SDG Updates | “Good Health and Well-being: เมื่อนิยามของสุขภาพดี’ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ร่างกายแข็งแรง”

“Good health and Well-being” ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable  Development Goals: SDGs) ที่สหประชาชาติร่วมกันกำหนดขึ้นเป็นวาระการพัฒนาระดับโลกที่ต้องบรรลุให้ได้ภายในปี 2030 ซึ่งประเด็นนี้จัดอยู่ในเป้าหมายที่ 3 ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยโดยสถาบันต่าง ๆ แตกต่างกันไป เช่น“ชีวิตที่มีสุขภาพดีและสุขภาวะของทุกคนในทุกช่วงวัย” หรือ “สร้างหลักประกันการมีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย

ก่อนจะไปถึงการบรรลุเป้าหมาย ความท้าทายสำคัญอาจเริ่มต้นจากการทำให้คนทั้งประเทศเข้าใจเสียก่อนว่า “สุขภาพดี” และ “สุขภาวะ” แท้ที่จริงเป็นอย่างไร? เพราะสุขภาพดีไม่ได้จำกัดแค่การไม่เจ็บป่วย การมีบุคลากรทางการแพทย์เก่ง ๆ มีโรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือมีสวัสดิการรักษาฟรี อย่างที่สังคมส่วนใหญ่เข้าใจ SDG Updates ฉบับนี้พูดคุยกับ ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ จากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) คน(วง)ในวงการนโยบายและระบบสาธารณสุขที่จะมาช่วยขยายความคำสั้น ๆ ที่อยากให้คนไทยเข้าใจและหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น


01 ไม่มีนิยามที่ Universal ของ ‘สุขภาพ’

ดร.ภญ.อรทัย บอกให้เรารู้ว่าความหมายของคำว่า ‘สุขภาพ’ เริ่มมีการนิยามมาตั้งแต่พ.ศ. 2489 ในธรรมนูญสุขภาพขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ทำงานเกี่ยวกับระบบสุขภาพโลก โดยนิยามว่า “สภาวะความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางกาย จิต และสังคม และไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องของการปราศจากโรคและความพิการ (Health is a state of complete physical, mental and social well-being and not merely the absence of the disease and infirmity)” ซึ่งถือว่ามีความครอบคลุมมิติสำคัญของชีวิตมนุษย์ทั้งเรื่อง ร่างกาย จิตใจ และสังคม

สำหรับประเทศไทยมองนิยามกว้างไปกว่านั้น โดยรวมเอามิติทางด้าน ‘ปัญญา’ เข้ามาเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ดังปรากฎในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่นิยาม ‘สุขภาพ’ ว่า ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล”

การเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความของ ‘สุขภาพ’ เป็นกระบวนการที่มีวิวัฒนาการมายาวนาน ขึ้นกับกรอบแนวคิดและกระบวนทัศน์ที่แตกต่างกันออกไป ไม่นับรวมถึงความหลากหลายจากการแปลภาษาอังกฤษจากต้นฉบับเป็นภาษาไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึง ‘สุขภาพ’ สังคมส่วนใหญ่มักคิดถึงเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ถูกวินิจฉัยโดยหมอ เจ็บป่วยก็ต้องกินยาหรือไปหาหมอ ไปโรงพยายาล ซึ่งเป็นไปตามกระบวนทัศน์การแพทย์แบบตะวันตกสมัยใหม่ (Biomedicine) ที่มีอิทธิพลต่อการสร้างระบบสุขภาพสมัยใหม่ของประเทศไทย ที่สนใจเฉพาะมิติการเจ็บป่วยทางกายและโรคทางจิต


02 อยากเข้าใจ ‘Good Health’ ต้องรู้จัก ‘Well-being’

‘Well-being’ ไม่มีคำนิยามที่เป็นสากล เป็นคำที่มีความหมายเชิงบวกของการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม ไม่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยโรคโดยหมอ ไม่ใช่คำทางการแพทย์ทางสาธารณสุขแต่เป็นเรื่องของสังคม อาจเข้าใจกันและเรียกอีกนัยหนึ่งคือ ความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามปฏิรูประบบสุขภาพของไทย ที่มีการใช้คำว่า ‘สุขภาวะ’ สื่อสารแทนคำว่าสุขภาพดีมากขึ้น คำ ๆ นี้ช่วยทำให้สังคมเข้าใจสุขภาพในความหมายกว้างขวางขึ้น ว่าสุขภาพดีต้องพิจารณาเชื่อมโยงสุขภาพกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ไม่จำกัดเฉพาะเฉพาะเรื่องสุขภาพทางกายหรือไม่เจ็บป่วย นอกจากนี้ อาจารย์หมอประเวศ วสี ได้ขยายอธิบายความลึกซึ้งและซับซ้อนของ สุขภาวะ’ ว่าใกล้กับ ‘ความเป็นอิสระหรือหลุดพ้นจากความบีบคั้นต่าง ๆ’

(1) สุขภาวะทางกาย (Physical Wellbeing) เช่น  การมีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง คล่องแคล่ว มีกำลัง ไม่เป็นโรค ไม่พิการ
(2) สุขภาวะทางจิต (Mental Wellbeing)  เช่น การไม่เครียด  การไม่วิตกกังวล การมีความพึงพอใจในชีวิต
(3) ทางสังคม (Social Wellbeing) เช่น  การอยู่ร่วมกันด้วยดี มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้าง มีครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมมีความยุติธรรม มีความเสมอภาค มีภารดรภาพ มีสันติภาพ เข้าถึงสวัสดิการ ระบบบริการสาธารณะที่ดี
(4) สุขภาวะทางปัญญา (Intellectual well-being) เข่น การมีทักษะชีวิต การเรียนรู้ต่อเนื่อง โลกทรรศน์ที่ถูกต้อง โดยท่านยังได้เสนอว่า ควรให้ความสำคัญเรื่อง สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual well-being) ด้วย เช่น การรู้ผิดชอบชั่วดี การไม่ยึดถือตัวตนอัตตา การเข้าใจและเท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ซึ่งท่านมิตินี้ทำให้มีการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

จะเห็นได้ว่าการมีสุขภาวะนั้นซับซ้อน มีความลึกซึ้งประณีต และมีความเป็นนามธรรมสูง แม้ในต่างประเทศได้มีการพยายามพัฒนาเครื่องมือเพื่อสถานะของสุขภาวะของบุคคลขึ้น  มีการพัฒนาตัวชี้วัดเพื่อวัดคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีส่วนบุคคล มาตรวัดเหล่านี้ยังวัดได้แค่องค์ประกอบบางส่วน คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะทำให้สังคมกว้างเข้าใจว่าสุขภาพคือสุขภาวะ และรัฐมีการสร้างระบบและพัฒนานโยบายที่เอื้อต่อสุขภาวะของผู้คนในสังคม


03 เราจำเป็นต้องเข้าใจนิยามเหล่านี้ด้วยหรือ?

“สำคัญมาก” ดร.ภญ.อรทัย กล่าวย้ำอย่างหนักแน่นว่า การบรรลุเป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาพดี สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันออกแบบและดำเนินการ ไม่ใช่เฉพาะหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข หมอ พยายาล บุคคลากรทางการแพทย์เท่านั้น เพราะสุขภาพมนุษย์จะดีขึ้นหรือแย่ลงนั้นเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมที่เขาเกิดและเติบโตมา รวมถึงสภาพการทำงานและดำรงชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นผลจากระบบต่าง ๆ ของสังคมที่เข้าไปมีส่วนกำหนดสภาพแวดล้อมเหล่านั้น หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social determinants of health)’ สุขภาพไม่ดี การพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น การเข้าไม่ถึงอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารดีและปลอดภัย และการเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ อาจเป็นผลมาความยากจน การไม่ได้เรียนหนังสือ การว่างงาน หรือพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงสังคมและเศรษฐกิจหรืออาจเป็นผลจากความเหลี่อมล้ำของนโยบายและระบบ

ดังนั้น การพัฒนาสุขภาพประชาชนด้วยพิจารณาปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพด้วย ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา ตั้งแต่ครอบครัว บ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน ชุมชน และ ประเทศ การพัฒนานโยบายและระบบต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและทั่วถึง โดยเฉพาะนโยบายประเภทการกระจายผลประโยชน์และทรัพยากร

บทบาทของโรงพยาบาลนั้นแทบจะเป็นปลายทางของการเจ็บป่วย โรคและความเจ็บป่วยหลายอาการสามารถป้องกันได้ และต้องป้องกันก่อนป่วยที่นอกโรงพยายาล เช่น โรคไม่ติดต่อ NCDs ซึ่งเป็นหน้าที่ของตัวบุคคลเองในการลดพฤติกรรมเสี่ยง หน้าที่ของรัฐที่จะจำกัดควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น เหล้า บุหรี่ อาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และป้องกันการเข้าถึงปัจจัยเสี่ยง การตลอดจน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของประชาชน โดยต้องใช้ทั้งมาตรการทางกฎหมายและมาตรการสังคมร่วมกันและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและทุกระดับ


04 จะทำอย่างไรให้สังคมไทยก้าวไปถึง “Good health Well-being”

ระบบสุขภาพไทยได้รับการยกย่องว่ามีประสิทธิภาพมากแห่งหนึ่งของโลก เรามีนโยบายสาธารณสุขที่ดีและโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพที่ดีและมีความพร้อมกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่รัฐจัดสวัสดิการให้บริการรักษาและป้องกันแก่ประชาชนทุกคน ซึ่งเป็นมาตรการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการบริการสุขภาพได้เป็นอย่างดี ทำให้ประชนไทยหมดห่วงเรื่องค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นความท้าทายหลายอย่างที่ยังต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่องและเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะในบริบทที่อนาคตจะมีโรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมและเป็นพิษ การมีสุขภาพแย่จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกที่ตกต่ำ ความเหลื่อมล้ำอันเป็นมาจากการการเมืองและพัฒนาประเทศในช่วงการเปลี่ยนแปลงที่เร็วของ ยุคดิจิทัล การก้าวเข้าสังคมสูงวัย

ประเทศไทยอาจต้องเร่งมือด้านงานลดความเหลื่อมล้ำ การเตรียมพร้อมและปรับตัวของระบบสุขภาพต่อความท้าทายใหม่ ๆ และโดยเฉพาะภาระกิจด้านสร้างเสริมสุขภาพ (Health promotion) หรือ แนวคิดที่เราเคยได้ยินว่า สร้าง นำ ซ่อม ที่ยกระดับจากการรักษารายคนไปสู่การป้องกันและควบคุมโรคในระดับนโยบาย เราต้องลดจำนวน ผู้ป่วยที่จะไปรักษาที่โรงพยาบาลให้ได้ ซึ่งการมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้ง 17 เป้าหมาย ที่ครอบคลุมเรื่องสุขภาวะด้วยนั้น ถือเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานสุขภาพได้แสดงความสามารถเชิงรุกในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ร่วมกันทำงานกับกระทรวงอื่น ๆ ชุมชน เพื่อป้องป้องและสร้างเสริมศักยภาพประชาชนในการดูแลสุขภาพตัวเองโดยไม่ต้องมาพึ่งโรงพยาบาลมากขึ้น หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า

เพื่อบรรลุเป้าหมายสุขภาพดีต้องมองว่า ‘ทุกเป้าหมาย SDG มีเรื่องสุขภาวะ (Health in all SDGs)’

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Pimnara Intaprasert

    Editor | คนทำงานข้ามสายที่ชอบมองภาพใหญ่และอยากเห็นงานพัฒนามองทุกศาสตร์อย่างเชื่อมโยง