53 ประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ลงนามในข้อตกลงที่จะไม่กำหนดข้อห้ามหรือข้อจำกัดการส่งออกสินค้าอาหารที่ซื้อเพื่อวัตถุประสงค์ด้านมนุษยธรรมและไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นข้อเสนอโดยโครงการอาหารโลก (World Food Programme: WFP)
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 หลายประเทศเริ่มจำกัดการส่งออกอาหารเนื่องจากความไม่แน่นอนในหลายๆ ด้าน จึงก่อให้เกิดข้อกังวลว่าผู้บริโภคยากจนในประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหาร จะต้องเผชิญความยากลำบากในการเข้าถึงอาหาร ในการประชุมองค์การการค้าโลกอย่างไม่เป็นทางการเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2020 ที่ผ่าน ทางเจ้าหน้าที่โครงการอาหารโลกแจ้งว่าองค์กรกำลังประสบปัญหาในการจัดหาความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมภายใต้สภาพแวดล้อมทางนโยบายใหม่เช่นนี้ หลังจากนั้น ประเทศสิงคโปร์จึงได้ยื่นข้อเสนอให้ยกเว้นการจำกัดการส่งออกอาหารเพื่อประโยชน์ด้านมนุษยธรรม ต่อการประชุมคณะมนตรีใหญ่องค์การการค้าโลก เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2020
เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2021 สมาชิกองค์การค้าโลก 53 ประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมถึงความตระหนักถึง “การสนับสนุนด้านมนุษยธรรมที่สำคัญ” ซึ่งเสนอโดยโครงการอาหารโลก สมาชิกฯ ย้ำว่าการระบาดของ COVID-19 และวิกฤตอื่นๆ ทำให้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรมนี้เป็นเรื่อง “เร่งด่วนยิ่งขึ้น” และลงนามในข้อตกลงที่จะไม่กำหนดข้อห้ามหรือข้อจำกัดการส่งออกสินค้าอาหารที่ซื้อเพื่อวัตถุประสงค์ด้านมนุษยธรรมและไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นข้อเสนอโดยโครงการอาหารโลก
การกำหนดกฎเกณฑ์ทางการค้านี้เป็นไปในแนวทางที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 2 – No Hunger
อ่านข้อตกลง และรายชื่อ 53 ประเทศที่ลงนาม ได้ที่นี่
อ้างอิง https://sdg.iisd.org/news/53-wto-members-commit-to-ease-restrictions-on-humanitarian-food-aid/
Last Updated on กุมภาพันธ์ 12, 2021