ถิรพร สิงห์ลอ
“เมือง” เป็นหน้าด่านสำคัญที่เผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งที่มีต่อสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายทางสังคม ระบบสุขภาพ ระบบการศึกษา และการให้บริการสาธารณะ รวมถึงเป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หรือย้ายถิ่นเข้ามาจากหลายสาเหตุปัจจัยเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกที่อาศัยอยู่ในเมือง 55% และคาดว่าจะมีจำนวนมากขึ้นที่ 68% หรือประมาณ 6.5 พันล้านคน ภายในปี 2050 ทั้งนี้ เมืองยังคงมีประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกับความเป็นเมือง ยกตัวอย่างเช่น การที่กลุ่มผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน (migrants) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำหรับหลาย ๆ เมือง ยังคงไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ หรือต้องอยู่ในพื้นที่สลัม หรือประเด็นการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในเมือง ซึ่งทั่วโลกมีอย่างน้อยประมาณ 1.6 พันล้านคน อาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะคนไร้บ้านหากราคาที่อยู่อาศัยมีราคาสูงขึ้น
สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เผยแพร่รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2564 (Global Risks Report 2021) กล่าวถึงความเสี่ยงที่มีต่อเมืองและความเป็นอยู่ของผู้อยู่อาศัย ซึ่งมีทั้งประเด็นความล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องความเป็นปึกแผ่นของสังคมที่อาจจะอยู่ในภาวะสั่นคลอน และประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล
ปี 2563 สถานการณ์ที่โลกร้อนขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ คุณภาพอากาศย่ำแย่ มีคลื่นความร้อนที่รุนแรง และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเมือง โดยคาดการณ์ว่าภายในไม่อีกกี่ทศวรรษข้างหน้า ประชากร 1 พันล้านคนอาจอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิร้อนจัด มีเมืองประมาณ 200 เมืองที่สุ่มเสี่ยงต่อการขาดน้ำ ความมั่นคงทางน้ำและอาหารได้รับผลกระทบอย่างสาหัส ประชากรโลกอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องเลือกว่าจะอยู่หรือจะย้ายถิ่น ประมาณ 50-300 ล้านคนอาจมีการย้ายถิ่นฐานขนานใหญ่ด้วยเหตุปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (massive climate migration) อย่างภาวะน้ำทะเลท่วมชายฝั่ง ภาวะแห้งแล้งยาวนาน รวมถึงมลพิษที่ร้ายแรงมากขึ้น
ขณะที่ โควิด-19 ได้เข้ามาตอกย้ำความเสี่ยงที่มีต่อเมือง โดยเผยให้เห็นความเปราะบางของเมืองและปัญหาความเหลื่อมล้ำในเมืองที่หยั่งรากลึก บางเมืองสามารถฟื้นหรือปรับตัวได้เร็ว สังเกตได้จากการปรับตัวของภาคส่วนต่าง ๆ มาทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่บางเมืองอาจไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์และเครื่องมือสำหรับการทำงานระยะไกลได้ กลุ่มประชากรที่เปราะบางและมีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากการว่างงานและอาจเลือกเข้ามาทำงานในเมืองเพื่อแสวงหาโอกาสมากขึ้น หรือบางกลุ่มประชากรอาจเลือกย้ายจากเมืองไปที่เมืองอื่นหรือกลับไปพื้นที่ชนบท เป็นความท้าทายต่อศักยภาพของเมืองรวมถึงความสัมพันธ์และความเป็นปึกแผ่น (social cohesion) ระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นแต่เดิมกับผู้ที่มาใหม่ นอกจากนี้ โควิด-19 ยังกระทบต่อแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญด้วย กล่าวคือ การให้บริการด้านสุขภาพ การอุดหนุนที่อยู่อาศัย การให้การศึกษาฟรี รวมถึงการเปลี่ยนโฉมหน้าของเมืองไปสู่เศรษฐกิจที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (carbon-neutral economy) อาจต้องพักโครงการหรือจำเป็นต้องยกเลิกไปก่อน
รายงานฉบับนี้ ได้ชี้ว่า เมืองแต่ละเมืองมีวิธีการจัดการกับสภาพปัญหาที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ดี ควรให้ความสำคัญกับ “การเติบโต นวัตกรรม ความเป็นปึกแผ่นในสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยนอกจากต้องพัฒนาเมืองให้สามารถรองรับความหนาแน่นของคนและจัดการกับประเด็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่รวดเร็วและครอบคลุมทุกคนแล้ว ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาพื้นที่เมืองให้มีความยั่งยืน จะต้องคำนึงถึงการวางแผนการพัฒนาที่รอบคอบ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (mitigation and adaptation) ไปจนถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน (ซึ่งสำหรับบางเมืองมีการนำไปบรรจุในแผนการพัฒนา แผนการฟื้นฟู และแผนการลงทุนแล้ว) ตลอดจนคงไว้ซึ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่จำเป็น
อ่านรายงานฉบับเต็มที่:
http://www3.weforum.org/docs/WEF_The_Global_Risks_Report_2021.pdf
แหล่งอ้างอิง:
#SDGWatch #ihpp #SDG11
Last Updated on พฤศจิกายน 8, 2021