ปี 2020 เป็นจุดเริ่มต้นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติไม่ว่าจะเป็นการล็อคดาวน์ ปิดการเดินทางข้ามประเทศ หน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งของประจำกาย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (Covid-19) ซึ่งไม่เพียงกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น โควิด 19 ยังเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิต และระบบหลายอย่างของโลก แน่นอนว่า SDGs ก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดครั้งนี้ ทั้งในเชิงประเด็นและในเชิงกระบวนการขับเคลื่อน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อให้เห็นภาพรวมชัดเจน ครอบคลุมขึ้น SDG Updates ฉบับนี้ สรุป 17 ประเด็นที่ได้รับผลกระทบจากเกิดขึ้นจากการระบาดโควิด-19 ผ่านกรอบ SDGs
01 คนจนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
นับตั้งแต่ทั่วโลกรับรอง SDGs ให้เป็นวาระการพัฒนาสหประชาชาติเมื่อปี 2015 (พ.ศ. 2558) โดยเป้าหมายของแรก หรือ SDG 1 ขจัดความยากจน มุ่งลดจำนวนผู้มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนคือ 1.9 $/วัน (ประมาณ 56.9 บาท) ให้เป็นศูนย์ภายในปี 2030 ซึ่งประเทศสมาชิกก็ดำเนินการเรื่องนี้ได้ดี และแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่โลก มีโอกาสบรรลุได้ทันปี 2030 ดังเห็นได้จากตัวเลขจำนวนคนยากจนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ปี 2010 (พ.ศ.2541) จนกระทั่ง การเข้ามาของโควิด 19 ตัวเลขคนยากจนขั้นรุนแรงกลับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก โดยรายงาน SDG Report 2020 (เดือนสิงหาคม 2020) คาดการณ์ว่าจะมีคนจนเพิ่มขึ้นทั่วโลกราว 71 ล้านคน
ขณะที่ World bank เผยตัวเลขคนยากจนทั่วโลกที่จะเพิ่มขึ้นจากโควิด 19 ปี 2020 ในฐานปกติ (Baseline Forecast) 702.8 ล้านคน ฐานต่ำสุด (Downside forecast) 729.3 ล้านคน ส่วนปี 2021 ในภาวะตกต่ำที่สุดจะมีคนยากจนเพิ่มขึ้น 735.7 ล้านคน ซึ่งพลิกผันจากภาวะปกติที่คาดการณ์ว่า หากไม่มีการระบาดของโควิด 19 จำนวนคนยากจนทั่วโลกในปี 2020 จะลงเหลือ 614.7 ล้านคน และ 586.4 ล้านคนในปี 2021
02 วิกฤตการณ์อาหารยิ่งทวีความรุนแรง
ในสภาวะที่ไม่มีการระบาดความมั่นคงทางอาหารก็เป็นโจทย์ท้าทาย และมีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนหลัก ๆ อยู่แล้วอย่างน้อย 3 ปัจจัย คือ
– สภาพอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตทางอาหารไม่คงที่ การจัดการทรัพยากรพื้นฐานที่ใช้ในการผลิตโดยเฉพาะน้ำเป็นไปได้อย่างยากลำบาก
– ความขัดแย้ง ผลของการจัดสรรทรัพยากรในการผลิตนำมาซึ่งการขัดกันของผลประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม เช่น เกษตรกร เจ้าของที่ดิน หรือแม้แต่หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ควบคุมบริหารจัดการน้ำ
– ภัยคุกคามจากศัตรูพืช ผลพวงจากความไม่สมดุลของระบบนิเวศทำให้เกิดการระบาดของสัตว์ที่ทำลายพืชผลการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ตั๊กแตน” โดยเฉพาะในประเทศแถบแอฟริกา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ FAO ประเมินว่าการระบาดครั้งนี้ในเคนยาถือว่าร้ายแรงมากที่สุดในรอบ 70 ปี ส่วนเอธิโอเปียและโซมาเลียถือว่าการระบาดครั้งนี้ร้ายแรงมากที่สุดในรอบ 25 ปี
การระบาดของโควิด 19 จึงเป็นการ “เพิ่ม” ปัจจัยที่ทำให้ความไม่มั่นคงทางอาหารรุนแรงขึ้น เนื่องจากประชากรมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้ นอกจากนี้ประเทศที่พึ่งพาการนำเข้ายังประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารในระยะสั้น ๆ เพราะการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศหยุดชะงักลง
สำหรับประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบในแง่การผลิตและเข้าถึงอาหารมากนัก แต่การระบาดของโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้โดยเฉพาะกลุ่มผู้รับจ้างรายวัน เด็ก นักเรียนที่อาศัยตามพื้นที่ชายขอบยังคงประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ยังอยู่ในภาวะขาดแคลนสารอาหาร เนื่องจากโดยปกตินักเรียนกลุ่มดังกล่าวที่มีฐานะยากจะได้รับการสนับสนุนอาหารกลางวันจากโรงเรียน แต่เมื่อโรงเรียนปิดการเข้าถึงอาหารที่มีคุณค่าโภชนการจึงถูกลดทอนลงไปด้วย
03 การฉีดวัคซีนเพื่อภูมิคุ้มกันของเด็ก
ทั่วโลกต้องหยุดชะงัก
การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนเป็นการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ทั่วโลกพยายามทำให้ประชากรทุกคนโดยเฉพาะเด็กได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเช่น โปลิโอ หัดเยอรมัน โครงการขยายการสร้างภูมิคุ้มกันที่ริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ ปี 1970 เผยว่าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 อัตราการหยุดชะงักหรือระงับบริการการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นถึง 53 เปอร์เซ็นต์ จาก 129 ประเทศที่มีการรายงานข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดและโปลิโอ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงด้วยการระงับแคมเปญโรคหัดใน 27 ประเทศและระงับแคมเปญโปลิโอใน 38 ประเทศ อย่างน้อย 24 ล้านคน
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมีการปิดการเดินทางข้ามแดนจากการระบาดของโควิด 19 พื้นที่แถบชายแดนของประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางอย่างน้อย 26 ประเทศ ประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีน และมีอย่างน้อย 21 ประเทศที่มีความเสี่ยงจะไม่ได้รับวัคซีนต่อต้านโรคโปลิโอหัดไทฟอยด์ไข้เหลืองอหิวาตกโรคโรตาไวรัสมนุษย์ papillomavirus (HPV) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ A และหัดเยอรมัน
04 นักเรียน 1.5 พันล้านคนต้องหยุดเรียน
มาตรการล็อคดาวน์เพื่อลดความเสี่ยงในการเดินทาง การรวมตัวคนจำนวนมากทำให้สถานศึกษาต้องปิด หรือปรับรูปแบบเป็นการเรียนจากระยะไกลหรือการเรียนออนไลน์แทน จากข้อมูลของธนาคารโลกในช่วงเดือนมีนาคม 2020 ที่มีการระบาดสูงนักเรียนทั่วโลกต้องหยุดเรียน/งดการเดินทางมาโรงเรียนกว่า 1.5 พันล้านคน ผลกระทบจากการหยุดเรียน ไม่เพียงแต่ทำให้สูญเสียการเรียนรู้ในระยะสั้น แต่ยังทำให้โอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับนักเรียนรุ่นนี้ลดน้อยลงในระยะยาว เนื่องจากการสูญเสียการเรียนรู้และการเพิ่มขึ้นของอัตราการออกกลางคันนักเรียนรุ่นนี้ต้องสูญเสียรายได้ประมาณ 10 ล้านล้านดอลลาร์หรือเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั่วโลก
05 เด็กและผู้หญิงเสี่ยงต่อที่จะได้รับ
ความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้นจากการล็อคดาวน์การล็อคดาวน์ทำให้สมาชิกในครอบครัวต้องใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ทำให้เด็กและผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมนั้นเสี่ยงที่จะถูกทารุณ หรือได้รับความรุนแรงทั้งจากสมาชิกในครอบครัวและคนในชุมชน
ความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศต่อผู้หญิงเป็นเรื่องธรรมดาเกินไปจากการสำรวจระหว่างปี 2548 ถึง 2560 ในปี 106ประเทศต่าง ๆ ร้อยละ 18 ของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่เคยเป็นเพื่อนหรือมีความเชื่อมโยงกัน 15- 49 คน ประสบกับความรุนแรงดังกล่าวโดยคนใกล้ชิดทั้งในปัจจุบันและในอดีตในช่วง 12 เดือนก่อนการสำรวจ
ข้อมูลจากหลายประเทศแสดงมีการรายงานการเพิ่มขึ้นของความรุนแรงในครอบครัวจากสายด่วนผู้ลี้ภัยและที่พักพิงของผู้หญิงและตำรวจ. พบว่าผู้หญิงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ที่ประสบกับความรุนแรงรายงานอาชญากรรมนี้หรือขอความช่วยเหลือจากเหตุ “ถูกกักขังในบ้าน” บางประเทศผู้ถูกกระทำเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือเพื่อขอความช่วยเหลือได้
06 ประชากรอย่างน้อย 3 พันล้านคน ขาดอุปกรณ์และน้ำสะอาดสำหรับล้างมือที่บ้าน
การล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดเป็นวิธีป้องกันตนเองพื้นฐานจากโควิด 19 แต่ข้อมูลจากรายงาน SDG Report 2020 สะท้อนให้เห็นว่าอาจมีประชากรจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีสบู่และน้ำสะอาดสำหรับทำความสะอาดมือในบ้านหรือที่อยู่อาศัยของตนเอง ข้อสันนิษฐานนี้เทียบเคียงจากข้อมูลล่าสุดที่รายงานใช้คือสัดส่วนของประชากรที่มีสบู่และน้ำสะอาดในบ้านเมื่อปี 2017 หรือ 3 ปีก่อนการระบาด หลายกลุ่มประเทศที่ประชากรเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐานเหล่านีได้ไม่ถึงครึ่ง จึงมีการประเมินว่าอาจมีประชากรราว 3,000 ล้านคนทั่วโลกอาจไม่มีสบู่และน้ำสะอาดในบ้าน
07 1 ใน 4 ของโรงพยาบาลในบางพื้นที่ของประเทศกำลังพัฒนาไม่มีไฟฟ้าใช้
การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ยิ่งฉายให้เห็นความจำเป็นของการมีพลังไฟฟ้าที่สะอาด มีประสิทธิภาพในราคาที่เข้าถึงได้ จากการสำรวจในปี 2018 ใน 6 ประเทศในแอฟริกาและเอเชียพบว่า 1 ใน 4 ของสถานบริการสุขภาพที่สำรวจไม่มี ไฟฟ้าดับและอีก 1 ใน 4 ประสบปัญหาไฟดับโดยไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการให้บริการด้านสุขภาพทำให้เกิดความเสียหายแก่อุปกรณ์การแพทย์เนื่องจากความผันผวนของแรงดันไฟฟ้า
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเข้าถึงไฟฟ้าอย่างครอบคลุมภายในปี 2573 อัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าประจำปีจะต้องเพิ่มขึ้นจาก 0.82 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบันเป็น 0.87 สำหรับปี 2019 ถึงปี 2030 ในอัตราก้าวหน้า จากข้อมูลที่รายงาน SDG Report 2020 มีอยู่ในปัจจุบัน คาดหมายได้ว่าจะมีประชากรราว 620 ล้านคน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ ในปี 2573 อย่างไรก็ตามการประมาณการนี้ไม่ได้คำนึงถึงภาวการณ์ระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้กระบวนการต่าง ๆ รวมถึงห่วงโซ่การผลิตหยุดชะงักลง
08 เศรษฐกิจโลกถดถอยลงเร็วที่สุดนับแต่ปี 1990
มาตรการที่ทั่วโลกกำหนดขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสและชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะส่งผลให้มีผู้ป่วยมากเกินจำนวนที่ระบบสาธารณสุขแต่ละประเทศจะรับมือได้นั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะการล็อคดาวน์ การงดการเดินทางระหว่างประเทศ การงดนั่งรับประทานอาหารภายในร้านอาหาร การงดจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก อาทิ สถานบันเทิง คอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก เช่น ไทย ญี่ปุ่น ประเทศในสหภาพยุโรป
เมื่อปี 2019 (พ.ศ. 2562) อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลงเหลือ 1.5 เปอร์เซ็นต์และในปี 2020 ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนานำพาโลกเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990
จากแผนภาพจะเห็นได้ว่าเมื่อนำอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในปีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำคือ 1991 (สีน้ำเงิน), 2009 (สีแดง) และปี 2020 (สีส้ม) เปรียบเทียบในเดือนเดียวกันจะเห็นว่าการถดถอยของเศรษฐกิจในปี 2020 ลดลงรวดเร็วที่สุดโดยเดือนมีนาคมที่การระบาดแพร่กระจายไปทั่วโลก GDP อยู่ที่ 1.7 และเดือนพฤษภาคมลดลงไปอยู่ที่ -4.36 ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน
การที่เศรษฐกิจถดถอยลงอย่างฉบับพลันย่อมส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเป้าหมายที่ 8 ด้านการเติบโตเศรษฐกิจ ซึ่งมุ่งให้กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least developed country: LDC) เติบโตด้วย GDP อย่างน้อยร้อยละ 7 ต่อปี นั้นเป็นไปไม่ได้
09 หลายอุตสาหกรรมตกต่ำ เทคโนโลยีสื่อสารโตก้าวกระโดด แต่ประเทศ LCDS เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ไม่ถึงครึ่ง
การระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อ ห่วงโซ่คุณค่าและอุปทานระดับโลกถูกตัดขาดจากกัน กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจึงเป็นภาคส่วนที่อาศัยการเชื่อมโยง และเปลี่ยนในทางกายภาพไม่ว่าจะเป็นการบิน การท่องเที่ยว การขนส่ง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ประชากรในประเทศพึ่งพารายได้จากการเป็นแรงงานในสายการผลิต การที่ความต้องการซื้อในตลาดลดลง และไม่สามารถขนถ่ายวัตถุดิบไปยังแหล่งผลิตแปรรูปได้ ทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบ หรือลักษณะการทำงานได้เหมือนภาคส่วนอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม ยังมีอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดนั่นคือโทรคมนาคม และการสื่อสาร เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์ และการลดการเดินทางทำให้ประชากรโลกต้องหันมาพึ่งพาการสื่อสารทางโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ตพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และยิ่งฉายให้เห็นความจำเป็นของการทำให้ประชากรในโลกเข้าถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง
จากการสำรวจสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงสัญญาณโทรศัพท์มือถือและการใช้อินเทอร์เน็ตประมาณการปี 2019 พบว่า อัตราการเข้าถึงอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี 2019 ประชากรโลกกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงใกล้โทรศัพท์มือถือ และร้อยละ 93 อาศัยอยู่ไม่ไกลจากจุดกระจายสัญญาณ
สำหรับประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดนั้นก็มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากรายงานระบุว่า
มีการกระจายสัญญาณโทรศัพท์มือถือจาก 51 เปอร์เซ็นต์ในปี 2558 เป็น 79 เปอร์เซ็นต์
ใน 2019 อย่างไรก็ตามมีเพียง 54 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลกที่ใช้งาน
อินเตอร์เน็ตได้จริง ประชากรที่ไม่เข้าถึง (Offline) ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใน LDC
ซึ่งใช้อินเตอร์เน็ตได้เพียง 19 เปอร์เซ็นต์ใช้อินเทอร์เน็ต เทียบกับประเทศพัฒนาแล้วที่ประชากรเข้าถึงและใช้อินเตอร์เน็ตได้ถึง 87 เหตุผลสำคัญของช่องว่างขนาดใหญ่นี้คือ
ค่าใช้จ่าย และทักษะในการใช้เทคโนโลยี
10 ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ยิ่งชัดเจนขึ้น กลุ่มเปราะบางยิ่งถูกซ้ำเติมจากภาวะดังกล่าว
ตังแต่ก่อนการระบาดความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่มีแนวโน้มรุนแรงสูงอยู่แล้ว เมื่อมีการระบาดเกิดขึ้นความแตกต่างของความสามรถในการแข่งขัน การเข้าถึงทรัพยากรตลอดจนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพที่ต่างมากจนเกินไปนั้นยิ่งตอกย้ำให้ดลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดในสังคม ยิ่งเผชิญสภาวะที่ยากลำบากและมีโอกาสที่จะถูกเลือกปฏิบัติ หรือ”ถูกทิ้งไว้ข้างล่าง” อันเนื่องมากจากความซับซ้อนของปัญหา โดยเฉพาะ ผู้หญิง เด็ก ผู้อพยพ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ
รายงานระบุว่าการเติบโตของรายได้ครัวเรือน (หรือการบริโภค)ในช่วงปี 2012-2017 ของ ประเทศที่มีคนยากจนที่สุด 40% ของจำนวนประชากรทั้งหมด 73 ประเทศจาก 90 ประเทศ พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาประชากรกลุ่มดังกล่าวมีรายได้เติบโตขึ้นจริง นอกจากนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งของ ประเทศเหล่านั้นยังมีอัตราการเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศทั้งหมด
(90 ประเทศ)
อย่างไรก็ตามในทุกประเทศรายได้ของคนยากจนที่สุด 40% นี้ยังมีรายได้รวมกันแล้วน้อยกว่า 40% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่คนที่รวยที่สุดซึ่งคิดเป็น 10% ของประชากรกลับมี
รายได้อย่างน้อย 20%ของรายได้ทั้งหมด
11 90% ของผู้ป่วยโควิด 19 กระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง เมืองโตเร็ว แต่บริการสาธารณะโตตามไม่ทันเมื่อเกิดโรคระบาดจึงทำให้รู้ว่า “เมืองเปราะบางกว่าที่คิด และต้องยืดหยุ่นมากกว่าที่เคยเป็น”
การออกแบบเมือง และโครงสร้างพื้นฐานในเมืองนั้นมักให้ความสำคัญกับการวางผังเมือง การตั้งถิ่นฐานให้คนในเมืองสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะและเชื่อมโยงกันได้ ขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ที่กล่าวมานี้เป็นประเด็นพื้นฐานที่ผู้ออกแบบเมืองจะพิจารณาเป็นเรื่องหลัก ๆ เมื่อเราพูดถึง “เมืองน่าอยู่ เมืองยั่งยืน” แต่เมื่อเกิดการระบากของโควิด 19 ที่มีการแพร่ระบาดหนักที่สุดในเขตเมือง ข้อมูลจากรายงานพบว่า ผู้ป่วยที่ติดโควิด 19 กว่า 90% ล้วนกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง หรือพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง ทำให้แนวคิดเมืองที่ต้องตอบโจทย์ต่อการ “ตั้งรับปรับตัวต่อภัยพิบัติ” กลายเป็นหัวข้อสนทนาที่ถูกกล่าวถึงในวงกว้างมากขึ้น
แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนของประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด (สลัม) จะลดลงจากช่วงปี 2000 -2014 อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ในช่วงปี ค.ศ. 2000 มีประชากรเขตเมืองทั่วโลกที่อาศัยอยู่ในชุมชนแอดอัดราว 28% และในปี 2014 ประชากรที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวลดลงไปเหลือ 23% ในปี 2014 และมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อย ๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประชากรโลกมีที่อยู่อาศัยที่เป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากการพัฒนาเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนการพัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่าง ๆ รวมถึงน้ำการสุขาภิบาล และการจัดการขยะ ความแออัดของระบบขนส่งสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการดูแลสุขภาพเพื่อตอบรับการขยายตัวดังกล่าวเติบโตตามไม่ทันทำให้เมื่อเกิดการระบาดโควิด 19 กลุ่มประชากรที่ยังคงอาศัยอยู่ในเขตชุมชนแออัดจึงได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้นในแง่การใช้ชีวิต เพราะสภาพพื้นที่ที่อาศัยอยู่ไม่เอื้อต่อการเว้นระยะห่าง หรืออาศัยอยู่ในบ้านเป็นระยะเวลานาน
12 โควิด 19 ทำให้การใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองสูงขึ้น แต่ก็เป็นสัญญาณดีที่ทั่วโลกกำลังดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง
การบริโภคและการผลิตเป็นกิจกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมาโดยตลอด แต่กิจกรรมดังกล่าวทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรโลกอย่างสิ้นเปลืองมานานนับศตวรรษ รอยเท้าวัสดุ (material footprint) ที่บ่งบอกถึงการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตทั่วโลกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเติบโตของประชากรและผลผลิตทางเศรษฐกิจ สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่าเป็นโจทย์ที่ทั่วโลกพยายามปรับปรุงประสิทธิภาพของการทรัพยากร การอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างจริงจัง
แต่การระบาดของโควิด 19 ทำให้ดัชนีสูญเสียอาหารมีสัดส่วนที่สูงขึ้น มีการใช้วัสดุย่อยสลายไม่ได้เช่นพบาสติก โฟม บรรจุภัณฑ์อาหารที่ต้องกำจัดมากขึ้น เช่นเดียวกันกับขยะทางการแพทย์เพิ่มเติมสร้างขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดกำลังเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นที่น่ากังวล แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นโอกาสที่จะได้ผนวกเอาประเด็นดังกล่าวเข้าไปสู่แผนการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนของประเทศอย่างจริงจัง
สำหรับอาเซียนและไทย SDG 12 เป็นเป้าหมายลำดับต้น ๆที่ภูมิภาคและประเทศมุ่งที่จะปรับปรุงการดำเนินการให้ดีขึ้น โดยสำหรับประเทศไทยนั้นมีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน อันเกิดจากการรวมตัวของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ภาควิชาการเพื่อเป็นพื้นที่สนทนาและจัดทำข้อเสนอต่าง ๆ อย่างจริงจัง
13 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 6% แต่เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ และจะดีดกลับมาเมื่อเริ่มปลดล็อคมาตรการ
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรักษาอุณหภูมิโลก และบรรเทาความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาเร่งด่วนที่นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเคยให้ความเห็นร่วมกันว่านี่เป็นเป้าหมาย SDG ที่ขับเคลื่อนได้ยากที่สุด และมีความก้าวหน้าน้อยที่สุดในบรรดา 17 เป้าหมาย
การระบาดของโควิด 19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก การเดินทาง การผลิตในอุตสาหกรรมน้อยลงจากเดิมหลายเท่าตัวจึงเป็นผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 6% แต่ก็เป็นเพียงผลระยะสั้น ๆ เท่านั้น เมื่อมีการคลายมาตรการล็อคดาวน์ลงมลภาวะทางอากาศก็จะกลับมาเช่นเดิม
นอกจากนี้ แม้การระบาดของโควิด 19 จะทำให้สภาพอากาศฟื้นตัวลงบ้าง แต่ไม่ส่งผลดีในระยะยาว เนื่องจากการจะบรรลุ SDG 13 ได้นั้นต้องทุ่มทรัพยากร เงินทุนจากประเทศสมาชิกจำนวนมาก เมื่อแต่ละประเทศต่างประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ย่อมไม่สามารถที่จะสนับสนุนเงินทุนได้ดังที่เคยวางแผนไว้
14 ระบบนิเวศทางทะเลฟื้นตัว
เช่นเดียวกับ SDG 13 การลดกิจกรรมของมนุษย์จากการระบาก COVID-19 เป็นโอกาสที่มหาสมุทรจะได้ฟื้นตัว ระบบนิเวศแนวปะการังตามหมู่เกาะ สถานที่ท่องเที่ยวฟื้นฟูตนเองได้อย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะใช้ช่วงเวลานี้ในการวางแผนให้มหาสมุทรฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เช่น การปรับระยะเวลาการท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ การจัดเตรียมข้อกำหนดการเดินเรือ การนำเที่ยว เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ทรัพยากรทางทะเลจะได้รับการฟื้นตัว แต่อุตสาหกรรมทางทะเล โดยเฉพาะประมงรายย่อย ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการประมงทั้งหมดของผลผลิตในประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากไม่สามารถส่งออกผลผลิตได้ดังที่เคยเป็น ผู้ผลิตรายย่อยจึงจำเป็นต้องปรับตัวกลับไปเน้นการจำหน่ายอาหารให้กับชุมชนในท้องถิ่น เน้นการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น แต่ก็เป็นเพียงการระบายผลผลิตในระดับหนึ่งเท่านั้นอันเป็นผลมากจากกำลังซื้อที่น้อยลง
15 ในช่วงปี 2015 -2020 จะมีป่าไม้ถูกทำลายราว 62.5 ล้านไร่ต่อปี
ก่อนเกิดการระบาดโควิด 19 สถานการณ์จำนวนพื้นที่ป่านั้นลดลงในอัตราที่น่ากังวลอยู่แล้ว กล่าวคือ ในช่วงปี 2015 -2020 จะมีป่าไม้ถูกทำลายราว 62.5 ล้านไร่ต่อปี สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลงเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคเกษตร นอกจากนี้ความหลากหลายทางชีวภาพและสายพันธุ์พืช สัตว์มีแนวโน้มการสูญพันธุ์มากขึ้นเรื่อย ๆ การล่าสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อจำหน่าย บริโภคในตลาดมืดนั้นยังคงสูงขึ้น ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาที่ระบาดอย่างหนักในปัจจุบัน
16 ความขัดแย้งเดิมยังคงอยู่ สถาบันอ่อนแอ จำนวนผู้คนหนีสงครามการประหัตประหารและความขัดแย้งเกิน
79.5 ล้านคน สูงสุดเท่าที่บันทึกไว้
เนื่องจาก SDG 16 นั้นครอบคลุมตั้งแต่ประเด็นความมั่นคง สันติภาพ และประสิทธิภาพของสถาบันภาพรวมของสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปี 2020 นั้นจึงครอบคลุมทั้งเรื่องความขัดแย้ง สงคราม ตลอดจนประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญต่อการบริหารจัดการบ้านเมืองในสภาวะวิกฤติ
สำหรับความขัดแย้งความไม่มั่นคงของสถาบันที่อ่อนแอและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมยังคงเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี 2562 จำนวนผู้คนหนีสงครามการประหัตประหารและความขัดแย้งเกิน 79.5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดที่บันทึกไว้นอกจากนี้ หลายประเทศยังคงประสบปัญหาการระบุตัวตนในทางทะเบียนเพื่อให้สามารถใช้สิทธิต่างๆ อาทิ การรักษาพยาบาลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19
17 กลไกการแลกเปลี่ยน และทรัพยากรสำหรับการสร้างความร่วมมือจะลดน้อยลง
กระบวนการขับเคลื่อน SDGs นั้นเปิดขึ้นในหลายมิติ แต่ในมิติของความร่วมมือระหว่างประเทศนั้นจำเป็นต้องอาศัยกลไกการแลกเปลี่ยน การประชุมหารือทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ การระบาดของโควิด 19 ทำให้กระบวนการดังกล่าวหยุดชะงัก หรือถูกเลื่อนออกไปทำให้โอกาสที่นานาประเทศ จะได้แลกเปลี่ยน หารือข้อเสนอเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นไปด้วยความล่าช้า ยกตัวอย่างเช่น กระบวนการทบทวน (The intergovernmental review) เพื่อพัฒนาการประชุมระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF) ที่เดิมมีแผนจะจัดขึ้นในปี 2020 ก็ต้องเลื่อนออกไป และจะกลับมาจัดในปีนี้ 2021
ในเชิงการเข้าถึงแหล่งทุน ทรัพยากรเพื่อดำเนินงานนั้นยิ่งเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากแนวนโยบายต่างประเทศของทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจที่เคยมีบทบาทในเวทีโลกต่างมีแนวโน้มที่จะกลับไปให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูกิจการภายในประเทศก่อน การจะดึงผู้เล่น หรือผู้สนับสนุนที่เข้ามามีบทบาทสนับสนุนแหล่งทุนอย่างจริงจังดังที่เคยเป็นมาอาจลดน้อยลง
จากบทสรุปที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการหยิบยกประเด็นที่เกิดขึ้นจากการระบาดโควิด 19 เพื่อฉายให้เห็นผลกระทบต่อมิติการพัฒนาที่อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าโควิด 19 มิได้เพียงแต่ส่งผลกับเศรษฐกิจ หรือสุขภาพเท่านั้น แต่การระบาดครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นช่องว่าง (Gap) ประเด็นปัญหาหลายอย่างชัดเจนขึ้น และต้องติดตามต่อไปว่าในปีนี้ 2021 ที่การระบาดยังคงอยู่โลกจะมีทิศทางการฟื้นฟู ดำเนินนโยบายไปในทิศทางใดให้สอดรับกับการเปลี่ยนที่ไม่อาจคาดคิด
อ้างอิง
The Sustainable Development Goals Report 2020
https://unstats.un.org/sdgs/report/2020/The-Sustainable-Development-Goals-Report-2020.pdf
World bank , “2020 Year in Review: The impact of COVID-19 in 12 charts”
https://blogs.worldbank.org/voices/2020-year-review-impact-covid-19-12-charts
Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021