Site icon SDG Move

SDG Interviews | คุยเรื่องผู้หญิงและการพัฒนาที่ยั่งยืน กับ อุษา เลิศศรีสันทัด

สัมภาษณ์และเรียบเรียง โดย ญาณิน จิวะกิดาการ หุยากรณ์

เปิดตัวคอลัมน์ SDG Interviews โดย SDG Move อย่างเป็นทางการ คอลัมน์ที่ทำสกู๊ปสัมภาษณ์ขนาดไม่สั้นไม่ยาวเพื่อให้ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้สัมผัสถึงสิ่งที่อยู่ในใจของบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนวาระของโลกในประเทศไทย  สำหรับสกู๊ปแรกนี้ แม้จะมีบุคคลน่าจับตาในวงการการพัฒนาที่ยั่งยืนมากมายหลากหลายที่ทีมงานอยากจะขยับเข้าไปขอสนทนาออกสื่อแต่ด้วยมนตราของเดือนมีนาคมที่มีวันสตรีสากล จึงทำให้ทีมงานฟันธงว่าจะสัมภาษณ์ผู้หญิงสักท่านที่ทำงานเพื่อผู้หญิง

ก่อนหน้านี้นักวิชาการในทีม SDG Move ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมโดยองค์กรภาคีเครือข่ายด้านผู้หญิงและความเสมอภาคทางเพศ และก็ได้รู้จัก คุณอุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิงแกนนำภาคีเครือข่ายดังกล่าว และเป็นคนที่มีความมุ่งหวังที่จะนำประเทศไทยไปสู่สถานะที่ดีขึ้นในเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ และเราก็โชคดีเหลือเกินที่คุณอุษาตอบรับให้เข้าสัมภาษณ์ได้แม้งานจะรัดตัวมาก

เราได้คุยกันในบรรยากาศออนไลน์สบายๆ เป็นกันเอง (เพราะ COVID-19 ระบาดเริ่มจากการย้อนเวลาไปเมื่อคุณอุษาเริ่มสนใจประเด็นปัญหาสังคมโดยเฉพาะประเด็นปัญหาของผู้หญิง


คุณอุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิง

ช่วยเล่าเรื่องราวที่พาคุณอุษามาทำงานด้านนี้สักเล็กน้อย

สมัยเรียนในมหาวิทยาลัยมีเพื่อนชวนเข้าร่วมชุมนุมพัฒนาสตรีเพื่อสังคม เลยได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมและเรียนรู้ปัญหาผู้หญิง อย่างเช่นการจัดอภิปรายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราเชิญวิทยากรมาพูดคุยตั้งคำถามในประเด็นเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเพศ เช่น ทำไมงานต้องเลือกเพศ เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีการลงพื้นที่ชนบทเพื่อศึกษาบทบาทของหญิงชายในชุมชน ตอนนั้นเราสนใจทำกิจกรรมเพราะเห็นว่าเป็นการทำงานเพื่อสังคมและอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา   

พอเรียนจบ เข้าทำงานในบริษัทเกี่ยวกับเงินทุนหลักทรัพย์ตามสาขาวิชาที่ได้ศึกษามา (คณะเศรษฐศาสตร์) ได้สักระยะหนึ่ง ก่อนจะผันตัวมาทำงานมาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำองค์กรผู้หญิง (ที่กลายมาเป็นมูลนิธิผู้หญิงในภายหลัง) และเข้ามามีบทบาทผลักดันการทำงานในหน้าที่ผู้อำนวยการจนถึงปัจจุบัน

คุณอุษาเรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์และได้เข้าทำงานในสาขาการเงินที่ตรงสาย แต่อะไรทำให้เปลี่ยนมาทำงานด้านนี้อย่างจริงจัง

น่าจะเป็นความรู้สึกผูกพันกับการทำงานเพื่อสังคมรวมถึงเรื่องของผู้หญิงตามที่บอกไปตอนต้น ตอนที่ทำงานแรกอยู่ก็มีรุ่นพี่มาชวนว่าองค์กรผู้หญิงเปิดรับคนทำงาน จึงรู้สึกอยากเข้ามาเรียนรู้ ประกอบกับการที่เรามีประสบการณ์ทั้งการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อผลักดันความเสมอภาคของผู้หญิงในสังคมมาก่อน จึงตัดสินใจเลือกที่จะเปลี่ยนสายการทำงานมาทำด้านนี้ทันทีและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลา 34 ปี ยากเหมือนกันที่จะบอกกับที่บ้านให้เข้าใจ ทำไมต้องเปลี่ยนงานเพราะทำกับองค์กรผู้หญิงไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา

สถานการณ์ผู้หญิงในสังคมไทยพัฒนาไปอย่างไรบ้างจากตอนที่คุณอุษาเริ่มต้นเข้ามาทำงาน

โดยรวมถือว่าดีขึ้นจากอดีต อย่างน้อยก็แทบไม่มีปัญหาตกเขียวหรือการที่เด็กผู้หญิงมีคนมาจองตัวให้ไปทำงานค้าประเวณีตั้งแต่ยังเรียนไม่จบชั้นประถม กรณีแบบนี้เกิดขึ้นน้อยลงมาก เนื่องจากกลไกและระบบความช่วยเหลือต่างๆ ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันลักษณะปัญหากลับมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นตามลักษณะสังคม  จนถึงตอนนี้ก็ยังมีผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงระบบการช่วยเหลือที่รัฐวางเอาไว้  เช่น ผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่า  ผู้หญิงชาวมุสลิม ผู้หญิงแรงงานนอกระบบ ผู้หญิงแรงงานย้ายถิ่น ผู้หญิงเหล่านี้ที่อาจไม่ได้รับสิทธิความเท่าเทียมอันพึงจะได้รับ แล้วเมื่อกลุ่มเป้าหมายประสบปัญหาทับซ้อนกันเช่นนี้ การเข้าไปให้ความช่วยเหลือจะมีระดับความละเอียดอ่อนมากขึ้นกว่าเดิมด้วย

ช่วยเล่าถึงหนึ่งประเด็นที่มูลนิธิผู้หญิงช่วยผลักดันจนเกิดเป็นภาพความสำเร็จในสังคม

มูลนิธิฯ เข้าไปมีส่วนร่วมในความสำเร็จหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือการสร้างแนวร่วมในการป้องกันแก้ไขการค้าประเวณีในเด็ก และมีหลักการที่ชัดเจนคือ หากผู้ค้าประเวณีมีอายุ 18 ปีขึ้นไปถือว่าเป็นสิทธิในการตัดสินใจส่วนบุคคล แต่หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเมื่อไร ครู ผู้นำชุมชนต้องเข้ามาดำเนินการบางอย่าง ไม่ให้ถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวแล้ว  มูลนิธิฯ ได้ทำงานรณรงค์ผลักดันแนวคิดและกลไกผ่าน “โครงการคำหล้า” ซึ่งมีการใช้หนังสือคำหล้าในการเรียนการสอน สามารถสร้างการมีส่วนร่วมของครู ผู้นำสตรี และชุมชนในการป้องกันแก้ไขปัญหา มีการทำงานผลักดันไปถึงการแก้ไขนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

สิ่งที่กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นมากที่สุดในตอนนี้

ตอนนี้หันมาให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานเพราะสามารถที่จะเชื่อมโยงปัญหาต่างๆ ที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวเนื่องกัน โดยเฉพาะเป้าหมายหลักข้อที่ 5 เรื่องบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมสร้างพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิง เป็นจุดคานงัดในการทำงานเรื่องผู้หญิงและสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไปเพราะปัญหาผู้หญิงเกี่ยวเนื่องกับทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

มูลนิธิฯ ได้เริ่มเปลี่ยนสถานะจากการเป็นผู้ให้บริการทางตรง (เข้าดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายด้วยตัวเอง) มาเป็นผู้ให้คำปรึกษาและประสานส่งต่อให้หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือต่อไปแทน ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานของรัฐได้จัดกลไกรองรับให้ความช่วยเหลือแก่หญิงที่ประสบกับความรุนแรง เพียงแต่อาจจะยังไม่ได้รับความสำคัญอย่างเพียงพอ จะเห็นได้ว่า การที่ได้รับงบประมาณที่จำกัดและบุคลากรที่ไม่เพียงพอ เราจึงให้ความสำคัญกับการรณรงค์เพื่อให้ประเด็นผู้หญิงได้รับความสนใจจากพรรคการเมือง มีการศึกษาถึงผลกระทบจากนโยบายต่างๆ  วิเคราะห์ปัญหาพื้นฐานที่เป็นต้นตอของสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเพศที่เราพบเห็น เช่น สภาพที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูลูกโดยลำพัง การดิ้นรนกับภาระทางเศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว สิ่ง “ปกติ” ในสังคมเหล่านี้เป็นต้นตอความไม่เสมอภาคที่ผู้หญิงเผชิญอยู่เรื่อยมาบวกกับทางเลือกในสังคมที่ผู้หญิงมีอยู่จำกัดทำให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ตามมา เช่น ต้องถูกล่อลวงหรืออยู่ในสภาพจำยอมทำงานค้าประเวณีทั้งในเมืองไทยและในต่างแดน ซึ่งประเด็นปัญหามีหลากหลายมากไม่ได้จำกัดแค่ความรุนแรงในครอบครัวหรือการค้าประเวณีเท่านั้น ดังนั้นเราจึงทำงานลึกลงไปถึงแนวทางที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้  ไม่อย่างนั้นประเด็นปัญหาปลายทางที่เกิดขึ้นก็จะวนๆ ซ้ำๆ ไม่จบสิ้น

ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาที่ผู้หญิงเผชิญได้เลย ทั้งจากสาระกฎหมายที่ไม่ดีพอ รวมถึงกลไกตามกฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแปลงที่เราอยากเห็นก็คือต้องให้ผู้หญิงมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาด้านต่างๆ ของประเทศ  มิติการมองเรื่องผู้หญิงจะไม่ได้พูดเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงแต่จำเป็นต้องเชื่อมโยงออกไปไกลกว่าเดิม  เชื่อมโยงกับนโยบายด้านเศรษฐกิจสุขภาพ นโยบายด้านการเมืองการปกครอง คือบูรณาการกับมิติอื่นๆ มากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาในความพยายามที่จะใช้ SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาตามกรอบการดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติเพื่อยกระดับการทำงานหวังที่จะผลักดันให้ประเด็นของผู้หญิงให้กลายเป็นวาระทางการเมือง วาระทางนโยบายมากขึ้น

SDG 5: Gender Equality

วาระทางการเมืองและนโยบายคือจะต้องมีการนำประเด็นปัญหาเรื่องผู้หญิงเข้าเป็นวาระในการประชุมรัฐสภาจนออกมาเป็นงบประมาณในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

ไม่ใช่แค่การจัดสรรงบประมาณมาให้แก้ปัญหาจำเพาะให้กลุ่มผู้หญิงเท่านั้น แต่ต้องมองลึกลงไประดับที่ใช้มิติเพศภาวะเข้าไปใช้ในการประเมินจัดสรรงบประมาณอื่นๆ ด้วย ซึ่งประเทศไทยไม่มีการพิจารณาประเด็นดังกล่าวเลย ส่งผลให้การประเมินผลประโยชน์จากงบประมาณ นโยบายของรัฐมิได้พิจารณาว่าใครบ้างที่ได้รับประโยชน์นั้น และผู้หญิงมักจะเป็นผู้ที่ถูกละเลยและเสียประโยชน์จากนโยบายต่างๆ เสมอ

ในต่างประเทศจะมีการมอบหมายความรับผิดชอบให้กับรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่ดูแลประเด็นเกี่ยวกับความเสมอภาคระหว่างเพศ เช่น ในประเทศมาเลเซีย รองนายกรัฐมนตรีหยิบยกเอาประเด็นการแต่งงานของเด็กหญิงมุสลิมจากเมืองไทยกับชายมาเลเซียอายุ 41 ปี ขึ้นมาถกเถียงในสภาฯ จนมีการติดตามลงโทษ  ขณะที่ประเทศไทยกลับไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องดังกล่าวเลย อย่างกรณีข่าวพริตตี้ที่ทำงานในสถานบันเทิงถูกมอมเมาด้วยสารเสพติดจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ก็ไม่มีหน่วยงานหยิบยกเพื่อป้องกันแก้ไขดำเนินงานอย่างจริงจังในเรื่องนี้เลย ถึงแม้ประเทศไทยต้องดำเนินการตามพันธกรณีในอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติในเรื่องสิทธิผู้หญิงซึ่งเชื่อมโยงกับ เป้าหมายที่ 5 (SDG5) ความเสมอภาคระหว่างเพศ แต่ก็ไม่มีกลไกที่จะสามารถทำให้ผู้หญิงในเมืองไทยได้เข้าถึงสิทธิต่างๆ อย่างแท้จริง  แต่ละปี ก็จะมีเพียงการจัดงานวันสำคัญเช่น วันสตรีสากล หรือวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง

สำหรับคุณอุษา การพัฒนาที่ยั่งยืนคืออะไร

คือการพัฒนาแบบองค์รวมที่ไม่ได้เน้นเพียงด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือความมั่นคงในชีวิตด้านใดด้านหนึ่งแต่ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน มีการบูรณาการกันอย่างแท้จริงรวมถึงมิติทางสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคระหว่างเพศโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน คือ การใช้ชีวิตโดยมีธรรมชาติ อากาศ อาหาร ปัจจัยการดำรงชีวิตที่ปลอดภัยเป็นพื้นฐานจะช่วยส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของคนทุกเพศทุกวัยดีขึ้นและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้

จากแง่มุมของคนทำงานกับกลุ่มเปราะบาง คิดเห็นว่าทั้งเด็กและผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมและบทบาทในการพัฒนาที่เป็นองค์รวมมากกว่าจะกลายเป็นเพียงผู้รับการช่วยเหลือ วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนจะไม่เกิดขึ้นหากเราไม่ให้ความสำคัญกับทุกเป้าหมายรวมถึงเป้าหมายหลักที่ 5 นี้ด้วย

นอกจากนี้ในเชิงการขับเคลื่อนนโยบายเห็นว่าประเทศไทยจะต้องมีกลไกอิสระระดับชาติที่ขับเคลื่อนเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศโดยไม่ขึ้นกับกระทรวงใดเฉพาะโดยอาจขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมีการบูรณาการและสามารถบรรลุผลตาม SDG

 

แนะนำสิ่งที่ประชาชนคนทั่วไปสามารถทำได้เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อความคิดความเท่าเทียมทางเพศและต่อต้านการเลือกปฏิบัติได้เริ่มจากในบ้าน ผู้ปกครองไม่จำกัดเสรีภาพในการเลือกอนาคตของบุตรหลานด้วยเหตุผลเรื่องเพศ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ลูกหลานควรได้รับการส่งเสริมให้มีศักยภาพ มีทางเลือกในการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่แบ่งแยกการเล่น การทำงาน หรือกิจกรรมต่างๆ โดยใช้เพศเป็นตัวชี้นำ นอกจากนี้ สิ่งที่ทำได้ในวงเพื่อนคือการตักเตือนกันและกันเมื่อมีการใช้ถ้อยคำไปในทางที่ลวนลามทางเพศ หยอกล้อแบบหมาหยอกไก่ หรือแสดงการดูหมิ่นทางเพศ

อีกประการคือการสนับสนุนหน่วยงานรัฐหรือภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางเพศและเสริมพลังศักยภาพให้กับสตรีและเด็กหญิง เช่น ร่วมบริจาคให้กับบ้านพักผู้หญิง ที่เป็นสถานที่ที่ผู้หญิงเข้ามาพักพิงเมื่อต้องหลบหนีจากความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น

ผู้ชายสามารถเป็นผู้นำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงได้ไหม

ในทางปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ นักกิจกรรมผู้หญิงจะทำงานได้ง่ายกว่าเนื่องจากการให้บริการให้คำปรึกษาในประเด็นทางเพศนั้นเป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อน ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ ดังนั้นผู้ให้บริการที่เป็นเพศเดียวกันมีแนวโน้มทำให้ผู้รับบริการเปิดใจได้ง่ายกว่า  แต่ทั้งนี้ นักกิจกรรมหรือผู้ให้บริการที่ได้รับการอบรมฝึกฝนอย่างถูกต้อง มีความละเอียดอ่อนและความเห็นออกเห็นใจสูง แม้เป็นเพศอื่นก็สามารถดำเนินงานได้เช่นกัน

ในช่วงที่ประชาชนต้องกักตัวเองในเคหะสถานแบบนี้ อยากให้คุณอุษาแนะนำภาพยนตร์ที่จะช่วยส่งเสริมสำนึกเรื่องความเสมอภาคทางเพศสักเรื่อง

อันที่จริงละคร ภาพยนตร์ทุกเรื่องก็มีประเด็นหญิงชายตลอด เช่น ละครเรื่อง “ทุ่งเสน่หา” ก็มีประเด็นหญิงชายแทรกอยู่ในนั้น เช่น ตอนที่ตัวเอกตักเตือนเพื่อนที่ไปมีความสัมพันธ์กับหญิงสาวจนตั้งครรภ์แต่ไม่รับผิดชอบ ทำให้ฝ่ายหญิงต้องไปทำงานทำความสะอาดในผับ เตือนจนสุดท้ายตัวละครนั้นกลับไปให้ความช่วยเหลือฝ่ายหญิงหรือกระทั่งแนวคิดเรื่องความนิยมในลูกเพศ หญิงหรือชาย ซึ่งตัวละครให้ความสำคัญต่างกัน เหล่านี้เป็นตัวอย่างแนวคิดที่เราสามารถถอดออกมาได้จากหนังแทบทุกเรื่อง


จากการพูดคุยที่นำโดยคำถามไม่กี่ข้อ ทีมงานสามารถสัมผัสได้ว่า คุณอุษาคือแบบอย่างของผู้นำที่จะพาสังคมไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นโดยแท้

กระทั่งคำถามข้อสุดท้ายที่มีวัตถุประสงค์ง่ายๆ ตรงไปตรงมาที่คุณอุษาจะแค่กรุณาแนะนำชื่อหนังสักเรื่องสองเรื่องก็ได้ แต่สิ่งที่สะท้อนจากคำตอบคือความต้องการที่จะสร้างแว่นตาใหม่ให้เราได้รู้จักมองและสังเคราะห์วิเคราะห์มิติความเท่าเทียมทางเพศจากสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปมากกว่าจากสื่อที่ตั้งใจสร้างสำนึกเหล่านั้นตรงๆ

ความเปลี่ยนแปลงนี้แม้เล็กน้อยแต่สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ใหญ่ขึ้นได้อย่างแน่นอน

Author

  • Deputy Director of Knowledge Communications | คุณแม่นอนน้อย ผู้ชอบนั่งฝันกลางวันว่า วันหนึ่งจะตื่นมาในแดนอิเซไค มีชีวิตใหม่เป็นน้องสาวของจอมคนแดนฝัน

Exit mobile version