Site icon SDG Move

ใครควรฉีดหรือไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 “Moderna mRNA-1273” และเราต้องรู้อะไรบ้าง ? WHO มีคำแนะนำ

ถิรพร สิงห์ลอ

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันโรค (Strategic Advisory Group of Experts on Immunization) ภายใต้องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยแพร่ “คำแนะนำชั่วคราวสำหรับการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 Moderna mRNA-1273″ (Interim recommendations for use of the Moderna mRNA-1273 vaccine against COVID-19) โดยคำแนะนำมีเนื้อหาที่พูดถึงกลุ่มประชากรใดหรือลักษณะใดที่ควรได้รับการฉีดวัคซีน กลุ่มประชากรใดที่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน (หรืออย่างน้อยควรรอฟังผลการศึกษาและงานวิจัยทางการแพทย์อีกครั้งว่าควรหรือไม่) ใครควรได้รับก่อน ซึ่งอยู่บนฐานที่ว่าปัจจุบันยังมีวัคซีนที่จำกัด ทำให้อาจต้องพิจารณาเลือกจัดอันดับกลุ่มความสำคัญก่อน รวมไปถึงคำแนะนำเรื่องปริมาณโดสที่ควรต้องฉีด ระยะเวลาในการฉีด ตลอดจนตอบคำถามประเด็นความมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ซึ่งรวมถึงการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ด้วย

ใครควรฉีดวัคซีนก่อน ? – ในระยะแรกที่วัคซีนมีจำกัด บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นด่านหน้าที่เผชิญกับความเสี่ยงกับการติดเชื้อ และผู้สูงอายุควรเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนก่อน แต่เมื่อมีจำนวนวัคซีนเพิ่มมากขึ้น กลุ่มอื่น ๆ (ที่จัดลำดับความสำคัญไว้) ก็จะได้รับการฉีด รวมถึงต้องประเมินดูกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงจะติดเชื้อ กลุ่มผู้เปราะบาง หรือกลุ่มที่เผชิญกับความไม่เสมอภาคด้านสุขภาพ

แล้วคนกลุ่มไหนอีกที่ควรได้ฉีดวัคซีน ? – วัคซีนมีความปลอดภัยที่จะฉีดให้กับกลุ่มที่มีปัญหาด้านสุขภาพที่เป็นที่ทราบดีว่าเป็นโรคสุ่มเสี่ยงอันตราย อย่างโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหืด โรคที่เกี่ยวกับปอด ไต และตับ หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ขณะที่บางกลุ่มสามารถฉีดได้แต่ต้องได้รับการปรึกษาและมีข้อมูลเพียงพอเพื่อยืนยันอีกครั้งว่าสามารถจะฉีดได้แน่นอน อาทิ คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ผู้หญิงที่ต้องให้นมบุตร (โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์)

ส่วนบางกลุ่มนั้นก็ยังไม่ควรฉีดวัคซีน – อาทิ หญิงตั้งครรภ์ (เป็นเพียงคำแนะนำ แต่ก็มีข้อถกเถียงที่ว่า ตัววัคซีนไม่ได้ไปเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมในร่างกาย ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นผลเสียกับหญิงตั้งครรภ์ ในกรณีนี้จึงควรรอดูข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติมอีกครั้ง) กลุ่มที่เคยมีประวัติอาการแพ้ส่วนประกอบในวัคซีนก็ไม่ควรจะฉีดวัควีนตัวนี้รวมถึงตัวอื่น ๆ ที่เป็นวัคซีนประเภท mRNA เช่นเดียวกัน รวมไปถึงเด็กที่ต่ำกว่า 18 ปี (ยังคงต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันอีกครั้ง) และผู้สูงอายุที่มีสุขภาพค่อนข้างอ่อนแอและอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึง 3 เดือน ซึ่งจะต้องประเมินเป็นรายกรณีไป

ทั้งนี้ WHO อธิบายว่า ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการฉีดวัคซีนสำหรับทุกคน แต่เป็นเพียงการจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัด ณ เวลานี้ในเบื้องต้นในลักษณะการจัดการทางระบาดวิทยา รวมถึงรอการเพิ่มปริมาณวัคซีน รอดูผลลัพธ์ ยังคงต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในเชิงการแพทย์ และคำแนะนำนี้ก็เป็นในเชิงสุขภาพเท่านั้น

นอกจากนี้ คำแนะนำกล่าวว่า ควรมีการฉีดวัคซีนชนิดนี้รวมสองโดส โดสละ 0.5 ml ห่างกัน 28 วัน หรืออาจจะขยายถึง 42 วัน และควรจะฉีดให้ครบและตรงตามกำหนด ทว่าด้วยความที่วัคซีนชนิดนี้ แม้จะอยู่ในช่วงการตรวจสอบของ European Medical Agency (EMA) และเข้าเกณฑ์การพิจารณาของ SAGE แต่ก็ยังไม่ได้รับการอนุญาตจาก WHO ดังนั้น จึงแนะนำว่าหากมีการฉีดแล้ว ควรรออย่างน้อย 15 นาทีเพื่อดูปฏิกิริยา หากมีอาการแพ้รุนแรงให้ฉีดเพียงแค่หนึ่งโดสนั้น การที่จะประเมินความปลอดภัยในระยะยาวจากการฉีดวัคซีนนี้ยังคงต้องอาศัยการติดตามอาการของผู้ที่เข้าร่วมการทดลองฉีดวัคซีน การศึกษา และสำรวจดูอาการหรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม วัคซีน Moderna mRNA-1273 ถือว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ที่ประมาณ 92% โดยปัจจุบันยังไม่พบว่ามีประเด็นปัญหาด้านประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ (the new variants of SARS-CoV-2, including the B.1.1.7 and the 501Y.V2) ทั้งนี้ ก็จะมีการสำรวจและเก็บข้อมูลในเรื่องนี้ต่อไป

อย่างไรก็ดี WHO เผยว่า การเลือกที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำชั่วคราวนี้หรือไม่ เป็นดุลยพินิจของรัฐบาลแต่ละประเทศ และควรจะพิจารณาคำนึงถึงวิธีการที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของตนอย่างไรให้ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

แหล่งอ้างอิง:

https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-moderna-covid-19-mrna-1273-vaccine-what-you-need-to-know

เป้าหมายที่ 3 เป้าประสงค์ที่ 3.8

“บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาไจด้”

#SDGWatch #HealthandWellbeing #SDG3

Author

  • Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

Exit mobile version