เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ
ขณะที่ประเด็นโควิด-19 เป็นที่สนใจของโลกและมีความคืบหน้าในเรื่องของการผลิต การแจกจ่ายและเริ่มฉีดวัคซีนเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2562 นั้น ประเด็นความคืบหน้าของเชื้อไวรัสอีโบลาที่เกิดมาก่อนยาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2519 และยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน (แม้จะจำกัดพื้นที่ที่แถบแอฟริกาตะวันตก) ยังอยู่ในกระแสความพยายามทางการแพทย์และการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคนี้เช่นกัน โดยทั้งสองประเด็นต่างเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยเรื่องสุขภาพและสุขภาวะที่ดี รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 17 ในเรื่องของความช่วยเหลือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เชื้อไวรัสอีโบลามีช่วงที่ระบาดขนานใหญ่ปี พ.ศ. 2557 – 2559 ในกลุ่มประเทศแอฟริกาตะวันตก อาทิ ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และกินี และระบาดอีกครั้งปี พ.ศ 2561 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo) จนทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับเหตุการณ์เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) มีลักษณะของโรคที่สามารถติดต่อจากคนสู่คน จากการสัมผัสสารคัดหลั่งและสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ อาทิ ราวจับประตูและลูกบิดประตู รวมถึงการจัดการศพและพิธีศพ อาการทั่วไปเหมือนไข้เลือดออกหรือมีอาการที่คล้ายกับการอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ โดยการแสดงอาการติดเชื้อมีตั้งแต่ 2 – 21 วันหลังสัมผัสเชื้อและมีอัตราเสียชีวิตที่สูงถึง 25% – 90% ทั้งนี้ ปัจจุบัน เชื้อไวรัสอีโบลามี 5 สายพันธุ์ โดยเชื้อที่ทำให้มีอัตราเสียชีวิตสูงคือ อีโบลา-ซาร์อี อีโบลา-ซูดาน อีโบลา-Bundibugyo
เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ความคืบหน้าสำคัญในประเด็นของการแพร่ระบาดของ “เชื้อไวรัสอีโบลา” คือ มีการจัดตั้งคลังเก็บวัคซีนป้องกันไวรัสอีโบลาสำหรับการใช้งานได้ทั่วโลก เสมือนเป็น “การเตรียมการ” เพื่อนำส่งให้กับคนที่จำเป็นต้องใช้มันได้อย่างรวดเร็วที่สุดได้ทันที พร้อมกับเป็นการควบคุมโรคระบาดจากเชื้อไวรัสนี้ในอนาคต โดยเป็นความร่วมมือกันของบรรดาหน่วยงานของสหประชาชาติและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่าง WHO องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies: IFRC) และองค์กรแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières: MSF) ภายใต้ “International Coordinating Group on Vaccine Provision (ICG)” ซึ่งคลังเก็บวัคซีนป้องกันไวรัสอีโบลาได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสมาพันธ์วัคซีนระหว่างประเทศ Gavi และปัจจุบันคลังเก็บวัคซีนดังกล่าวอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
วัคซีนซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จทางการแพทย์ ความพยายามและความร่วมมือร่วมกันของหลายภาคส่วนที่จะรักษาชีวิตผู้คน มีเป้าหมายเพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีวัคซีนที่ทุกกลุ่มประชากรซึ่งอยู่ในความเสี่ยงสามารถเข้าถึงได้อย่างทันทีในช่วงที่มีการแพร่ระบาด โดยปัจจุบันเป็นช่วงเริ่มต้นจึงมีวัคซีนเพียง 6,890 โดส ก่อนจะพยายามเพิ่มจำนวนมากขึ้นในเดือนต่อ ๆ ไป โดยคาดว่าจะมีจนครบ 500,000 โดสซึ่งเป็นจำนวนที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขแนะนำ
หน่วยงานของสหประชาชาติระบุว่าวัคซีนอีโบลาแบบฉีดครั้งเดียว (rVSV∆G-ZEBOV-GP, live) ผลิตโดย Merck, Sharp & Dohme (MSD) Corp. และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่หน่วยงานด้านยาของยุโรปมีวัคซีนอีโบลาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรองเบื้องต้น (prequalification) จาก WHO และได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) รวมถึงใน 8 ประเทศในแอฟริกา โดยวัคซีนตัวนี้ใช้เพื่อป้องกันไวรัสอีโบลาสายพันธ์ อีโบลา-ซาร์อี ที่แพร่ระบาดมากที่สุด
อย่างไรก็ดี ก่อนที่วัคซีนล่าสุดจะได้รับการรับรองจาก WHO นั้น ได้มีการจำหน่ายจ่ายแจกไปให้ชาวกินีกว่า 350,000 คน ในช่วงปี พ.ศ.2561 – 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกภายใต้มาตรการ “compassionate use” ไปก่อนแล้ว กล่าวคือ ต้องรีบผลิตขึ้นมาเพื่อรักษาและบรรเทาอาการของโรคที่รุนแรงไปพลางก่อนแม้ว่าจะยังไม่มั่นใจว่าจะมี “ประสิทธิภาพ” มากน้อยเพียงใด หรือมี “ผลข้างเคียง” หรือไม่อย่างไร
แหล่งอ้างอิง: https://news.un.org/en/story/2021/01/1081862
#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3 #SDG17