ‘สังคม’ ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ จนขยับเก้าอี้มาสู่ประเด็น ‘สิ่งแวดล้อม’ ในปี 2017 และยังคงจัดอยู่ในอันดับ 1 มาจนถึงปัจจุบัน 

ในแต่ละปีสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ร่วมกับ Marsh & McLennan Zurich Insurance Group บริษัทประกันภัยสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ จะจัดเก็บข้อมูลเพื่อทำรายงานความเสี่ยงโลก (Global Risk Report)  ซึ่งความเสี่ยงโลก (Global Risk) คือเหตุการณ์หรือเงื่อนไขที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อหลายประเทศหรือหลายอุตสาหกรรมในกรอบระยะเวลา 10 ปี  รวมทั้งวิเคราะห์แนวโน้ม (Global Trend) ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งในเชิงลบซึ่งอาจส่งผลให้ความเสี่ยงของโลกมีความรุนแรงขึ้น และในเชิงบวกคือมีเหตุการณ์หรือการกระทำบางอย่างที่มีแนวโน้มทางบวกช่วยลดความเสี่ยง โดยแบ่งประเด็นความท้าทายของโลกออกเป็น  5 ประเด็น แต่ละประเด็นจะหยิบยกปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกในปีนั้นๆ  ได้แก่

ในการประเมินความเสี่ยงนั้นรายงานฉบับนี้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างหลายภาคส่วน ประกอบด้วย ภาคธุรกิจ  องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ภาครัฐ ภาคการศึกษา องค์การระหว่างประเทศ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี จัดข้อมูลออกมาใน 2 ลักษณะด้วยกันคือ ความเสี่ยงที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้น (Likelihood) และความเสี่ยงที่หากเกิดขึ้นจะเกิดผลกระทบที่ร้ายแรงหรือมีผู้ได้รับความเสียหายในวงกว้าง (Impact)

จากรายงานความเสี่ยงโลกปี 2020 (Global Risk Report 2020) พบว่า       
ประเด็นความเสี่ยงที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2020 สูงเป็น 5 อันดับแรกได้แก่

  1. การเผชิญกับสภาวะอากาศแบบสุดขั้ว (Extreme Weather) คือ สภาวะที่อากาศร้อนจัด หรือเย็นจัดสุดขีด 
  2. ความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศ (Climate Action Failure)
  3. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural Disasters)
  4. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Loss)
  5. ภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ (Human-Made-Environmental Disasters)

ประเด็นที่ความเสี่ยงที่หากเกิดขึ้นจะเกิดผลกระทบที่ร้ายแรง สูงเป็น 5 อันดับแรก ได้แก่

  1. ความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศ (climate action failture)
  2. การจัดการกับอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of destruction)
  3. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity loss)
  4. การเผชิญกับสภาวะอากาศแบบสุดขั้ว (Extreme Weather)
  5. สถานการณ์น้ำในภาวะวิกฤต (Water Crises) ในที่นี้หมายถึง สภาวะที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดมีคุณภาพเพียงพอที่จะใช้อุปโภค บริโภคและกระทบถึงการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่ามีบางประเด็นที่ถูกจัดอยู่ทั้งในความเสี่ยงที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2020 นี้และจะเกิดผลกระทบร้ายแรงหากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อนำคะแนนประเด็นความเสี่ยงทั้งสองกลุ่มมาจัดรวมกันอยู่ในแผนภาพ โดยมีแกนนอน (X) คือ คะแนนความเป็นไปได้ที่จะเกิดแกนตั้ง (Y) คือ คะแนนผลกระทบหรือความร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น 

จะพบว่าประเด็นที่จัดอยู่ในกลุ่มมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสูงและมีผลกระทบร้ายแรงดังปรากฏในแผนภาพมุมขวาบน (จตุภาคที่ 2) เป็นประเด็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมถึง 5 ใน 9 ประเด็นโดยความล้มเหลวในการจัดการสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่มีคะแนนผลกระทบสูงสุด แม้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้อยกว่าการเผชิญกับสภาวะอากาศแบบสุดขั้ว แต่ผลคะแนนเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าทุกประเทศยังมีการดำเนินการเพื่อรับมือหรือบรรเทาความร้ายแรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก  ขณะเดียวกันการที่ผลคะแนนประเด็นการเผชิญกับสภาวะอากาศแบบสุดขั้วมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นสูงสุด แสดงว่าในปี 2020 นี้ทุกประเทศจำเป็นต้องเตรียมการรับมือกับสภาวะอากาศร้อนจัด หรือเย็นจัด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตทั้งของมนุษย์และการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ส่วนประเด็นที่ทั่วโลกกำลังเผชิญและอาจกล่าวได้ว่ากลายเป็นวาระดับโลกของปี 2020 อย่างการระบาดของไวรัสโควิด 19 (COVID-19) นั้น เนื่องจากรายงานฉบับนี้ดำเนินการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2019 และเผยแพร่เมื่อ 15 มกราคม 2020 ทำให้ประเด็นโรคระบาดยังไม่ถูกจัดอยู่ในคะแนนอันดับต้นๆ แต่ก็มีคะแนนอยู่ในอันดับที่ 10 ด้านความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบร้ายแรงหากเกิดขึ้น ปรากฏอยู่ในแผนภาพมุมซ้ายบน (จตุภาคที่ 1) ประเด็นเรื่องโรคติดเชื้อ (infectious disease) ทั้งนี้ในรายงานได้มีการกล่าวถึงสถานการณ์ระบบสาธารณสุขที่ต้องปรับตัวภายใต้ความกดดันใหม่ด้วย

ทั้งนี้ การจัดลำดับคะแนนดังกล่าวเป็นการประเมินสถานการณ์จากทั่วโลกเท่านั้น การอาศัยข้อมูลดังกล่าวเพื่อคาดการณ์สถานการณ์ในระดับพื้นที่โดยตรงจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงแต่ละพื้นที่อาจใช้แนวทางในการประเมินความเสี่ยงเช่นนี้ได้ แต่ควรปรับเปลี่ยนชุดข้อมูลให้เป็นข้อมูลของพื้นที่นั้นๆ พิจารณาประกอบด้วย เช่น กรณีของประเทศไทย ประเด็นเรื่องการขาดแคลนน้ำอาจถูกจัดอยู่ในอันดับสูงกว่าอันดับโลกที่เป็นอยู่ เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูแล้งที่มีการคาดการณ์แล้วว่าภัยแล้งจะอยู่ในระดับรุนแรง และเกิดผลกระทบในวงกว้าง เป็นต้น

ข้อสังเกตสำคัญประการหนึ่งจากรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า เดิมโลกเผชิญกับความท้าทายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ  สภาพสังคม ความเป็นอยู่ เป็นประเด็นหลักๆ ที่ทั่วให้ความสำคัญมาตลอดหลายสิบปี ดังปรากฏในแผนภาพด้านล่างนี้ว่าตั้งแต่ปี ปี 2007 – 2013 เศรษฐกิจ (สีฟ้า) เป็นประเด็นที่ถูกจัดลำดับให้มีความเสี่ยงสูงมาตลอด โดยมีคะแนนความเสี่ยงสูงติด 5 อันดับแรกและถูกจัดให้อยู่ในคะแนนสูงสุดแทบทุกปี จนกระทั่งปี 2014 หน้าตาของความเสี่ยงโลกเริ่มเปลี่ยนไป ความเสี่ยงอันดับสูงสุดของโลกเริ่มเปลี่ยนมาเป็นประเด็นสังคม (สีแดง)  ภูมิรัฐศาสตร์ (สีส้ม) จนในปี 2017 ประเด็นความเสี่ยงของโลกกลับเปลี่ยนมาเป็นด้านสิ่งแวดล้อม (สีเขียว) ประเด็นเทคโนโลยี (สีม่วง) เป็นส่วนใหญ่ โดยที่มีประเด็นสิ่งแวดล้อมจัดอยู่ใน 5 อันดับแรกเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด  สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการ แนวคิด กรอบมุมมองต่อการมองปัญหาระดับโลกนั้นไม่สามารถใช้กรอบเดิม หรือมาตรการแบบเดิมเพื่อแก้ไขได้อีกต่อไป 

อ้างอิงข้อมูลจาก  The 15th edition of the World Economic Forum’s Global Risks Report

Author

Exit mobile version