ถิรพร สิงห์ลอ
ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอยู่บ้านกับ “ผู้ทำร้าย” (abusers) และมีรายงานชี้ว่าอัตราความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นทั่วทั้งโลก โดยมีจำนวนน้อยที่แจ้งความและขอรับความช่วยเหลือจากทางตำรวจอย่างเป็นทางการ และมีเพียงน้อยนิดที่จะดำเนินคดีทางอาญา
ในแง่หนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจและการยุติธรรมก็มีความตึงเครียดสูงขึ้นเช่นกัน เพราะต้องให้ความสำคัญอันดับแรกกับการบังคับใช้กฎหมายตามกฎการรักษาระยะห่างและการกักตัว ทุ่มทรัพยากรไปกับการสาธารณสุข (public health) รวมทั้งสถานที่ราชการของกิจการยุติธรรมต้องปิดทำการชั่วคราว ทำให้กระบวนการรับฟัง การพิจารณาคดี ฯลฯ ต้องเลื่อนออกไป ซึ่งยิ่งทำให้มีความท้าทายที่จะสร้างหลักประกันว่าผู้หญิงและเด็กจะสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งในปีที่ผ่านมา เลขาธิการ UN ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลต่าง ๆ ยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่สงครามและ “บ้าน” โดยมีประเทศ 65 ประเทศที่กำชับให้การตอบสนองของตำรวจและกระบวนการทางศาลรับประกันว่าผู้หญิงและเด็กจะสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้
ในปี 2564 นี้ องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drug and Crime และเครือข่ายตำรวจหญิงนานาชาติ International Association of Women Police: UNODC) และ International Association of Women Police: IAWP) จึงได้ออกคู่มือกิจการตำรวจที่ตอบสนองต่อบทบาททางเพศสำหรับผู้หญิงและเด็ก (Handbook on Gender-Responsive Police Services for Women and Girl Subject to Violence) ซึ่งเป็นคู่มือเพื่อการปกป้องเหยื่อและปรับปรุงการเข้าถึงการยุติธรรมสำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่เผชิญกับความรุนแรง โดยมีเนื้อหาที่เป็นแนวทางและคำแนะนำฉันเพื่อนสำหรับตำรวจและการยุติธรรม ในแง่มุมที่คำนึงถึงประเด็นทางเพศซึ่งมีความละเอียดอ่อน ต้องอาศัยความเข้าใจและปฏิบัติต่อเหยื่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่เผชิญกับเหตุความรุนแรงด้วยความเคารพ ทั้งนี้ คู่มือนี้สามารถนำไปใช้ประกอบการอบรมการบังคับใช้กฎหมายหรือเสริมพลังขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ส่วนหน้าของแต่ละประเทศที่ต้องให้ความช่วยเหลือกับเหยื่อโดยทันที และพร้อมสำหรับนำไปใช้ปฏิบัติในเคสดังกล่าวได้เลย
โดยคู่มือมีคำแนะนำเชิงลึก อาทิ การตอบสนองของตำรวจในช่วงวิกฤติ การสอบสวนบนฐานของประเด็นที่เกี่ยวกับเพศ (gender-responsive police investigations) การป้องกันความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก และเน้นวิธีการที่มี ”ผู้รอดชีวิต” เป็นศูนย์กลาง (survivor-centered approach) สนับสนุนให้เกิด “ความเป็นชายในเชิงบวก” (positive masculinities ซึ่งตรงกันข้ามกับ toxic masculinities ที่ค่านิยมความเป็นชายเน้นความแข็งแกร่งทางร่างกาย เป็นนักสู้/ผู้ล่าที่มากเกิน positive คือให้นำความแข็งแกร่งนั้นมาใช้ในทางบวก) รวมไปถึงประเด็นใหม่ ๆ อาทิ ความรุนแรงและการหาผลประโยชน์ทางออนไลน์
ความท้าทายคือการสร้างความมั่นใจให้กับผู้รอดชีวิตว่าจะได้รับการปฏิบัติด้วยความเข้าใจ และผู้ที่ทำร้ายจะได้รับบทลงโทษอย่างจริงจัง ทันทีที่ผู้รอดชีวิตได้ขอความช่วยเหลือ ซึ่งในเบื้องต้นนี้จะมีการนำคู่มือไปเริ่มใช้ในประเทศนำร่องเพื่อวัดความก้าวหน้าและผลกระทบ สร้างความเชื่อมั่นระหว่างตำรวจและชุมชนท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการอื่น ๆ กับตำรวจ (ชั้นระดับกลาง)
การชี้ประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กถือเป็นประเด็นหลักของ “Generation Equality Forum และ Action Coalition on Gender-based Violence” พื้นที่ให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้หารือแลกเปลี่ยนประเด็นทางเพศ นอกจากนี้ ยังเกียวข้องกับ SDGs เป้าหมายที่ 16 (สถาบัน กฎหมาย การลดความรุนแรง) และเป้าหมายที่ 5 (ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบและการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง)
ดู Generation Equality Forum ที่:
https://forum.generationequality.org/
อ่านคู่มือฉบับเต็มที่:
แหล่งอ้างอิง:
#SDGWatch #ihpp #SDG5 #SDG16
Last Updated on มกราคม 12, 2022