Site icon SDG Move

สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 มกราคม 2564 จะสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร?

เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ

ความพยายามรักษาสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกด้วยการลดอาวุธ ควบคุมอาวุธ และไม่แพร่ขยายอาวุธ โดยเฉพาะอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอย่างอาวุธนิวเคลียร์ แรกเริ่มมีสนธิสัญญาห้ามการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty: NPT) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) และมีรัฐผู้ลงนาม 189 ประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญสามประการ คือ การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (รัฐที่ครอบครองไม่ส่งหรือช่วยประเทศอื่นผลิต/ครอบครอง ส่วนรัฐที่ไม่ได้ครอบครอง ก็จะไม่รับ/แสวงหา/ขอความช่วยเหลือเพื่อการผลิต) การยุติการสะสมอาวุธ/ลดอาวุธ/ปลดอาวุธ และสุดท้ายให้ใช้พลังงานนิวเคลียร์เฉพาะวัตถุประสงค์ในทางสันติเท่านั้น

ความพยายามเกี่ยวกับประเด็นอาวุธนิวเคลียร์ยังคงดำเนินต่อไปอย่างแข็งขันมากขึ้น เป็นเวลา 3 ปีหลังจากที่สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (Treaty on the Prohibition of Nuclear Weapons: TPNW) มีขึ้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ 2560 (ค.ศ. 2017) และกำลังจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564 โดยใจความหลักของห้วงเวลาที่สำคัญนี้ คือการที่ทุกประเทศ (รัฐภาคี) มีข้อผูกมัดทางกฎหมายให้ต้องทำลายอาวุธนิวเคลียร์ตามกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 3 ประเทศแรกที่ลงนามให้สัตยาบันในวันแรกของสนธิสัญญา ร่วมกับนครรัฐวาติกันและกายอานา และปัจจุบันมีประเทศที่ให้สัตยาบันแล้ว 51 ประเทศ โดยมีประเทศเบนินเป็นประเทศภาคีล่าสุด

โครงการนานาชาติเพื่อการยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ (International Campaign to Abolish Nuclear Weapons: ICAN) ได้จัดทำเอกสารแสดงความเชื่อมโยงสนธิสัญญา TPNW เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาว่าการห้ามและพยายามกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดนั้น จะสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร แปลสรุปสาระสำคัญดังนี้

#SDG2

“ความหิวโหย ความมั่นคงทางอาหาร โภชนาการ และการเกษตร” สงครามนิวเคลียร์ที่จำกัดสามารถทำให้คนจำนวนกว่าสองพันล้านคนตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะอดอยากอาหาร การยิงอาวุธสามารถพ่นเขม่าควันปิดกั้นความร้อนและแสงแดด ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตทางการเกษตร ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและน้ำจะยิ่งได้รับผลกระทบ นอกไปจากนี้ ความอดอยากอาหารจะนำมาซึ่งการพลัดถิ่นขนานใหญ่และเกิดค่ายผู้ลี้ภัยไปทั่วทั้งทวีปแอฟริกา

#SDG3

“ชีวิตที่มีคุณภาพและสุขภาวะที่ดี” การระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงทันทีต่อสุขภาพ อย่างการเผาไหม้และทำให้หูหนวก ทุกสถานที่ให้บริการทางสาธารณสุขอาจถูกทำลายหรือไม่สามารถทำงานได้ปกติ เกิดการแพร่ระบาดของโรค เช่น โรคที่เกี่ยวกับรังสี อหิวาตกโรค และโรคที่เกี่ยวกับผิวหนัง เป็นต้น และอาจจะแพร่กระจายไปทั่วทั้งแอฟริกา

#SDG5

“ความเท่าเทียมระหว่างเพศ และความเข้มแข็งของสตรีและเด็กผู้หญิง” งานวิจัยชี้ว่า รังสีก่อประจุ (Ionizing radiation) จากการจู่โจมด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เป็นอันตรายต่อผู้หญิงและสตรี โดยหากเป็นผู้รอดชีวิตก็อาจจะทรมานจากการเลือกปฏิบัติและความกลัว รู้สึกว่ามีมลทน จากปัญหาที่มีเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์

#SDG6

“มีน้ำใช้ มีการบริหารจัดการน้ำ และสุขาภิบาลสำหรับทุกคน” การศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศในปี 2563 พบว่า สงครามนิวเคลียร์ที่จำกัดสามารถก่อให้เกิดหยาดน้ำฟ้า (precipitation) รุนแรงถึงขนาดที่จีนและอินเดียไม่มีฝนตกเลยเกือบทศวรรษ นอกจากนี้ การปนเปื้อนของกากนิวเคลียร์ตามโรงงานผลิตอาวุธนิวเคลียร์อาจมีผลเสียร้ายแรงกับแหล่งน้ำ และการระเบิดของอาวุธเหล่านี้จะปนเปื้อนน้ำประปา

#SDG10

“ลดความไม่เท่าเทียมทั้งภายในและระหว่างประเทศ” การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์โดยรัฐเพียงน้อยนิด แลกไปกับความปลอดภัยและความมั่นคงของรัฐอื่น ๆ ในโลก เป็นเรื่องที่ไม่เท่าเทียมกัน คนและดินแดนพื้นเมืองได้รับอันตรายมาอย่างต่อเนื่องจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์

#SDG11

“เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่ปลอดภัย มีภูมิคุ้มกัน” ภายหลังจากที่มีเหตุระเบิดนิวเคลียร์ในพื้นที่ที่มีคนอยู่อาศัยนั้น ไม่สามารถมีการตอบสนองเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้อย่างเพียงพอโดยทันที แรงระเบิดสามารถทำลายได้ทั้งเมือง ซึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ได้บอกเราว่า เป้าหมายของการใช้อาวุธนิวเคลียร์คือพื้นที่เมืองและชุมชนมาโดยตลอด

#SDG13

“เร่งรัดดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ” สงครามนิวเคลียร์ที่จำกัดสามารถก่อให้เกิดการก่อกวนทางสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญได้ทั่วโลก รวมไปถึงการสูญเสียโอโซนในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ หากสงครามมีการใช้นิวเคลียร์ที่แพร่ขยายมากขึ้นจะส่งผลให้อุณหภูมิโลกลดดิ่งลงไปทันทีถึง 10 องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถยุติชีวิตของมนุษย์ทุกคนได้

#SDG14

“อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทร” สงครามนิวเคลียร์ที่จำกัดจะลดผลผลิตปฐมภูมิสุทธิ (Net Primary Productivity) ของมหาสมุทร ประมาณร้อยละ 5 ถึง 15 และสามารถทำให้อุณหภูมิในมหาสมุทรโลกลดลงประมาณ 1-3 องศาเซลเซียส

#SDG15

“ปกป้อง ฟื้นฟู และใช้ระบบนิเวศน์บนบกอย่างยั่งยืน” นอกจากผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีที่ยาวนานในเหตุการณ์ฮิโรชิมาและนางาซากิ ยังมีการปนเปื้อนร้ายแรงที่โรงงานผลิตอาวุธนิวเคลียร์และสถานที่ที่ใช้ทดสอบ และสงครามนิวเคลียร์ที่จำกัดจะลดผลผลิตปฐมภูมิสุทธิ (Net Primary Productivity) ของภาคพื้นทวีปประมาณร้อยละ 15 ถึง 30

#SDG16

“สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง” การมีคลังแสงนิวเคลียร์ การให้มันมีความทันสมัยมากขึ้น รวมถึงมีแนวโน้มว่าจะนำไปใช้มากขึ้น ยิ่งเป็นภัยคุกคามที่ชัดเจนต่อสันติภาพ ดังนั้นการมีสนธิสัญญา TPNW จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความยุติธรรม โดยให้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในสถานที่ที่ได้รับอันตรายจากอาวุธนิวเคลียร์และการทดสอบอาวุธ นอกจากนี้ สนธิสัญญาดังกล่าวได้ส่งเสริมให้มีหลักนิติรัฐ โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการลดอาวุธ และให้มีการนำสนธิสัญญาไปบังคับใช้ภายในประเทศรัฐภาคี

แหล่งอ้างอิง:

Facebook Page คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย
https://www.icanw.org/tpnw_and_sdgs

#SDGWatch #IHPP #SDG2 #SDG3 #SDG5 #SDG6 #SDG10 #SDG11 #SDG13 #SDG14 #SDG15 #SDG16

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version