เนตรธิดาร์ บุนนาค
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 SDG Move ได้มีโอกาสเข้าร่วมซีรีส์ Webinar: Volunteering During Pandemic (งานอาสาสมัครในระหว่างการระบาดครั้งใหญ่) ในหัวข้อ “Coronavirus and Its Impact on SDGs” (โคโรนาไวรัสและผลกระทบต่อ SDGs) ซึ่งจัดขึ้นโดย International Association for Volunteer Effort (IAVE) หรือ สมาคมอาสาสมัครระหว่างประเทศ
การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นความท้าทายครั้งสำคัญต่อชุมชนอาสาสมัครทั่วโลก แต่ก็ยังเป็นความหวังจะพลิกวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการร่วมมือร่วมใจกันเพื่อขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยในหัวข้อสัมมนานี้ เป็นการบรรยายจากวิทยาการสองท่านจาก International Institute for Sustainable Development (IISD) คือ Lynn Wagner (ผู้อำนวยการอาวุโส Tracking Process Program) และ Faye Leone (ที่ปรึกษานโยบายอาวุโส Tracking Process Program)
SDG Move ได้สรุปประเด็นสำคัญที่ได้จากการสัมมนา ดังนี้
กลุ่มคนเปราะบางในสถานการณ์โรคระบาด
ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ที่อาจจะกลายเป็นกลุ่มคนชายขอบหรือกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการดูแลขั้นพื้นฐานและมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้แก่
- ผู้หญิง
- กลุ่มคนชาติพันธุ์
- แรงงานนอกระบบ หรือแรงงานที่รับค้าจ้างรายวัน
- บุคลากรหน้างาน
- ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย
- บุคคลผู้มีความทุพพลภาพ
- ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แออัด
- คนไร้บ้าน หรือผู้ที่ไม่มีที่อาศัยที่แน่นอน
- พื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้สำหรับการดูแลสุขภาพ
การระบาดครั้งใหญ่นี้ยิ่งเป็นการย้ำเตือนให้เห็นถึงความสำคัญของหลักการพื้นฐานของ 2030 Agenda (2030 Agenda for Sustainable Development) นั่นคือ No One Left Behind หรือ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
โควิด-19 และผลกระทบต่อการดำเนินงานของ SDGs
มีการกล่าวถึงว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นี้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในเป้าหมายต่างๆ อย่างไรบ้าง ดังแสดงในรูปด้านล่าง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ United Nations Department of Economic and Social Affairs (UNDESA) หรือ สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ได้รวบรวมไว้ในรายงาน “Shared Responsibility, Global Solidarity“
เป้าหมายที่ได้รับผลกระทบ
- SDG 1: No Poverty – หลายบ้านสูญเสียงานและรายได้ ทำให้ตกอยู่ในความยากจน
- SDG 2: No Hunger – การผลิตอาหารและการกระจายอาหารเกิดปัญหา
- SDG 3: Good Health and Well-Being – เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชน
- SDG 4: Quality Education – หลายโรงเรียนถูกปิด และไม่ใช่นักเรียนทุกคนจะสามารถเข้าถึงการสอนออนไลน์ได้
- SDG 5: Gender Equality – เจ้าหน้าที่สาธารณสุขส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง พวกเธอจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ
- SDG 6: Clean Water and Sanitation – หลายพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาด แม้การล้างมือเป็นมาตรการป้องกันการติดเชื้อที่มีความสำคัญที่สุด
- SDG 7: Affordable and Clean Energy – พลังงานไฟฟ้าที่หยุดชะงักหรือไม่เพียงพออาจทำให้สมรรถภาพของระบบดูแลสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร
- SDG 8: Decent Work and Economic Growth – กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก คนตกงานและขาดรายได้
- SDG 10: Reduced Inequalities – คือภาพรวมปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้จากผลกระทบต่อ SDG 4, 5, 8, และ 11
- SDG 11: Sustainable Cities and Coomunities – ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดได้รับความเสี่ยงที่ติดเชื้อไวรัสมากกว่า
- SDG 13: Climate Action – ความเข้มแข็งในการต่อสู้กับ Climate Change อาจลดลงเนื่องจากมีวิกฤติใหม่ต้องเผชิญ แต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ลดลงเนื่องจากการผลิตและการเดินทางน้อยลง
- SDG 16: Peace, Justice, and Strong Institutions – พื้นที่ที่มีความขัดแย้งทำให้มาตรการต่อสู้กับโรคระบาดไม่มีประสิทธิภาพ
- SDG 17: Partnerships for the Goals – เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการร่วมมือกันด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
High-Level Political Forum on Sustainable Development 2020
วิทยากรจาก IISD ยังอัปเดตแผนในการจัดประชุม High-Level Political Forum on Sustainable Development (HLPF) หรือการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2020 โดยคร่าวให้รับทราบ
งานประชุม HLPF 2020 เป็นการประชุมประจำปีที่สหประชาชาติจัดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ร่วมทบทวนความคืบหน้าการดำเนินการตาม 2030 Agenda โดยมีกำหนดการเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 7-16 กรกฎาคม 2020 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ซึ่งในปีนี้รูปแบบของการจัดงานจะมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ และ Key Messege ของงานก็จะถูกปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้ และด้วยข้อจำกัดในการเดินทางและการชุมนุม ผู้จัดงาน HLPF กำลังวางแผนที่ในการจัดการประชุมแบบออนไลน์ แต่ยังมีปัญหาทางเทคนิกหลายประการที่ผู้จัดงานจะต้องคิดให้ตก เพราะโจทย์สำคัญของการประชุมออนไลน์คือ จะทำอย่างไรให้ตัวแทนกลุ่มเปราะบางต่างๆ เข้าร่วมประชุมได้อย่างสะดวก เพื่อให้การประชุมยังคงหลักการของ Inclusive Development เอาไว้ โดยคาดว่าจะมีการประกาศความคืบหน้าของการจัดงานประชุม HLPF 2020 ให้ทุกประเทศได้ทราบในเร็ววันนี้
หนึ่งในกำหนดการที่สำคัญของการประชุม HLPF คือ นำเสนอรายงานผลการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ในระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) ปีนี้มีทั้งหมด 51 ประเทศที่จะร่วมนำเสนอ VNR ต่อสหประชาชาติและประเทศสมาชิก ซึ่งทุกประเทศยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะได้รายงานความก้าวหน้าตามแผนเดิม และทางสหประชาชาติก็มีความตั้งใจที่จะหาช่องทางให้แต่ละประเทศได้นำเสนอผลงานของตนเหมือนทุกปีที่ผ่านมา แม้จะมีความท้าทายอันยิ่งใหญ่จากสถานการณ์โรคระบาดในขณะนี้
งานอาสาสมัครสร้าง Impact ได้อย่างไรบ้าง
ผู้บรรยายได้เสนอแนวทางที่อาสาสมัครจะสามารถสร้าง impact ให้เกิดขึ้นกับโลกในสถานการณ์โรคระบาดนี้ได้อย่างไรบ้าง โดยแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
Impact 1: ให้บริการโดยตรง
ภาระงานที่องค์กรอาสาสมัครทำอยู่ในขณะนี้ และแนะนำว่าไม่ว่าสิ่งที่องค์กรอาสาสมัครต่างๆ ทำอยู่ ให้คำนึงถึงกรอบของ SDGs และการเชื่อมโยงถึงประเด็นด้านสุขภาพ (SDG3) และความเหลื่อมล้ำ (SDG10) เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างครอบคลุม ทั่วถึงทุกประเด็น โดย ‘ไม่ได้ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’
Impact 2: ตรวจสอบภาระรับผิดชอบของรัฐบาล
ความโปร่งใสและภาระรับผิดชอบของรัฐบาลคือก้าวแรกของการสร้างความเปลี่ยนแปลง ต้องมีการจับตาท่าทีและการตอบสนองต่อภาวะโรคระบาดที่รัฐดำเนินการว่าเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสมหรือเพียงพอหรือไม่ โดยอาสาสมัครให้ข้อมูลเชิงลึกว่ามาตรการที่รัฐเสนอมาจะส่งผลอย่างไรต่อชุมชนหรือประเด็นที่ทำอยู่
Impact 3: เป็นศูนย์รวมความรู้และข้อมูล
อาสาสมัครคือผู้ที่จะรวบรวมความรู้และข้อมูลที่ได้จากการทำงานจริงซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการวิกฤติครั้งต่อไป รวมถึงพัฒนาความสามารถที่จะฟื้นตัวกลับของทุกคนให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้ โดยเป็นการทำงานในเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบอื่นๆ
Impact 4: รับฟังทุกคนผ่านการประชุมออนไลน์
ช่วยทำให้แน่ใจว่าภาคประชาสังคมไม่ได้ตกหล่นไปเมื่อการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ถูกย้ายมาใช้พื้นที่ออนไลน์ เนื่องจากข้อจำกัดทางการเงิน ภาษาหรือการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต โดยถือโอกาสนี้ในการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้นวัตกรรมในการสื่อสารแบบใหม่
รับฟังการประชุม Coronavirus and its Impact on the SDGs ย้อนหลัง ได้ที่
สำหรับผู้ที่สนใจ ซีรีส์ Webinar: Volunteering During Pandemic ยังคงสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมสัมมนาได้ที่ https://www.iave.org/covid19/ โดย หัวข้อสัมมนาครั้งต่อไป คือ “Neighbors Taking Action: Responding to the Rise of Informal Volunteering” ในวันที่ 28 เมษายน 2020 ที่จะถึงนี้