เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ
เครือข่ายกำจัดสารมลพิษนานาชาติ (International Pollutants Elimination Network: IPEN) และสมาคมที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine Society) เผยข้อมูลจากการศึกษาในรายงาน “Plastic, EDCs & Health: A Guide for Public Interest Organizations and Policy-makers on Endocrine Disrupting Chemicals & Plastics” ว่าสารเคมีกว่า 1,000 ชนิดจากกระบวนการผลิตในปัจจุบัน เป็น “สารรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ” (Endocrine-Disrupting Chemicals: EDCs) โดยรายงานว่า ในพลาสติกมีสารเคมีอันตราย 144 ชนิดที่มีผลกระทบต่อระบบต่อมไร้ท่อ พร้อมอธิบายรายละเอียดของสารเคมีอันตรายอยู่ 7 ประเภท
โดยทั่วไปแล้ว พวกพลาสติกที่มีสารเคมี EDCs มักพบได้ในงานก่อสร้าง สินค้าอาหาร บรรจุภัณฑ์ ของเล่นเด็ก เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน รถยนต์ สิ่งทอ เครื่องสำอาง เป็นต้น ขณะที่สารเคมีอันตรายที่รายงานได้ลงรายละเอียดมานั้น โดยสรุปพบได้ในที่ใส่อาหารและเครื่องดื่มที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขวดน้ำที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ วัสดุที่ใช้ทำกระป๋องบรรจุอาหาร ท่อน้ำพลาสติก ผงซักฟอก เสื้อผ้าที่กันน้ำและคราบสกปรก สีต่าง ๆ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าพลาสติกเหล่านั้น เป็นพลาสติกที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งย่อมมีผลรบกวนระบบต่อมไร้ท่อ อาจรบกวนระบบฮอร์โมนของร่างกาย ทำให้เกิดมะเร็ง เบาหวาน ความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ ความเสียหายทางระบบประสาทในทารกในครรภ์และเด็ก และแม้จะมองว่าพลาสติกที่ย่อยสลายได้ (Biodegradable plastics) มีความ “รักโลก” มากกว่าพลาสติกแบบเดิม ๆ แต่ก็ไม่พ้นว่ายังคงมีสารเคมีผสม/เจือปนอยู่ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้ไม่ต่างกัน
การผลิตพลาสติกจะมีมากขึ้นประมาณร้อยละ 30-36 ในอีก 6 ปีข้างหน้า ยิ่งทำให้เรามีโอกาสได้รับสัมผัสกับสินค้าที่มีพลาสติกตลอดทั้งวงจรชีวิตของตัวพลาสติกนั้น หมายความว่า สิ่งนี้กลายเป็นเรื่องปกติสากลสำหรับทุกคนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกได้ ซึ่งอาจจะเข้าใกล้/มีการใช้สารเคมี EDCs มากยิ่งขึ้น และมีอัตราการเกิดโรคเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อมากขึ้นด้วย
สารเคมี EDCs ในพลาสติกนี้เป็นประเด็นสุขภาพระดับโลก ที่ทางเครือข่ายฯ และสมาคมฯ ผู้จัดทำรายงานนี้มองว่าควรมีการพูดถึงประเด็นการลดและกำจัดสารเคมีดังกล่าวจากพลาสติก และลดออกไปจากกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก ขยะพลาสติก และการเผาพลาสติกด้วย นอกจากนี้ ยังมองว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาควรให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะอาจมีการเคลื่อนย้ายขยะพลาสติกที่มีอันตราย (toxic plastic waste) จากประเทศร่ำรวยไหลทะลักมาสู่ชุมชนในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการให้ความสนใจต่อประเด็นสารเคมีและพลาสติกเพื่อลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตราย เป็นเรื่องที่พูดถึงกันในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและชีวิตที่ดีด้วยเช่นกัน
อ่านรายงานฉบับเต็มที่:
Plastic, EDCs & Health: A Guide for public interest organizations and policy-makers on endocrine disrupting chemicals & plastics
แหล่งอ้างอิง:
#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3
Last Updated on มกราคม 12, 2022