เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ
สถานการณ์โรคระบาดส่งผลกระทบไปทุกแวดวง ที่เด่นชัดอย่างที่มีต่อการจ้างงานและโอกาสการมีงานทำนั้นได้ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการที่อาจไม่มีรายได้เพียงพอเพื่อยังชีพ และเมื่อเผชิญกับราคาอาหารทั่วโลกโดยเฉพาะข้อมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่แพงขึ้นมากที่สุดมากกว่า 6 ปีที่ผ่านมา (ตามรายงานของ FAO Food Price Index) และหากราคาอาหารเกินกว่า 63% ของรายได้ (ตามข้อมูลของ UNICEF South Asia) ยิ่งทำให้สถานการณ์ของครัวเรือนที่มีความยากจนอยู่แล้ว รุนแรงขึ้น จนลงทางรายได้และอาจ “ไม่มีกำลังซื้อ” อาหารที่ดีต่อสุขภาพหรือมีคุณค่าทางโภชนาการ ซ้อนทับกับประเด็นทุพโภชนาการในปัจจุบันที่การเข้าถึงอาหารในราคาที่ย่อมเยากลับกลายเป็นอาหารจำพวกที่ผ่านกระบวนการมามาก (highly-processed) มักมีน้ำตาลและไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ขาดวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต ทำให้สุ่มเสี่ยงกับการเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 2 การเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ มีโภชนาการ มีสารอาหารโดยเฉพาะต่อมารดาและเด็ก และเป้าหมายที่ 3 การมีสุขภาพที่ดี
รายงาน “Asia and the Pacific Regional Overview of Food Security and Nutrition 2020” เป็นการเขียนร่วมกันขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) องค์การกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UN Children’s Fund: UNICEF) โครงการอาหารโลก (World Food Programme: WFP) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เผยแพร่เดือนมกราคม 2564 ทำการศึกษาและสำรวจความก้าวหน้าของสถานการณ์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะเป้าหมายที่ 2 และเป้าหมายของการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) ในปี 2030 ว่าด้วยเรื่องโภชนาการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2562 มีประชากรกว่า 350 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่อยู่ในภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปึ ประมาณ 74.5 ล้านคนที่มีส่วนสูงไม่ถึงเกณฑ์ตามอายุ และ 31.5 ล้านคนมีน้ำหนักตัวที่น้อยเกินไปไม่สอดคล้องกับส่วนสูง ขณะที่เมื่อประเมินผลกระทบของโรคระบาด พบว่าในบางฉากทัศน์ อาจมีประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกว่า 24 ล้านคน สุ่มเสี่ยงที่จะไม่มีความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการอย่างรุนแรง โดยการบริโภคให้เพียงพอกับความต้องการพลังงานในแต่ละวันไม่ใช่หัวใจสำคัญเพียงประการเดียวเท่านั้น เพราะยังต้องคำนึงถึงการได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจากความหลากหลายของอาหาร (dietary diversity) ด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งต่อสุขภาพของมารดาและเด็ก กล่าวคือ ในช่วง 1,000 วันแรกตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงบุตรมีอายุย่างเข้า 2 ปี (โดยเฉพาะเด็กเล็กที่เริ่มบริโภคอาหารตั้งแต่มีอายุ 6 เดือน) การได้รับสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเพียงพอในช่วงเวลาดังกล่าวสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโต
รายงานฉบับนี้ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลลงทุนกับโภชนาการและความปลอดภัยของอาหาร ให้มี “อาหารที่ดีต่อสุขภาพ” สำหรับทุกคน ซึ่งครอบคลุมกลุ่มคนที่ยากจนและเปราะบาง พร้อมให้ความสำคัญกับมารดาและเด็ก ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอแนะให้มีการดำเนินการที่บูรณาการระหว่างประเด็นอาหาร น้ำและสุขาภิบาล สุขภาพ การคุ้มครองทางสังคม และระบบการศึกษา พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของบทบาทภาคเอกชนที่เกี่ยวกับระบบอาหารและห่วงโซ่อุปทานของอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการสำหรับทุกคนอย่างยั่งยืน
อ่านรายงานฉบับเต็ม:
แหล่งอ้างอิง:
https://news.un.org/en/story/2021/01/1082542
https://www.weforum.org/agenda/2021/01/global-food-prices-rising-2020/?fbclid=IwAR30WWGFIakmPeDsgXO8UK3IpOScyaBYa80BZsc698ZsQHlOnKQNSInm7Vs
#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG2 #SDG3