เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2564
ถิรพร สิงห์ลอ
ปัจจุบันเริ่มมีการนำส่งและจ่ายแจกวัคซีนโควิด-19 แล้ว ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จของการสร้างภูมิคุ้มกันโรคประการหนึ่งคือการมีห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) และระบบโลจิสติกส์ตลอดกระบวนการตั้งแต่ต้นทางการผลิตถึงปลายทางของการนำส่งที่ปลอดภัยและนำไปใช้งานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จของการผลิตวัคซีนโควิด-19 อย่างแท้จริง เป็นประเด็นสุขภาพตามเป้าหมาย SDG ที่ 3 ความร่วมมือระหว่างประเทศตามเป้าหมายที่ 17 การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการกระจายวัคซีนซึ่งเกี่ยวกับการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้ทุกคนเข้าถึงการสนับสนุนและบริการได้อย่างเท่าเทียม ตรงตามเป้าหมายที่ 9
องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ซึ่งกำกับดูแลกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ เผยแพร่คำแนะนำ “การพัฒนาและการนำส่งวัคซีนโควิด-19 ไปทั่วโลก” (Developing and delivering COVID-19 vaccines around the world) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 พร้อม 7 ขั้นตอนและ Checklist ประกอบการพัฒนาและการตัดสินใจของรัฐบาล ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและการนำวัคซีนโควิด-19 ไปใช้งานให้สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันการณ์
ข้อมูลตามรายงานเล่มนี้มี 3 ส่วน โดยส่วนแรก (a) กล่าวถึงภูมิหลังของสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นการบริการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care) ที่นานาประเทศยกเป็นความสำคัญเร่งด่วนอันดับแรก ส่วนที่สอง (b) เสนอภาพรวมห่วงโซ่อุปทานของการพัฒนาและการนำส่งวัคซีนทั้ง 7 ขั้นตอน (Vaccine value chain) รวมถึงหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน ทั้งนี้ ประเด็นหลักที่สำคัญคือ ส่วนที่สาม (c) ซึ่งเป็นการกล่าวถึง Checklist ของแต่ละขั้นตอน เป็นเครื่องมือในการทำงานและแนะนำผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าควรจะ “พิจารณา” ประเด็นใดบ้าง โดยสรุปมี ดังนี้
1
การพัฒนาให้มีวัคซีน (Vaccine development) – มีนโยบาย/กฎหมายที่ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและตัวอย่างทางวิทยาศาสตร์ข้ามพรมแดนอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ รวมถึงอำนวยให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการวิจัยและการพัฒนาตามห่วงโซ่อุปทานหรือไม่ มีข้อมูล/องค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ เข้าถึงได้อย่างไร มีกลไกใดที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
2
การอนุญาตให้สามารถผลิตภายในประเทศ (Domestic approval – manufacture) – มีกฎหมายที่สามารถอนุญาตให้ผลิตได้หรือไม่ สามารถอนุญาตให้ผลิตวัคซีนและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในกรณีฉุกเฉินได้หรือไม่ เป็นต้น
3
การผลิตวัคซีน (Vaccine manufacture) – จะทำให้การเข้าถึงวัตถุดิบหรือส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อการผลิตวัคซีนเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนที่ถูกลงได้อย่างไร เมื่อใดที่การควบคุมการส่งออก การนำเข้า และโอนถ่าย เป็นการขัดขวางปัจจัยนำเข้า (inputs) รัฐบาลสามารถอำนวยการถ่ายโอนเทคโนโลยีและความสามารถในการผลิตในระดับท้องถิ่นได้อย่างไร รัฐบาลสนับสนุนบริษัทต่าง ๆ ที่ประสงค์จะมีข้อตกลงเรื่องใบอนุญาตการผลิตได้อย่างไร เป็นต้น
4
การอนุญาตให้สามารถนำเข้าวัคซีน (Domestic approval – importer) – สามารถใช้ข้อมูลของหน่วยงานกำกับดูแลต่างประเทศ (foreign regulators) เพื่อเร่งกระบวนการอนุญาตนำเข้าวัคซีน (ที่ผ่านการอนุมัติมาแล้ว) ได้หรือไม่ หน่วยงาน/องค์กรใดเป็นผู้ตัดสินใจทำการจัดซื้อและจะมีการประสานงานกันอย่างไร มีหลักประกันสร้างความโปร่งใสในกระบวนการนี้หรือไม่ เป็นต้น
5
การแจกจ่ายวัคซีนระหว่างประเทศ (International distribution) – ประเทศทางผ่านจะช่วยให้เกิดการขนส่งวัคซีนได้อย่างรวดเร็วได้อย่างไร มาตรการใดที่รัฐบาลสามารถอำนวยให้มีการแจกจ่ายได้อย่างทันเวลา/คำนึงถึงการควบคุมอุณหภูมิวัคซีน (cold chain) อาทิ ความสามารถในการรองรับปริมาณสินค้า (cargo capacity) ของสายการบิน และบริการโลจิสติกส์อื่น เป็นต้น
6
พิธีการศุลกากรและประเด็นการจัดการชายแดน (Border clearance) – ขั้นตอนใดที่จำเป็นในการสื่อสารระหว่างหน่วยงานทางชายแดนและหน่วยงานด้านสุขภาพเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างทันท่วงที มาตรการใดที่จำเป็นในการ “เคลียร์” วัคซีนที่ได้รับการอนุญาตนำเข้า การจัดการบริเวณชายแดนต้องคำนึงถึงการควบคุมอุณหภูมิวัคซีน เป็นต้น
7
การแจกจ่ายวัคซีนภายในประเทศและการสอดส่องดูแล (Domestic distribution and surveillance) – มาตรการใดที่ยืนยันว่าสามารถควบคุมอุณหูมิวัคซีนให้เหมาะสมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานจนถึงการนำส่ง (แม้มีระยะทางไกล) มาตรการใดบ้างที่ทำให้เร็วขึ้นหรือรักษาอุณหูมิได้ มาตรการใดสามารถป้องกันการนำวัคซีนไปผลิตอย่างผิด ๆ และต่ำกว่ามาตรฐาน ตลอดจนมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างไรกับวัคซีนปลอม เป็นต้น
อ่านรายงานฉบับเต็มที่:
ดู checklist และ infographic 7 ขั้นตอน:
#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3 #SDG9 #SDG17