วิกฤติร่วมสมัยอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เราชาวโลกล้วนต่างเผชิญมาแรมปี นอกจากจะวัดพละกำลังและภูมิคุ้มกันทางสุขภาพกายไปพร้อมกับทดสอบศักยภาพความเข้มแข็งขององคาพยพส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคส่วนที่ต้องจัดการกับไวรัสรวมถึงผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจ ประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กันคือ “ภูมิคุ้มกันทางสุขภาพใจ” ของเราเองที่เมื่อมีความกลัว กังวล กระวนกระวายใจเกิดขึ้น ภาวะหมดไฟ (Burn out) รู้สึกเปล่าเปลี่ยวหรือเครียดสะสมจากความจำเป็นต้องปรับตัวกับมาตรการที่ไม่คุ้นชินในสถานการณ์เช่นนี้แล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่ต่างจากการเจ็บป่วยทางกาย อีกทั้งยังเป็นภาวะที่ไม่สามารถสังเกตเห็นในทางกายภาพทำให้ประชาชนอาจได้รับผลกระทบเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
SDG Updates ฉบับแรกของปีนี้จึงได้รวบรวมสถิติย้อนสำรวจความกังวล-ความสุขของคนไทยในภาวะที่มี
การระบาดเมื่อปี 2563 พร้อมข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อให้เรามีภูมิคุ้มกันทางสุขภาพใจ พร้อมใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขในปี 2564
ความกังวล
ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ทำการสำรวจทางออนไลน์เพื่อคัดกรองตรวจเช็กความกังวลของประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิดอย่างสม่ำเสมอเป็นรายสัปดาห์ โดยมีการเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม – เดือนกันยายน พ.ศ 2563
รวม 26 สัปดาห์ (ข้อมูลที่เผยแพร่) มีประชาชนทำแบบสอบสะสม 67,914 คน โดยวัยผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ
60 ปี ขึ้นไปเป็นกลุ่มที่ทำแบบสำรวจมากที่สุด พบว่า
แต่ละช่วงวัย (15-29 ปี 30-44 ปี 45-59 ปี) มี “ความรู้สึกกังวลมาก” แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา (มีนาคม-เมษายน พฤษภาคม-มิถุนายน และธันวาคม) นอกจากนี้ มีการสำรวจสุขภาพจิตในกลุ่มบุคลากร ทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยพบว่าเริ่มกลับมามีความกังวลมากยิ่งขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ไม่เพียงแต่
การสำรวจผลกระทบที่ก่อให้เกิดอารมณ์ด้านลบเท่านั้น ด้วยความห่วงกังวลว่าการปฏิบัติตามกฎการรักษาระยะห่างจากการ “หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้สมาชิกครอบครัวเกิดความเครียดและส่งผล
กระทบต่อสมาชิกภายในครอบครัวเดียวกัน
ความสุข
นอกจากความกังวลแล้ว กรมสุขภาพจิตจึงได้จัดทำชุดคำถามสำรวจ “ความสุขของครัวเรือนไทยในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19” ทางออนไลน์ เพื่อเริ่มศึกษานำข้อมูลมาวางแผนภูมิคุ้มกันความเข้มแข็งให้กับครอบครัวเพื่อให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากโรคระบาดที่ยังมีอยู่ต่อไปได้ โดยการสำรวจในกลุ่มตัวอย่าง 1,500 คน
ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563
ผู้ตอบการสำรวจอาศัยอยู่ต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพฯ ประมาณ 2 ใน 3 และเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
ผลพบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.87 รู้สึกมีความสุขมากที่ได้อยู่กับครอบครัว ร้อยละ 54.13 มีความเครียด
ในระดับปานกลาง ขณะที่ร้อยละ 20 ตอบว่าครอบครัวเครียดในระดับที่สูงถึงสูงมาก ร้อยละ 49.36 รู้สึกเป็นห่วงและกังวลที่ต้องเว้นระยะห่างกับคนในครอบครัว นอกจากนี้ ความรู้สึกใกล้ชิดที่ได้อยู่กับครอบครัวนั้น มี 1 ใน 3 ที่รู้สึกว่าใกล้ชิดมากขึ้น
การสำรวจยังได้ถามถึงการสร้าง “วัคซีนครอบครัว” เพื่อลดความเครียดในบ้านอย่างไรจากหลายวิธีด้วยกัน
ส่วนใหญ่มักลดความเครียดด้วยการพูดคุยถามสารทุกข์สุขดิบกันบ่อย ๆ และรักษากิจวัตรประจำวันในครอบครัวให้คงที่ สุดท้ายของการสำรวจนี้ ร้อยละ 65.47% มองว่าครอบครัวพร้อมร่วมมือแก้ไขปัญหาในสถานการณ์นี้กันอย่างเต็มที่ และร้อยละ 76.20 ที่เชื่อมั่นว่าครอบครัวสามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ สถานการณ์ตลอดทั้งปีจนถึงช่วงที่เริ่มมีการระบาดระลอกใหม่ท้ายปี 2563 มีทั้งช่วงที่ตึงเครียดและผ่อนคลาย
จะทำอย่างไรเมื่อเราอาจต้อง “ปรับตัวแล้ว กักตัวอีก”
“การล็อคดาวน์” ไทยได้ประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามระยะเวลาของการระบาด โดยนอกจากคลื่นลูกแรก (การพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัสนี้โดยตรงและต่อเนื่อง) คำอธิบายของคำว่าคลื่นที่ 4 เผยให้เห็นความกังวลที่มีต่อปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ กล่าวคือผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้นอาจทำให้เกิด “ความเครียด เหนื่อยล้า หมดไฟ ซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย” พร้อมกันนี้ไทยได้ใช้กลไกสร้าง “วัคซีนสำหรับสุขภาพจิต” บนหลักการที่ให้ทุกคนพยายามมองสถานการณ์ในเชิงบวก พร้อมที่จะปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ รวมถึงหมั่นสำรวจสุขภาพจิตของตนและคนรอบข้าง ช่วยเหลือ ให้กำลังใจและให้โอกาสกัน ในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน
ตลอดจนได้มีการวางกรอบแนวทางการฟื้นฟูจิตใจในสถานการณ์นี้ขึ้นมาเพื่อรองรับประเด็นด้านสุขภาพจิตในอนาคตด้วย โดยสำหรับปี 2564 มีการจัดกลุ่ม “ผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิต” เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
1) ผู้กักกัน/ผู้ติดเชื้อ 2) บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดโควิด-19 3) กลุ่มเปราะบางต่อปัญหา
สุขภาพจิต 4) ประชาชนทั่วไป/ชุมชน และ 5) กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนมีการ “เฝ้าระวังสภาพปัญหา
สุขภาพจิต” ในพื้นที่ที่มีระดับความเข้มข้นของจำนวนผู้ติดเชื้อแตกต่างกันไป พร้อมแนะนำประชาชนในการเลือกรับข่าวสารจากข้อมูลปริมาณมากและอาจทำให้เกิดความเครียดได้ โดยควรรับข้อเท็จจริงจากทางการเป็นหลัก ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตยังคำนึงถึงปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตที่อาจเป็นเหตุไปสู่การฆ่าตัวตายได้ โดยได้มีการเทียบเคียงปัจจัย อาทิ ปัจจัยด้านความสัมพันธ์ กลุ่มที่เสพติดแอลกอฮอล์ และผู้ป่วยทางจิต ระหว่างในสถานการณ์ปกติและในสถานการณ์โควิด และยืนยันว่ามาตรการทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งการฟื้นฟูดูแลทางสุขภาพจิตเป็นมาตรการสำคัญที่ควรดำรงไว้เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตาย
การทำความเข้าใจในธรรมชาติของภาวะความเครียดและวิตกกังวลที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่มีความสำคัญมากในการสร้างสุขภาพจิตให้เข้มแข็งและพึ่งพาตัวเองเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งจิตใจคนหนึ่ง รวมทั้งต่อความนึกคิดที่เราอาจจะตัดสินผู้อื่นหรือปฏิบัติกับผู้อื่น และความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวดังที่กล่าวมาแล้ว แม้ว่าอาจจะมีประสบการณ์จากการกักตัวมาแล้ว แต่การกลับมากักตัวใหม่อีกครั้งอาจทำให้รู้สึกเครียดและกังวลมากขึ้นได้ ดังนั้น จึงควรสังเกตอารมณ์กันและกัน อาหารการกินและร่างกาย แสดงออกให้รับรู้ถึงการดูแลเอาใจใส่กัน รับฟังปัญหา รวมถึงอธิบายความรู้ในการรักษาตัวให้ปลอดภัยจากไวรัสอย่างถูกต้อง พยายามทำกิจกรรมร่วมกัน สื่อสารกันด้วยเหตุผลความจำเป็นของการ “อยู่บ้าน” ซึ่งการใช้พื้นที่บ้านร่วมกัน สำหรับบางครอบครัวอาจเป็นที่เรียนออนไลน์ของเด็กเล็กและนักเรียนนักศึกษา และเป็นที่ทำงานจากบ้าน (Work from Home) สำหรับผู้ปกครอง ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีบทบาทความเป็นลูก ความเป็นนักเรียน ความเป็นพ่อแม่ และความเป็นคนทำงานซ้อนทับกัน ในบางครอบครัว อาจต้องดูแลผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ซึ่งอาจไม่ได้อยู่อาศัยอย่างพร้อมหน้ากับลูกหลานด้วย
นอกจากสุขภาพจิตในมุมความสัมพันธ์ของครอบครัวแล้ว เมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน กำหนดประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตโดยมีใจความส่วนหนึ่งชี้ว่าเมื่อคนติดเชื้อมากขึ้น ได้รับการรักษาจนหาย หรือผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขต่างก็มีปัญหาทางใจและความเครียดในระดับที่แตกต่างกัน จึงควรมีวิธีการดูแลตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มและทุกกลุ่มไม่ควรถูกละเลย
ขณะที่ องค์การอนามัยโลก (World Health organization: WHO) อธิบายว่าโดยปกติแล้วผลกระทบทางสุขภาพจิตมักเป็นเรื่องของความเครียดและความกังวลใจ ทว่าเมื่อมีการบังคับใช้มาตรการใหม่ ๆ อย่างการกักตัวและมีการจำกัดการทำกิจกรรมตามปกติของประชาชนทั่วไปและชุมชน ผลกระทบที่เกิดขึ้นใหม่คือ ความรู้สึกเหงาและเปล่าเปลี่ยว ซึมเศร้า อาจหันมาดื่มแอลกอฮอล์และเสพยาเสพติด รวมไปถึงพฤติกรรมที่เป็นการทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตาย ทั้งนี้ ต้องใส่ใจดูแลสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรหน่วยหน้าที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันมหาศาลครั้งนี้ด้วย
โดย WHO ได้ออกรายงาน “คำแนะนำด้านสุขภาพจิตและจิตสังคมในช่วงการระบาดของโควิด-19 (Mental Health and Psychosocial Considerations During COVID-19 Outbreak)” ในเดือนมีนาคม 2563 เพื่อแนะนำการดูแลสุขภาพจิตในกลุ่มประชากรต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วย ประชาชนทั่วไป บุคลากรสุขภาพ ผู้บริหารหรือผู้นำทีมในหน่วยบริการทางสุขภาพ ผู้ดูแลเด็ก ผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ และคนที่กักตัวอยู่คนเดียว โดยตัวอย่างของคำแนะนำมี อาทิ
- การดูแลสุขภาพจิตในช่วงเวลานี้สำคัญเท่ากับการดูแลสุขภาพกาย
- การไม่สร้างตราบาปให้กับผู้ป่วยด้วยโรคนี้ว่าเป็นตัวเชื้อโรค
- การรับข่าวสารเพียงหนึ่งหรือสองครั้งต่อวันจากข้อมูลที่น่าเชื่อถือเท่านั้นเพื่อลดอาการวิตกกังวลจากการรับข้อมูลที่มากเกินไปและอาจเป็นข้อมูลเท็จ
- พยายามใช้วิธีการจัดการอารมณ์ที่เป็นประโยชน์กับตัวเองและได้ผลสำหรับตัวเอง
- ติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนฝูงอย่างสม่ำเสมอ
- ให้ความช่วยเหลือกันด้วยการสนับสนุนทางสังคมและชี้ช่องทางให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต เป็นต้น
นอกจากนี้ ปลายปี 2563 ที่ผ่านมารัฐบาลของสหราชอาณาจักรเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงความเข้าใจในผลกระทบของสถานการณ์และให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต โดยเผยแพร่ “คำแนะนำด้านสุขภาพจิตและสุขภาวะในช่วงโควิด-19 (Guidance for the public on the mental health and wellbeing aspects of coronavirus (COVID-19) ซึ่งในภาพรวมมีทั้งการชี้แจงความท้าทายที่ประชาชนอาจจะยังต้องเผชิญอยู่ การให้คำแนะนำด้านการดูแลสุขภาพจิตในลักษณะทั่วไปและเฉพาะกลุ่ม อาทิ กลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลทางจิตเป็นพิเศษ กลุ่มผู้พิการ ผู้เป็นออทิสติก ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ รวมถึงผู้ที่เสพติดแอลกอฮอล์และยาเสพติด เป็นต้น
กล่าวได้ว่า เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ยังคงอยู่โดยอาจมีช่วงที่ตึงเครียดและผ่อนคลายลงบ้าง ทว่าผลกระทบ อาทิ ภาวะการว่างงานหรือปัญหาเศรษฐกิจ ที่เป็นประสบการณ์ร่วมกันของประชาชนคนทุกกลุ่มและช่วงวัยในสังคมโลก สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้ในระยะยาว ทั้งองค์การระหว่างประเทศ รัฐบาลที่ได้หยิบยกขึ้นมารวมทั้งไทย ต่างเห็นความสำคัญของการสร้างเกราะ “ภูมิคุ้มกันทางใจ” เพื่อให้การดูแลสุขภาพครอบคลุมทุกมิติ ทุกเงื่อนไข ข้อจำกัดของทุกคน ภายใต้หลักการพัฒนาที่ครอบคลุม (Inclusive Development) และสอดรับกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 3 การสร้างหลักประกันว่าด้วยคนมีชีวิตที่มีสุขภาพและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย
#SDG3 #HealthandWellbeing #SDGWatch
แหล่งอ้างอิง:
มาตรการดูแลช่วยเหลือทางจิตใจสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 29 มีนาคม 2563
ผลการสำรวจ ความสุขของครอบครัวไทยในช่วงการระบาดของไวรัวโควิด-19 13 เมษายน 2563
รายงานผลรายสัปดาห์ การคัดกรองความกังวลต่อโควิด
Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021