เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ
การศึกษาเป็นสิทธิพื้นฐานและบริการสาธารณะสำหรับทุกคน ที่นำมาซึ่งรากฐานของโอกาสต่าง ๆ ในชีวิต การขยับขยายทางสังคม การหลุดพ้นออกไปจากความยากจน จนถึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในโลก การเกิดขึ้นของโรคระบาดอาจทำให้หลายอย่างหยุดชะงักและกระทบกับวัยเรียนของคนรุ่นนี้ ทว่าขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่ประชาคมโลกสามารถเรียนรู้ ปรับวิกฤตให้เป็นโอกาสเพื่อปกป้องอนาคตของคนรุ่นนี้
ก่อนหน้าที่จะมีโรคระบาด การผลักดันประเด็นการศึกษาเป็นเรื่อง “การเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา” อันหมายถึงการเพิ่มอัตราการเข้าเรียนที่โรงเรียนในทุกระดับชั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการศึกษาเรื้อรังที่มีมานานมากกว่าสิบปีอย่างที่นักเรียนวัยเด็กและวัยรุ่นมากกว่า 258 ล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรโลก ยังไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและมากกว่าครึ่งมีอายุประมาณ 10 ขวบ ซึ่งอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง และมีความรู้พื้นฐานด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ยังไม่ถึงขั้นต่ำของมาตรฐานที่กำหนดไว้
ทว่าหลังจากเกิดโรคระบาด ความท้าทายที่ซ้อนทับขึ้นใหม่คือประเด็น “การปิดโรงเรียน” ซึ่งส่งผลกระทบกับเด็กนักเรียนกว่าร้อยละ 91 ทั่วโลก ไม่เพียงแต่เป็นประเด็นทางการศึกษาเท่านั้น ต้องไม่ลืมว่ายังคงมีเด็กจำนวนมากกว่า 369 ล้านคนที่พึ่งพาอาหารที่โรงเรียน เมื่อมีการปิดโรงเรียนก็ทำให้ต้องไปหา “ที่พึ่งพิงทางโภชนาการ” ใหม่ นอกจากนี้ ข้อมูลขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ระบุว่า ยังมีประเด็นกลไกการบริหารจัดการเงินทุนเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียมและพร้อมตอบสนองต่อสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอ และจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นานาประเทศควรเร่งให้มีการเพิ่มแผนงบประมาณการฟื้นฟูที่เกี่ยวกับการศึกษาที่เท่าเทียมด้วย
ขณะที่ ประเด็นสำคัญและเป็นผลพวงต่อเนื่องจากการปิดโรงเรียน คือ “การศึกษาระยะไกล” ที่ทั้งครูผู้สอนและนักเรียนต้องปรับตัว สอนและเรียนรู้จากที่บ้าน แน่นอนว่ามีเรื่อง “การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต” ที่ทำให้เกิดภาวะ “digital divide” แบ่งแยกเด็กที่เรียนจากบ้านได้และที่ไม่สามารถทำได้ เพราะติดขัดเรื่องการมี/การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต Volkan Bozkir ประธานที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 75 กล่าวว่า “เราต้องลงมือกันอย่างเร่งด่วนให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการแห่งทศวรรษที่จะลงทุนกับระบบการศึกษา อันหมายรวมถึงการพัฒนาระบบที่ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม นั่นแหละ ถึงจะเป็นการฟื้นฟูในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้” และ “เราต้องสร้างระบบการศึกษาที่มีภูมิคุ้มกันและครอบคลุมสำหรับนักเรียนทุกคน ทั้งเด็กพิการและเด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง รวมไปถึงเด็กนักเรียนหญิงทุกคน ให้ทุกคนสามารถกลับมาเรียนที่โรงเรียนได้”
ท้ายสุดนี้ เนื่องในวันการศึกษาโลก (International Education Day) เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา องค์การ UNESCO จึงจัดกิจกรรมในวันนี้ที่ 25 มกราคม 2564 โดยจะพูดถึง “การฟื้นฟูและเพิ่มพลังใหม่ให้กับการศึกษาของคนรุ่นโควิด-19” (Recover and Revitalize Education for the COVID-19 Generation) ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับระบบการศึกษา นวัตกรรม และเงินทุน ให้การศึกษาเป็นหัวใจหลักของการฟื้นฟูไปสู่สังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามที่ António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติกล่าวว่า “เราต้องเดินไปข้างหน้า จินตนาการถึงการศึกษาเสียใหม่ ได้แก่ การฝึกฝนครู การเชื่อมการแบ่งแยกทางเทคโนโลยีดิจิทัล และคิดหลักสูตรใหม่ ที่จะทำให้ผู้เรียนรู้ทุกคนมีทักษะและความรู้ พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็วนี้ และเราต้องมุ่งมั่นที่จะสร้างการศึกษาสำหรับทุกคน”
ผู้ที่สนใจ สามารถติดตาม “International Day of Education” วันนี้ (25 มกราคม 2564) 20.00 น. เวลาไทย ได้ที่ Livestream ภาษาอังกฤษ
แหล่งอ้างอิง: https://news.un.org/en/story/2021/01/1082792
#SDGWatch #IHPP #SDG4
Last Updated on มกราคม 12, 2022