พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงได้ทุกสิ่ง: “Ethical-clothing.com” แพลตฟอร์มฝั่งยุโรปเชื่อมผู้ผลิตให้ผู้บริโภคได้สนับสนุนเสื้อผ้าที่มี “ความยั่งยืน”

ถิรพร สิงห์ลอ

“ก่อนที่คุณจะซื้ออะไรก็ตามแต่ เราอยากให้คุณหยุด และถามตัวเองก่อนว่า – ฉันจำเป็นต้องมีสิ่งนี้ใช่ไหม”

เป็นเวลามากกว่า 20 ปีที่วงการแฟชั่นและเสื้อผ้าประเภท “Fast Fashion” เติบโตขึ้น โดยมีปริมาณเสื้อผ้าที่ผลิตเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าในแต่ละวันและหลายต่อหลายแบรนด์ไหลเข้าสู่ตลาดอย่างมหาศาล ซึ่งผู้บริโภคต่างก็จับจ่ายใช้สอย เปลี่ยนใหม่และโยนทิ้งกัน “อย่างรวดเร็ว” กว่าที่เคยเป็นมา รวมถึงเลือกซื้อเสื้อผ้าบนฐานของ “ราคา” มากกว่าที่จะเล็งเห็นว่าเสื้อผ้าเหล่านั้น มีความยั่งยืนกับตัวเราและโลกหรือไม่

ยิ่งผู้บริโภคถูกกระตุ้นเร้าจากความรู้สึกกระหายที่จะต้องซื้อและบริโภค (aggressive consumerism) ยิ่งทำให้ฝากฝั่งผู้ผลิตเร่งสูบทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงแรงงานมนุษย์เพื่อการผลิตสินค้า โดยที่ผู้บริโภคไม่อาจทราบหรือทันตระหนักเลยว่าความสำคัญโดยพื้นฐานที่สุดของการผลิตคือแหล่งที่มาของวัตถุดิบ กระบวนการการผลิตและการจัดการของเสีย/ทำลายทิ้ง รวมไปถึงว่าการผลิตหรือการย้อมผ้าครั้งหนึ่ง (ลองนึกเป็นภาพทั่วโลก) จะต้องมีการใช้น้ำไปมากเท่าไร การผลิตเส้นใยคอตตอนจะต้องใช้ยาฆ่าแมลงไปมากเท่าไร ทั้งยังมีประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นตัวการของภาวะโลกร้อน หรือไมโครพลาสติก/ไมโครไฟเบอร์ที่ถูกชะล้างไหลลงสู่ทะเล รวมไปถึงว่าสถานที่ แรงงาน และทรัพยากรเบื้องหลังของเสื้อผ้าชิ้นหนึ่ง ต้องเป็นผู้จ่ายราคา สูญเสียหรือเสียประโยชน์ให้กับผู้บริโภคที่มีความต้องการที่ล้นเกินอย่างไร

ทีมผู้พัฒนาเว็บไซต์ Ethnical-clothing.com ซึ่งก่อตั้งโดย Ben Heinkel ผู้ประกอบการยุคใหม่ที่เน้นการสนับสนุนแบรนด์เสื้อผ้าออแกนิคและสตาร์ทอัพเทคโนโลยีในวงการแฟชั่น ร่วมกับ Jack Hesketh นักวิจัยและนักเขียนที่ให้ความสนใจกับอุตสากรรมแฟชั่นและสิ่งทอ มองว่าท่ามกลางสถานการณ์เสื้อผ้าที่ไม่มีความยั่งยืนเช่นนี้ ยังคงมีแบรนด์เสื้อผ้าที่ผลิตโดยคำนึงถึงความยั่งยืนอยู่ กล่าวคือ ไม่เพียงแต่สื่อสาร “การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เท่านั้น แต่เป็นการผลิตที่คำนึงถึงความโปร่งใสของระบบห่วงโซ่อุปทาน คุณภาพและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ทั้งนี้ ทีมผู้พัฒนามีความมุ่งมั่นที่จะสื่อสารว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เริ่มจากตัวผู้บริโภคนั้นไม่ยาก ทว่าควรจะมีเครื่องมีที่เป็น “ตัวกลาง” ให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เพื่อตัวเราและเพื่อหยุดยั้งผลกระทบเชิงลบที่อาจมีต่อโลก

ความท้าทายจึงอยู่ที่จะทำให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจประเด็นนี้ สามารถ “หา” แบรนด์เหล่านั้นเจอได้อย่างไร จึงเกิดเป็นเว็บไซต์ ethical-branding.com ขึ้น เสมือนเป็น Search Engine แหล่งรวบรวมแบรนด์ที่ใส่ใจโลกครบจบในที่เดียว ให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุนเสื้อผ้าสินค้าที่มีจริยธรรม โดยเบื้องต้น ทีมผู้พัฒนาจะเน้นให้สามารถค้นหาร้านค้าปลีกในยุโรปได้ และอาจมีการขยายข้อมูลให้ครอบคลุมร้านค้าปลีกทั่วโลกได้ต่อไป รวมถึงจะพัฒนากลไกอัลกอริทึ่มที่สามารถจัดอันดับและให้คะแนนคุณภาพสินค้าที่มีจริยธรรมและความยั่งยืนเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคด้วย

สุดท้าย การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ก็สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคเอง การตระหนักและตรึกตรองทุกครั้งที่ตัดสินใจเลือกซื้อเสื้อผ้า ก็เป็นการร่วมกันส่งสัญญาณบังคับให้วงการเสื้อผ้าปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตที่ต้องคำนึงถึงประเด็นจริยธรรมและความยั่งยืน

แหล่งอ้างอิง:

https://www.ethical-clothing.com/

#SDGWatch #ihpp #SDG6 #SDG12 #SDG13 #SDG14 #SDG15

Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021

Author

  • Thiraphon Singlor

    Editor | อยากรู้ความคิดของคนต่างพื้นเพ ต่างสังคมและวัฒนธรรม สนใจความเป็นไปของโลก ความมั่นคง และการพัฒนา แล้วนำมาถ่ายทอดร้อยเรียงเรื่องราวเล่าให้ฟัง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น