Site icon SDG Move

SDG Updates | สหรัฐฯ ถอนตัวจาก WHO ส่งผลอย่างไรต่อ SDGs

พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ

หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีเสียงวิจารณ์การทำงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ต่อความล่าช้าในการสื่อสารและให้ข้อมูล ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของประเทศสมาชิกอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือ สหรัฐอเมริกา ที่เคยมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลกและการระบาดนั้นส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงัก

โดนัล ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ออกมาแสดงท่าทีไม่พอใจต่อการทำงานของ WHO หลายครั้ง จนนำมาสู่การถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกในความตกลงขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยมีการแถลงการณ์ ณ ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 และได้มีหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการองค์การสหประชาชาติว่า สหรัฐฯ มีความประสงค์จะถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา

การประกาศถอนตัวดังกล่าวจะมีผลให้สหรัฐฯ ออกจากสมาชิก WHO อย่างเป็นทางการ วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ตามธรรมนูญการก่อตั้ง WHO กำหนดให้ประเทศที่ต้องการออกจากการเป็นสมาชิกต้องแจ้งเตือนล่วงหน้า 1 ปี  และจ่ายเงินให้แก่ WHO เต็มในรอบปีงบประมาณปัจจุบัน ในกรณีของสหรัฐจะต้องจ่ายเงินให้ WHO คิดเป็นเงินประมาณ 198 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ภายหลังแถลงการณ์ของทรัมป์ มีกระแสวิจารณ์จากทั้งสมาชิกวุฒิสภา อย่าง โรเบิร์ต เมเนนเดซ (Robert Menendez) ได้แสดงความเห็นต่อการถอนตัวออกจาก WHO ว่าจะทำให้สหรัฐอเมริกาโดดเดี่ยวจากเวทีระหว่างประเทศ และไม่ได้ช่วยให้ชาวอเมริกันได้รับการปกป้องผลประโยชน์ หรือชีวิตที่ดีของพลเมืองอเมริกันแต่อย่างใด อีกทั้งนักวิชาการภายในประเทศยังตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการใช้อำนาจฝ่ายบริหารดำเนินการดังกล่าวโดยยังไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐสภา ว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่  นอกจากนี้ยังมีวุฒิสภาอีกหลายคนที่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการตัดสินใจดังกล่าว รวมถึง ลามาร์ อเล็กซานเดอร์ (Lamar Alexander) ผู้แทนจากพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพรรคสังกัดเดียวกันกับทรัมป์ กล่าวว่า ทำเนียบขาวควรจะเสนอประเด็นที่เห็นว่า WHO ควรแก้ไขหรือมีการปฏิรูปหารือร่วมกันในสภามากกว่า

แม้ว่าจะมีกระแสคัดค้านภายในประเทศ และยังเหลือเวลาอีก 1 ปี การออกจากสมาชิกจึงจะมีผลอย่างเป็นทางการ จึงอาจกล่าวได้ว่าการถอนตัวดังกล่าวยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางอื่น ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ จะเกิดขึ้นในปลายปีนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจ/ผู้นำ การตัดสินใจดังกล่าวก็มีโอกาสที่จะเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม หากเราคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นผ่านมิติการพัฒนาที่ยั่งยืนจะพบว่า
หากการถอนตัวจาก WHO ของสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นจริง จะไม่ส่งผลกระทบเพียงการตัดขาดสหรัฐฯ จากความร่วมมือด้านสุขภาพเท่านั้น แต่จะลดทอนศักยภาพการขับเคลื่อนการสร้างสุขภาวะที่ดีและความปลอดภัยในชีวิตของประชากรทั้งโลก อย่างน้อยจาก 3 ประเด็น อาทิ

  1. อาจเป็นการลดทอนศักยภาพของ WHO ในมิติเชิงอำนาจตามความเป็นจริง

    ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนข้อตกลง ความร่วมมือหลายอย่างให้เกิดขึ้นได้จริง   เพราะบทบาทของ WHO ในฐานะองค์การระหว่างประเทศไม่สามารถแทรกแซง หรือบังคับให้ประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติตามได้ภายใต้หลักอำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐ แต่อาศัยหลักความยินยอม และกลไกการรวมตัวของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพสูงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สภาพบังคับในทางระหว่างประเทศเป็นจริงได้ หากการถอนตัวเกิดขึ้นจริงเท่ากับว่า WHO จะสูญเสียประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลและความสามารถในการต่อรอง ทำให้การสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาขาดประสิทธิภาพ ส่งผลโดยตรงต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 17 Partnership for the Goals  เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงาน และฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
     
  2. ในมิติของการเข้าถึงทรัพยากรและแหล่งทุนในการดำเนินงาน

    สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่บริจาคทุนสนับสนุน WHO มากที่สุดในโลก จากข้อมูลปี 2020 (ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2020) สหรัฐอเมริกาให้เงินสนับสนุน WHO คิดเป็นจำนวนประมาณ 115.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าผู้บริจาคอันดับสองอย่างจีนเกือบหนึ่งเท่าตัว หากเกิดการถอนตัวจริง จะส่งผลกระทบต่องบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงาน กล่าวคือ อาจทำให้ประเทศสมาชิกอื่น ๆ รับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่ง WHO ต้องปรับลดขนาด/โครงการที่ดำเนินงานลง 
  1. การเชื่อมประสานขององค์ความรู้ ข้อมูลที่ทั่วโลกควรแบ่งปันร่วมกันจะลดลง

    สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านวิจัย นวัตกรรมทางสุขภาพสูง ทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์ และการผลิตยา ซึ่งที่ผ่านมา WHO จะเป็นตัวกลางในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความช่วยเหลือต่าง ๆ เพื่อยกระดับงานด้านสุขภาพให้กับประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาน้อยกว่า การถอนตัวออกจากประเทศสมาชิกไม่เพียงจะทำให้การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้น้อยลงเท่านั้น  แต่จะส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลของประชากรที่มีผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย  โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของโลกราว 331 ล้านคน1 อีกทั้งยังมีแนวโน้มการเคลื่อนย้ายของประชากร การเดินทางเข้า-ออกประเทศของพลเมืองอเมริกันและชาวต่างชาติสูง  การรับรู้ข้อมูลด้านสุขภาพ โรคภัย ที่เกิดขึ้นภายในประเทศจำเป็นอย่างมากต่อการวางแผน คาดการณ์แนวโน้มของโรคที่อาจเกิดขึ้นและยกระดับเป็นโรคระบาดทั่วโลกดังกรณีโควิด-19  ส่งผลโดยตรงต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 Good Health and Well-being สร้างหลักประกันว่าด้วยคนมีชีวิตที่มีสุขภาพและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย ในสภาวะที่โลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โอกาสของการเกิดโรคอุบัติใหม่ หรือการกลายพันธุ์จึงมีโอกาสสูงขึ้น ประกอบกับกระแสโลกาภิวัฒน์ การเดินทางเคลื่อนย้ายของสินค้า ประชากรนั้นเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้การระบาดแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญต่อการรับมือดังกล่าว  การตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นสมาชิก WHO ของสหรัฐฯ จึงไม่เพียงตัดขาดตนเองออกจากความร่วมมือด้านสุขภาพเท่านั้น แต่อาจเป็นการลดทอนโอกาสที่ทั่วโลกจะยกระดับความร่วมมือด้านสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรมด้วย  การตัดสินใจครั้งนี้อาจมีผลต่อการปฏิรูปการทำงานของ WHO ครั้งใหญ่ที่ต้องจับตามอง

อ่านรายละเอียด การตอบโต้ต่อการถอนตัวของสหรัฐฯ ได้ที่นี่


1 ข้อมูลจาก https://www.worldometers.info/world-population/us-population/

Author

  • Editor | คนทำงานข้ามสายที่ชอบมองภาพใหญ่และอยากเห็นงานพัฒนามองทุกศาสตร์อย่างเชื่อมโยง

Exit mobile version