เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ
#มกราคม
1
● “SDG 13 เร่งรัดดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ” ●
วันที่ 14 มกราคม รายงาน Adaptation Gap Report ชวนดูว่าตอนนี้โลกมีความก้าวหน้าในการ “ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ไปถึงไหนแล้ว โดยการปรับตัวฯ (Adaptation) ยังคงเป็นเสาหลักของความตกลงปารีสที่สามารถช่วยประเทศต่าง ๆ ซึ่งเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สามารถรองรับ ปรับและฟื้นตัวจากสถานการณ์ได้ (resilience) หากใครสนใจประเด็นนี้ สามารถติดตามการประชุม Climate Adaptation Summit 2021 ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม หรือหาอ่าน เพิ่มเติม โดยเสิร์ชว่า “UN Environment Assembly Plans for 2021”
นอกจากนี้ ในวันที่ 28 มกราคม เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ António Guterres จะชี้แจงในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติถึงประเด็นที่องค์การให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ในปี 2564 แน่นอนที่สุดว่ามีการให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือไม่มีการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น (carbon neutrality) หรือ กำจัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่เทียบเท่ากับที่ปล่อยออกไป (net-zero emissions) ภายในปี ค.ศ. 2050
2
● “SDG 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและทั่วถึง การจ้างงานเต็มอัตรา
และงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน” ●
ในวันที่ 26 มกราคม รายงานสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Situation and Prospects: WESP report) ชวนดูผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นและระยะยาว โดยถึงแม้ว่าจะมีการใช้มาตรการระยะสั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทว่าระดับความยากจน ความไม่เท่าเทียมและหนี้ การค้าและการลงทุนที่ลดลง และความสามารถในการผลิตที่ตกต่ำ ยังคงเป็นอุปสรรคของความพยายามจะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาดีขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้ที่สนใจสามารถติดตามการประชุมของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ประจำปี 2021 ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ได้ ระหว่างวันที่ 25-29 มกราคม
#กุมภาพันธ์
3
● “SDG 10 ลดความไม่เท่าเทียมทั้งภายในและระหว่างประเทศ” ●
เราต่างรู้ว่าสถานการณ์โรคระบาดทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพกายและจิต แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฎตัวชัดเจนคือความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วงนี้ที่เข้ามาช่วยเชื่อมต่อเราในขณะที่ต้องแยกกันกักตัว ถึงกระนั้น มันก็ได้ “แบ่งแยก” เราด้วย (digital divide) กล่าวคือ ยังคงมีประชากรอยู่จำนวนมากในโลกที่ไม่มีโอกาสที่จะได้เรียน พูดคุยสื่อสาร สั่งซื้อของ ทำงาน และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมสมัยใหม่ที่อะไร ๆ ก็ต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว
ช่วงวันที่ 8-17 กุมภาพันธ์ จะมีการประชุมของคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมของสหประชาชาติ สมัยที่ 59 (59th Session of the Commission for Social Development – CSocD59) โดยมีธีมหลักคือ “การเปลี่ยนผ่านที่มีความเป็นธรรมทางสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน: บทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อการพัฒนาสังคมและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน” พร้อมกันนี้ สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs: UNDESA) จะได้ออกรายงานสังคมโลก (World Social Report) ประจำปีด้วย
#มีนาคม
4
● “SDG 5 บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กผู้หญิง” ●
วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day) และช่วงวันที่ 15-26 มีนาคม จะมีการจัดการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (Commission on the Status of Women: CSW) ในปีนี้จะมุ่งไปที่ความต้องการของสตรีในการเข้าไปมีส่วนร่วมและการตัดสินใจในกิจการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตสาธารณะอย่างเต็มตัวและเต็มที่
ขณะที่องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) วางแผนที่จะจัดการประชุม “Generation Equality Forum” ซึ่งเป็นที่พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนระดับโลกเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ และมุ่งมั่นที่จะผลักดันภายในปี ค.ศ. 2030 โดยสำหรับปีนี้ จะจัดที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม และไปจบที่กรุงปารีสในช่วงเดือนมิถุนายน สำหรับใครที่สนใจสามารถติดตามการรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียมทางเพศได้ โดยเสิร์ชคำว่า Generation Equality: Realizing Women’s Rights for an Equal Future
5
● “SDG 6 สร้างหลักประกันให้มีน้ำใช้ และมีการบริหารจัดการน้ำและสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน” ●
เนื่องจากโลกมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น และมีประเทศที่เร่งพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการการใช้น้ำในปริมาณมาก ประเด็นเรื่องน้ำและที่เกี่ยวกับน้ำจึงยังคงเป็นความท้าทายในยุคสมัยนี้ ทั้งในแง่สุขภาพและโภชนาการ ความเท่าเทียมทางเพศ และเศรษฐกิจ เมื่อผสมโรงเข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องการเข้าถึงน้ำและสุขาภิบาล (sanitation) สำหรับการอุปโภคบริโภคภายในบ้าน
จึงเป็นเหตุให้ ในวันที่ 18 มีนาคมนี้ สมัชชาสหประชาชาติจะมีการจัดการประชุมระดับสูงว่าด้วยน้ำ (High-level Meeting on Water) เพื่อรณรงค์ให้เกิดการดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ตามเป้าหมายและเป้าประสงค์ (targets) การพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยมีการประกาศให้ปี ค.ศ. 2018 – 2028 (พ.ศ. 2561 – 2571) เป็นทศวรรษของการลงมือปฏิบัติอย่างแข็งขันสำหรับนานาประเทศในประเด็น น้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (International Decade for Action on Water for Sustainable Development) หากสนใจเรื่องน้ำและสุขาภิบาลสามารถติดตามต่อได้ที่ unwater.org
แหล่งอ้างอิง: https://www.un.org/sustainabledevelopment/goal-of-the-month/
#SDGWatch #IHPP #SDG5 #SDG6 #SDG8 #SDG10 #SDG13
Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021