Site icon SDG Move

เข้าสู่หมุดหมายใหม่แห่งทศวรรษ: “สมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2564 – 2573” (United Nations Decade of Ocean Science for Sustainable Development (2021 – 2030)

เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ

“The Ocean We Need for the Future We Want”

เข้าสู่หมุดหมายใหม่แห่งทศวรรษ: “สมุทรศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2564 – 2573” (United Nations Decade of Ocean Science for Sustainable Development (2021 – 2030)

เมื่อพูดถึงน้ำ นอกจากปัจจุบันจะเป็นทศวรรษของน้ำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2561 – 2571 (International Decade for Action on Water for Sustainable Development (2018 – 2028) สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 6 ในช่วงเดียวกันนี้ ทิศทางของโลกได้ให้ความสำคัญกับประเด็นทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทรอย่างจริงจัง เดินหน้าเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 14 การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืน

เป็นเวลาร่วม 2 ปี ตั้งแต่ปี 2561 – 2563 ที่บรรดารัฐ ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่ทำงานด้านทะเลในแต่ละภาคส่วน มีการเตรียมการวางแผน หารือทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้ด้านทะเลจากทุกมุมโลก เพื่อให้สร้างองค์ความรู้และกรอบการทำงานร่วมกันที่ชัดเจน โดยใช้ “สมุทรศาสตร์” เป็นหมุดหมายให้สามารถเริ่มต้นดำเนินการอย่างจริงจังสำหรับระยะ 10 ปีนี้ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไปจนถึง 2573

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นชัดเจนคืออะไร? ความสำคัญอยู่ที่ “การสร้างระบบใหม่” กล่าวคือ นอกจากจะสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาและมีการทำงานวิจัยเกี่ยวกับทะเล อาทิ ความรู้เรื่องโลกใต้ทะเล เพื่อนำมาสู่ข้อค้นพบ ข้อเท็จจริงใหม่ ๆ หรือสร้างแผนผังองค์ความรู้จากฝากฝั่งมหาสมุทรต่าง ๆ ให้เกิดเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน ยังหมายถึงการดึงเอาองค์ความรู้ ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เป็นวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับทะเลที่มีอยู่แล้ว นำมาใช้บูรณาการเข้ากับกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างนโยบายและทางเลือกสำหรับการตัดสินใจ ที่มีพื้นฐานมาจากงานวิจัยและข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น ยุทธศาสตร์ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) การบรรเทาความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Mitigation) การประเมินผลกระทบและผลที่ตามมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของทะเล รวมไปถึงการชี้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษทางทะเล ความเป็นกรดในทะเล ประเด็นเกี่ยวกับสปีชีส์ของสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลและที่อยู่อาศัย ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง เป็นต้น การชี้แจงข้อมูลข้างต้นจะช่วยลดแรงกดดันในการตัดสินใจ และการตัดสินใจบนฐานขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็จะทำให้การบริหารจัดการในประเด็นมหาสมุทรมีความยั่งยืนมากขึ้น

การสังเกตการณ์และการเฝ้าระวังทะเล การเสริมสร้างองค์ความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ และการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเรื่องทะเลในระดับโลก จะนำไปสู่การปิดช่องโหว่เรื่องสมุทรศาสตร์ พร้อมสนับสนุนให้มีการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก (Small Island Developing States: SIDS) ซึ่งเป็นชุมชนที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ชัดเจน รวมไปถึงประเทศด้อยพัฒนา (Least Developed Countries: LDCs)

นอกจากนี้ องค์ความรู้ด้านทะเลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ยังก่อให้เกิดประโยชน์อีกมากมายนานัปการ อาทิ จะนำไปสู่การมีระบบข้อมูล เช่น สิ่งมีชีวิตในทะเล พลวัตของระบบนิเวศทางทะเล กระแสน้ำและคลื่นในมหาสมุทร แผ่นเปลือกโลก ธรณีวิทยาของพื้นทะเล การไหลทะลักของสารเคมีสู่ท้องทะเล เรื่องทางกายภาพของท้องทะเล การจัดการชุมชนชายฝั่ง การดำเนินการทางธุรกิจอย่างอุตสาหกรรมการเดินเรือประมง การสนับสนุนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) การจัดการภัยพิบัติและอื่น ๆ ไปจนกระทั่งการยกระดับเทคโนโลยีทางทะเล ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว จะเกิดผลดีต่อโลก ประชากร ความมั่งคั่ง ความมั่นคง และความร่วมมือ

แหล่งอ้างอิง: https://oceandecade.com/

#SDGWatch #IHPP #SDG14

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version