เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ
เมื่อพูดถึงประเด็นการฉีดวัคซีน เรานึกถึงการเข้าถึงวัคซีนสำหรับคนสัญชาตินั้นเท่านั้น ทว่าประเด็นผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยมีความสำคัญไม่แพ้กัน ด้วยเหตุที่มักเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบและตกหล่นไปจากการป้องกันโรคด้วยวัคซีนตามมาตรการสาธารณสุข (under-immunized population groups) อย่างการที่ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัยในฝากฝั่งทวีปยุโรปมักเผชิญกับอุปสรรคทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการศึกษา ในการเข้าถึงบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคใด ๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในประเทศเจ้าบ้าน การศึกษาระบาดวิทยาแบบ Seroprevalence แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีวัคซีนสำหรับโรคที่ป้องกันได้แต่ก็ยังมีจำนวนภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าปกติอยู่ บ่งชี้ว่ามีการให้วัคซีนที่ยังไม่ครอบคลุมมากนักในกลุ่มประชากรดังกล่าวเมื่อเทียบกับประชากรเจ้าบ้าน นั่นทำให้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรค กลุ่มประชากรนี้กลายเป็นกลุ่มที่เปราะบางมากขึ้น และอาจเป็นบ่อเกิดในการฟื้นตัวของโรคดังกล่าวอีกครั้ง
องค์การอนามัยโลก (WHO) ทำการศึกษาและเสนอว่า จำเป็นต้องมีนวัตกรรมทางนโยบาย/มาตรการการฉีดวัคซีนแห่งชาติมาใช้แก้ไขปัญหาเหล่านี้ หากสามารถควบคุมโรคได้ประมาณหนึ่งแล้วควรมีการให้วัคซีนกับคนกลุ่มนี้โดยเร็วที่สุด หรือ การมีคลินิกฉีดวัคซีนเคลื่อนที่บริการ คลินิกดูแลสุขภาพแบบรวมหลายบริการสาธารณสุข รวมถึงการพิจารณารณรงค์ฉีดวัคซีนจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างของการมี/ไม่มีภูมิคุ้มกัน โดยต้องคำนึงว่าเป็นการให้วัคซีนโดยไม่เกี่ยงสภาพความเป็นอยู่หรือกลุ่มคนที่เข้าถึงยากมากขนาดไหน
การดำเนินการด้านสาธารณสุขในประเด็นนี้มีความละเอียดอ่อนในเรื่องของการประสานงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้องระหว่างประเทศต้นทางและประเทศปลายทางซึ่งเป็นประเทศเจ้าบ้าน เนื่องจากเมื่อเดินทางมาถึงชายแดนแล้ว อาจได้รับบริการด้านสาธารณสุขเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในประเทศเจ้าบ้าน แม้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะสามารถชี้ความเสี่ยงด้านสุขภาพได้ แต่การจะระบุได้ว่าบุคคลนั้นควรได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่ ต้องอาศัยกระบวนการประเมินประวัติการฉีดวัคซีนและการดำเนินงานของประเทศเจ้าบ้านเอง และต้องมีการติดตามด้วยว่ากลุ่มประชากรนี้มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนจำนวนกี่โดส อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มประเทศภูมิภาคยุโรปเองก็ไม่ได้มีมาตรการที่เฉพาะเจาะจงไปที่กลุ่มนี้ รวมถึงว่ายังมีประเด็นเรื่องของการมี/ไม่มีเอกสารประวัติการฉีดวัคซีน มีข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน สม่ำเสมอ ครอบคลุมและเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนกันข้ามพรมแดนและตามเส้นทางของการอพยพหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการประเมินความต้องการทางสาธารณสุขและการเฝ้าระวังโรค ถึงกระนั้น ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มประชากรนี้ไม่มีสิทธิได้รับวัคซีน ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาอีกทางคือ การมีเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงทะเบียนการฉีดวัคซีนแห่งชาติ ตลอดจนการแบ่งปันข้อมูลตามเส้นทางอพยพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการติดตาม ตรวจสอบ และวางแผนการฉีดวัคซีนสำหรับผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัย
ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนเรื่องสิทธิการเข้าถึงวัคซีนสำหรับกลุ่มประชากรนี้ คือ การมีเจ้าหน้าที่ที่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ไกล่เกลี่ยทางวัฒนธรรมและล่าม ซึ่งเป็นตัวกลางเชื่อมโยงการส่งมอบบริการด้านสาธารณสุขที่ “ครอบคลุมทุกคน” บ่งชี้ว่าความสามารถเรื่องวัฒนธรรมและภาษาเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาสนับสนุนให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ รวมถึงการตระหนักถึงสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มประชากรดังกล่าว เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างเท่าเทียมกัน
มาตรการเพิ่มเติมอื่น ๆ ที่สำคัญทั้งสำหรับประชากรสัญชาติเจ้าบ้านและผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานและผู้ลี้ภัย อาทิ การพัฒนาขีดความสามารถของระบบสุขภาพและผู้ให้บริการสุขภาพขั้นต้น (primary health-care providers) การมี/ขยายระบบข้อมูลการฉีดวัคซีนเพื่อติดตามดูความครอบคลุมของการฉีดวัคซีน การสร้างหลักประกันว่าโครงการสร้างภูมิคุ้มกันระดับชาติสามารถรองรับและปรับตัวกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมหรือสุขภาพได้หรือไม่ ตลอดจนการจัดลำดับความสำคัญผู้ที่ควรได้รับวัคซีน ระบุตัวแรงงานข้ามชาติที่มีรายได้น้อย ผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่ผิดปกติ (หรือที่เข้ามาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย) หรือบุคคลที่ไม่สามารถดำเนินการตามมาตรการรักษาระยะห่างได้ อาทิ กลุ่มผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหรือสถานที่ที่คล้ายคลึงกัน
แหล่งอ้างอิง:
#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3 #SDG10 #SDG17