Site icon SDG Move

SDG Updates | แก้กฎหมายอาญาเปิดทางให้ ‘ทำแท้ง’ถูกกฎหมาย มองมติของสภาผู้แทนฯ ผ่านเลนส์ SDGs

การทำแท้งเป็นประเด็นที่ถกเถียงในสังคมมาอย่างยาวนาน ด้วยความละเอียดอ่อนทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างหลักการ สิทธิเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายของหญิงที่ตั้งครรภ์ กับคุณค่าทางศีลธรรม ความเชื่อ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ มุมมองของสังคมคำถามที่ว่า “ทำแท้ง” ควรเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถูกตีแผ่นำเสนอเหตุผล ความจำเป็นทั้งในทางการแพทย์ ผลกระทบต่อตัวหญิงที่ตั้งครรภ์ จนนำมาสู่กระบวนการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ….)  พ.ศ…..…. เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมาย (ป.อาญา) มาตรา 301 และมาตรา 305  ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรมีมติ ‘เห็นชอบ’  ให้แก้ไข หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “เห็นชอบให้แก้ไขเพื่อเปิดทางให้ทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมาย” เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา

การตัดสินใจครั้งนี้นอกจากจะช่วยให้หญิงที่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์สามารถทำได้ อย่างปลอดภัยแล้ว ยังส่งผลสะท้อนเชิงบวกต่อการออกแบบกลไกทางสังคมที่คำนึงถึงความเท่าเทียมของคนทุกเพศ ทุกกลุ่ม SDG Updates ฉบับนี้ ชวนสะท้อนผลที่เกิดขึ้นจากมติเห็นชอบแก้ไขกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรผ่านเลนส์ SDGs

บรรยากาศการอภิปรายในสภาผู้แทนรษฎรวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว

การทำแท้ง ในมิติของ  SDGs

แม้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development goals: SDGs) จะมิได้กล่าวถึงเรื่องการทำแท้งเอาไว้อย่างชัดเจน เนื่องจากยังประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนต่อหลายประเทศสมาชิก แต่หากพิจารณาลงไปในระดับเป้าหมายย่อย (Target) จะเห็นว่ามีเป้าหมายที่มุ่งสร้างหลักประกันเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์และอนามัยเจริญพันธุ์ แน่นอนว่าครอบคลุมถึงสิทธิที่หญิงจะตัดสินใจทำแท้งด้วย ประเด็นเหล่านี้ถูกบรรจุอยู่ใน SDG 3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสาหรับทุกคนในทุกวัย เป้าหมายย่อย (Target) ที่ 3.7 มุ่งสร้างหลักประกันให้ทั่วโลกเข้าถึงเรื่อง บริการด้านสุขภาพเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์และอนามัยเจริญพันธุ์รวมทั้งข้อมูลและการศึกษาด้านการวางแผนครอบครัว และการบรูณาการข้อมูลด้านอนามัยการเจริญ พันธุ์เข้ากับแผนยุทธศาสตร์ในระดับชาติ   นอกจากนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังได้ให้แนวทางว่าการให้สิทธิหญิงยุติการตั้งครรภ์นั้น ถือเป็นบริการทางสุขภาพอย่างหนึ่ง

การที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ทำแท้งได้จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และบาดเจ็บจากการทำแท้งในสถานบริการเถื่อน บุคลากรทางการแพทย์จะมีแนวทางและมีความชัดเจนว่าสิ่งที่ตนจะทำนั้นอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย สังคมจะเริ่มทำความเข้าใจใหม่ว่า ‘ทำแท้ง’ หากอยู่ภายใต้ขอบเขตและกระบวนทางการแพทย์ย่อมเป็นการตัดสินใจในเนื้อตัวร่างกายของหญิงเท่านั้น มิได้ถือเป็นอาชญากรรมที่สร้างความเสียหายแก่ผู้ใด หรือดังที่นักกฎหมายมักกล่าวกันว่า การทำแท้งเป็น “อาชญากรรมที่ไม่มีเหยื่อ” เพราะหากเริ่มยุติการตั้งครรภ์ ตั้งแต่เนิ่น ๆ เซลล์ อวัยวะภายในของทารกยังเจริญวัยไม่เต็มที่โอกาสในการทำแท้งสมบูรณ์ (ทำแท้งสำเร็จ) ก็ยิ่งสูงขึ้น

ในมิติทางเพศ นี่คือหมุดหมายสำคัญของการขจัดการเลือกปฏิบัติ สร้างความเท่าเทียมทางเพศตาม SDG 5 บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง  เนื่องจากการตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์นั้นมิอาจเกิดได้จากหญิงฝ่ายเดียว ดังนั้นภาระความรับผิดชอบ หรือกระทั่งการถูกมองในเชิงลบ จึงไม่ควรเกิดกับผู้หญิงแต่ฝ่ายเดียวเช่นกัน ทางออกที่ดีที่สุดในระยะยาวจึงเป็นการเปิดโอกาสให้หญิงได้มีสิทธิเลือกกำหนดอนาคตในเนื้อตัวชีวิตร่างกายด้วยตนเอง  สอดรับกับเป้าหมายย่อย (Target) ที่ 5.6 สร้างหลักประกันให้ทั่วโลกเข้าถึงทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิการเจริญพันธุ์ตามข้อตกลงของ โครงการปฏิบัติการของการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยประชากรและการพัฒนา (Programme of Action of International Conference on Population and Development : ICPD)

นอกจากนี้ ยังช่วยลดอัตราการเพิ่มของ “คุณแม่วัยใส” อันหมายถึง วัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กวัยรุ่นออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะแม้สถานศึกษาจะอนุญาตให้เด็ก/นักเรียนที่ตั้งครรภ์เข้าเรียนได้ แต่ก็จะถูกกดดันสภาพแวดล้อมและอาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม  เด็กเหล่านี้จึงถูกขับออกจากระบบการศึกษาโดยปริยาย ถูกลดทอนโอกาสในการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพ ทักษะอาชีพในอนาคต ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ SDG 4 สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ท้ายที่สุดพวกเขาก็จะไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กที่เกิดมาให้เติบโตได้อย่างมีคุณภาพด้วยข้อจำกัดทั้งความรู้ ศักยภาพทางเศรษฐกิจเกิดเป็นวงจรอุบาทว์เช่นนี้เรื่อยไป

ประเทศไทย กับ กฎหมายทำแท้ง

โดยหลักการแล้ว การทำแท้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายของประเทศไทย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ให้หญิงที่ทำแท้งมีความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ส่วนผู้ที่ทำแท้งให้กรณีที่หญิงยินยอม มาตรา 302 กำหนดให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท   แต่มีข้อยกเว้นให้สามารถทำแท้งได้หากเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 305 ได้แก่

(1) ต้องกระทำเนื่องจากเป็นอัตรายแก่สุขภาพของหญิง โดยข้อบังคับแพทยสภากำหนดให้ตีคำว่า ‘สุขภาพ’ นี้หมายความทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต เช่น หญิงมีความตึงเครียดอย่างรุนแรง 
(2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับเพศ ได้แก่ ความผิดฐานข่มขืน   ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ความผิดฐานค้าประเวณี

ก่อนจะมีการพิจารณาแก้ไขกฎหมาย ศูนย์สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (Center for reproductive rights) ได้จัดทำแผนที่โดยแบ่งสถานะของกฎหมายทำแท้งออกเป็น 5 สี ได้แก่

(1) สีแดง – ห้ามทุกกรณี (Prohibited Altogether)
(2) สีชมพู – เพื่อช่วยชีวิตผู้หญิง (To Save the Woman’s Life)
(3)สีเหลือง – เพื่อรักษาสุขภาพ (To Preserve Health)
(4) สีฟ้า – ครอบคลุมเหตุผลด้านสังคมหรือเศรษฐกิจ (Broad Social or Economic Grounds)
(5) สีน้ำเงิน – ตามคำร้องขอ แต่มีการกำหนดข้อจำกัดการตั้งครรภ์ที่หลากหลาย (On Request (Gestational Limits Vary)

ภาพแสดงสถานะกฎหมายทำแท้งทั่วโลกจาก Center for reproductive rights
https://reproductiverights.org/worldabortionlaws 

จากภาพจะเห็นว่าสถานะกฎหมายการทำแท้งของประเทศไทยอยู่ในระดับ ‘กลาง ๆ’ เมื่อเทียบกับกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก กล่าวคือ ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่ม “สีเหลือง” คือ การทำแท้งสามารถกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุหรือปัจจัยที่จะกระทบต่อสุขภาพของหญิง ซึ่งในที่นี้หมายถึงกรณีตามมาตรา 305 ดังที่กล่าวไปข้างต้นนั่นเอง ถึงแม้ว่าในทางกฎหมายจะเปิดช่องให้สามารถกระทำได้ และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้บรรจุตัวยาที่ใช้ยุติการตั้งครรภ์ให้เป็นสิทธิประโยชน์ที่หญิงตั้งครรภ์สามารถเข้ารับบริการที่ปลอดภัยจากสถานบริการสุขภาพได้แล้วตั้งแต่ปี 2561  แต่ในทางปฏิบัตินั้นหญิงที่เข้าข่ายขอรับบริการก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่ายนัก เนื่องจากยังไม่มีกระบวนการขั้นตอนมารองรับอย่างเป็นกิจลักษณะ ประกอบกับความเชื่อ ทัศนคติพื้นฐานของสังคมไทยที่มองหญิงผู้ขอยุติการตั้งครรภ์ในเชิงลบทำให้ หญิงตั้งครรภ์หลายรายเลือกทำแท้งเถื่อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกายของหญิงเอง

อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับนี้ถูกบัญญัติขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 และไม่เคยมีการแก้ไขเลยจนกระทั่ง ปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่กำหนดความผิดแก่หญิงทำให้ตนแท้งหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้งเป็นความผิดอาญานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญมีข้อเสนอแนะว่า สมควรปรับปรุงกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 

ภายหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรีได้ออกมารับลูกด้วยการเสนอรร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ก็ได้เสนอร่างร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับพรรคก้าวไกล เข้าสู่การพิจารณาด้วย โดยทั้งสองร่างมีความแตกต่างกันทั้งในรายละเอียด ข้อยกเว้น  กำหนดโทษ และอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้ ทั้งนี้ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าสมควรพิจารณาแก้ไขกฎหมายทั้งสองมาตรานี้

บทสรุปและก้าวต่อไปที่ยังต้องจับตา

ภายหลังจากการอภิปรายพิจารณาร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305
ตลอด 6 ชั่วโมง สมาชิกสภาแทนราษฎรมีความเห็นต่างกันในรายละเอียด โดยเฉพาะ เพดานอายุตั้งครรภ์ที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้  เนื่องจากในทางการแพทย์ยังไม่มีข้อสรุปว่าเพดานอายุครรภ์เท่าใดที่ยังสามารถทำแท้งได้สมบูรณ์ (ทำแท้งสำเร็จ) โดยคำนึงถึงสองปัจจัยหลัก คือ ความปลอดภัยของหญิง และเป็นช่วงเวลาที่ทารกยังเจริญวัยไม่เต็มที่  สุดท้ายสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติ ดังนี้

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิง
(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายภาพหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
(3) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับเพศ
(4) หญิงมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
(5) ให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกินสิบสองสัปดาห์ แต่ไม่เกินยี่สิบสัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ต้องและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นก่อน 

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 305 แก้ไขตามมติของสภาผู้แทนราษฎร เพิ่มเงื่อนไขที่หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้จาก 2 กรณี เป็น 5 กรณี

ขั้นตอนต่อไป ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา (สว.) ก่อนที่จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศบังคับใช้ จึงต้องจับตากันต่อไปว่าที่สุดแล้ว รายละเอียดเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ของหญิงที่ท้องไม่พร้อมนั้นจะเป็นอย่างไร 

ท้ายที่สุดบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ยังสะท้อนถึงประสิทธิผลของกระบวนการแสดงความเห็นอย่างมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ดังเห็นจากการอภิปรายระหว่างการพิจารณาผู้แทนราษฎร คณะกรรมมาธิการ ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่เข้ามาชี้แจงนั้น ต่างมีข้อเสนอ แนวคิดต่างกันออกไป แต่กระบวนการทั้งหมดก็ได้นำเอาข้อเท็จจริง เหตุผลจากทุกฝ่ายขึ้นมานำเสนอ ถกเถียง หาแนวทางยุติที่ทุกฝ่ายสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยผลประโยชน์ของมนุษย์เป็นที่ตั้ง  การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในประเด็นยุติการตั้งครรภ์ของหญิงที่ท้องไม่พร้อมนี้ อาจเป็นนัยยะที่เริ่มส่งสัญญาณถึงความพยายามก้าวข้ามความเชื่อ กรอบศีลธรรม ศาสนาที่อาจมีแนวทางต่างกันไปบ้าง แต่ท้ายที่สุด การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเดินต่อไปได้ด้วยการหันมามองคุณค่าของมนุษย์ด้วยกันอย่างหนักแน่น และยึดถือเป็นหลักการสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรกเพื่อการพัฒนาที่เป็นสากล 

อ้างอิง
https://ilaw.or.th/node/5557
https://ilaw.or.th/node/5803
https://reproductiverights.org/worldabortionlaws

Author

  • Editor | คนทำงานข้ามสายที่ชอบมองภาพใหญ่และอยากเห็นงานพัฒนามองทุกศาสตร์อย่างเชื่อมโยง

Exit mobile version