WHO เผยแพร่กรอบแนวทางผลักดันให้สังคมได้บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีตลอดกระบวนการซื้อถึงการขาย โดยแนะนำให้รัฐบาลนำไปปรับใช้ตั้งแต่ระดับนโยบาย

เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่กรอบแนวทางการพัฒนาและดำเนินการตามนโยบายการจัดหาอาหารและการบริการสาธารณะ (Action Framework for Developing and Implementing Public Food Procurement and Service Policies for a Healthy Diet) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 เพื่อให้รัฐบาลและผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับระบบอาหารนำไปปรับใช้ภายในประเทศ

เนื่องจากปัจจุบันการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อาทิ การบริโภคโซเดียมและเกลือ น้ำตาล ไขมัน และไขมันทรานส์ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชากรจำนวนมาก ดังนั้น การมีกรอบแนวทางทั้งส่วนที่พูดถึงการจัดหาอาหาร การบริการสาธารณะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับงบประมาณด้านอาหาร รวมไปถึงหลักเกณฑ์ด้านโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดี ถือเป็นสิ่งจำเป็นโดยมุ่งหวังให้อาหารและเครื่องดื่มที่มีการซื้อขายและรับประทานกันในท้องตลาด อาทิ ในโรงเรียน โรงพยาบาล สถานดูแลเด็ก โรงอาหาร เครื่องขายอาหาร เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สามารถรักษาชีวิตคนได้โดยการป้องกันไม่ให้เกิดโรคและการเสียชีวิตจากการบริโภคอาหารจำพวกที่ไม่ดีต่อสุขภาพดังกล่าวในระดับที่สูงเกินไป จึงต้องมีการจำกัดปริมาณการบริโภค ตรวจสอบคุณภาพเกลือว่าเป็นเกลือไอโอดีน และกำจัดไขมันทรานส์จากการผลิตทางอุตสาหกรรม รวมไปถึงคำแนะนำว่าควรมีน้ำดื่มที่สะอาดและฟรี บริโภคธัญพืชและผักผลไม้ให้เพียงพอ และอื่น ๆ ทั้งนี้ การบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพจะเป็นการป้องกันภาวะทุพโภชนาการ การตายก่อนวัยอันควร โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศเป็นผู้ปรับรายละเอียดของเกณฑ์โภชนาการให้เหมาะสมกับบริบทประเทศตน

โดยรัฐมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเกณฑ์โภชนาการของนโยบายการจัดหาอาหารและบริการสาธารณะเพื่อการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพให้ครอบคลุมทั้งกระบวนการซื้อ การจัดให้มี (provision) การแจกจ่าย การเตรียมการ การให้บริการ และการขาย เพื่อพัฒนาสุขภาพของประชาชนผู้บริโภค นอกจากนี้ ประโยชน์อีกประการคือเป็นการเพิ่มศักยภาพการผลิตของผู้ผลิตท้องถิ่น ช่วยให้ระบบอาหารท้องถิ่นเข้มแข็ง ผู้บริโภคมีอำนาจในการซื้อและมีความรู้ด้านอาหาร และส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมทางสุขภาพ (Health equity) ในกลุ่มประชากร

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับประเด็นอาหารและสุขภาพ โดยบราซิลและเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่เริ่มลงมือดำเนินการ บราซิลต้องการดำเนินการโดยคำนึงถึงงบประมาณสำหรับประเด็นนี้ และการผลิตเมนูอาหารหนึ่งจานที่มาจากอาหารในท้องถิ่นซึ่งเป็นอาหารตามฤดูกาล ตอบโจทย์ความยั่งยืนของพื้นที่และระบบเกษตรกรรมการผลิตที่หลากหลาย (Agricultural diversification) ขณะที่ เกาหลีใต้จัดให้มีโซนอาหารสุขภาพ (Green Food Zones) ในระยะ 200 เมตรจากบริเวณโรงเรียน ซึ่งจะไม่มีการขายอาหารที่มีแคลอรี่ น้ำตาล หรือ ไขมั่นอิ่มตัว (saturated fats) มากกว่าที่กำหนดต่อคน

ประเด็นของการแก้ปัญหาด้านภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งรวมถึงโรคต่าง ๆ ตามที่กล่าวมานั้นเป็นสิ่งที่รัฐให้ความสำคัญอยู่แล้ว ดังนั้น WHO ได้แนะนำกรอบแนวทางนี้เพิ่มเติมเพื่อเป็นการช่วยตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 2 เพื่อลดภาวะทุพโภชนาการ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและชีวิตที่ดี และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

แหล่งอ้างอิง:

https://www.who.int/news/item/12-01-2021-who-urges-governments-to-promote-healthy-food-in-public-facilities

อ่านเพิ่มเติม: https://www.who.int/publications/i/item/9789240018341

#SDGWatch #HealthandWellbeing  #SDG3  

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น