ถิรพร สิงห์ลอ
สิงคโปร์เป็นประเทศหนึ่งที่ใส่ใจประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นอย่างมาก ด้วยบริบทของประเทศที่มีข้อจำกัด อาทิ ข้อจำกัดทางกายภาพของภูมิประเทศ การที่ไม่มีผืนแผ่นดินใหญ่ (hinterland) การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ และมีพลังงานทางเลือกที่จำกัด ทำให้ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างภูมิคุ้มกัน ความยืดหยุ่นทนทาน (resilience) และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและพลังงานย่อมมีผลกระทบต่อสิงคโปร์อย่างมีนัยสำคัญ อาทิ แหล่งอาหาร และความร้อนในชุมชนเมืองซึ่งเป็นเกาะ ทำให้สิงคโปร์เน้นการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อนำมาช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเน้นระบบเศรษฐกิจให้คงไว้ซึ่งขีดความสามารถและศักยภาพการผลิตของประเทศ พร้อมกับการมีวิสัยทัศน์ ป่าในเมือง “city in nature” เพื่อปกป้องระบบนิเวศและพื้นที่สีเขียว
Grace Fu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม (Ministry of Sustainability and the Environment) ของสิงคโปร์ เผยถึงแผนระดับชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อม (Green Plan 2030) ในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา เป็นความร่วมมือผลักดันระหว่างภาครัฐและภาคการเมืองให้เป็นนโยบายหลักและเร่งด่วนอันดับแรกของรัฐบาล โดยแผนดังกล่าวมีการกำหนดเป้าหมายและเป้าประสงค์ (targets) สานต่อจากความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนแต่เดิม เพิ่มเติมประเด็นสำคัญที่สนับสนุนความยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมไปถึงการเน้นย้ำการมีพื้นที่และกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนทั้ง “3P” (People, Public, Private) ในลักษณะ “Whole-of-nation-movement” ให้แผน กลายเป็นความจริงที่เป็นรูปธรรมด้วย “Bold-Balanced-Collective Action” แน่วแน่ที่จะทำ พิจารณา “trade-offs” ทำแล้วไม่ย้อนแย้งกัน ทำแล้วลดผลกระทบด้านลบ และเป็นการกระทำร่วม เพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืนด้วยกัน
รายละเอียดของแผนฯ ในเบื้องต้น เป็นความตั้งใจที่จะทบทวนราคาคาร์บอนภายในปี 2030 หรือตั้งอัตราภาษีคาร์บอนภายในปี 2030 ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (climate mitigation strategy) ที่สอดคล้องกับบริบทของสิงคโปร์ มีราคาที่เป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อส่งสัญญาณ สร้างแรงจูงใจให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พยายามรักษาและหาแหล่งพลังงานทางเลือกที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ พร้อมกับสนับสนุนให้ภาคเอกชนมี “การเงินสีเขียว” (Green financing) ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ให้เป็นศูนย์กลางการบริการและการค้าคาร์บอน (carbon trading and services hub) และสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมด้านพลังงานและสารเคมี (Energy & Chemicals (E&C) เป็นผู้ผลิตสินค้าที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมหรือปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยหวังว่าสิงคโปร์จะมีบทบาทนำในด้านพลังงานและคาร์บอนที่จะช่วยให้โลกสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำได้ พร้อมกันนี้ รัฐบาลจะผลักดัน “Super Low Energy Buildings” เพื่อให้ตึกอาคารและบ้านเรือนมีความยั่งยืนมากขึ้นด้วยการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (green technology) ที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ ไปจนถึงการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี รายละเอียดของแผนฉบับนี้จะมีการเปิดเผยเพิ่มเติมภายในสัปดาห์ต่อ ๆ ไป เช่นเดียวกับที่จะมีการเปิดเผยงบประมาณประจำปี 2564 ของสิงคโปร์ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้
แหล่งที่มา:
#SDGWatch #ihpp #SDG7 #SDG13 #SDG15
Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021